บทนำ
การ ต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของขบวนการประชาชนในประเทศไทยเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลง ไปทุกยุคทุกสมัยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ช่วงเวลาในอดีตที่การต่อสู้ก่อตัวเป็นขบวนการและมีความเข้มแข็งมากที่สุดยุค หนึ่ง อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2517 –2519 นำโดย “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ความเข้มข้นของประเด็นปัญหาในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ที่การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าเช่านาที่ไม่เป็นธรรม การปฏิรูปที่ดินให้คนจน การประกันราคาข้าวและการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับชาวนา
อาจกล่าวได้เกือบ 40 ปี ที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาของชาวนาโดยภาพรวม ทั้งเรื่องที่ดิน หนี้สินและราคาพืชผลยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินกลับกลายเป็นปัญหาวิกฤตและส่งผลกระทบกับ ชาวนาในวงกว้างปัจจุบัน การดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ที่เร่งให้การค้าและการลงทุนขยายตัวภายในประเทศอย่างไม่จำกัด ระบบการค้า เกษตรแผนใหม่และทุนนิยมได้รุกคืบเข้าสู่ชนบทและทำให้พื้นที่ชนบทเปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว ชาวนาชาวไร่จำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินทำกินและอพยพโยกย้ายเข้าสู่เมือง ที่ดินจำนวนมหาศาลกระจุกตัวอยู่ในมือของนักเก็งกำไรที่ดิน นายทุนและนักการเมือง
ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 130 ล้านไร่ ที่ดินเหล่านี้มากพอสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนในประเทศ และเพียงพอสำหรับการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อยเกือบ 30 ล้านคน[1]ทั่ว ประเทศ น่าเสียดายที่สังคมไทยอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก มูลนิธิสถาบันที่ดินประมาณการว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศ เกือบหกสิบล้านมีที่ดินถือครองโดยเฉลี่ยไม่เกินคนละ 1 ไร่ คนเหล่านี้คือคนยากจน คนหาเช้ากินค่ำ และคนชั้นกลางในสังคมไทย ในขณะที่คนกลุ่มเล็กอีกจำนวนหนึ่ง ประมาณ 6 ล้านคน หรือประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของประชากร มีที่ดินถือครอง มากกว่า 100 ไร่ ขึ้นไป
ไม่ แตกต่างอะไรจากตัวเลขในงานศึกษาของ ศูนย์บริการวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงการกระจุกตัวของที่ดินในเมืองหลวงไว้ว่า ในปี 2551 มีผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร 2,036 ไร่ ขณะที่มีผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุด 0.1 ตารางวา สัดส่วนการถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกต่อ 50 อันดับสุดท้ายมีค่าสูงถึง 129,717 เท่า หมายความว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินมากที่สุด ได้ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินน้อยที่สุดในกรุงเทพมหานครถึง 129,717 เท่า
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศในสังคมไทย กลายเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่ เฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเลยมีสูงถึงสิบแปดเปอร์เซ็นต์ หรือประมาณห้าล้านคน ความ เหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินเหล่านี้ คือปัญหาสำคัญที่ทำให้คนจนจำนวนมาก ที่อยู่ในสภาพแร้นแค้นและยากจน ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกินของตนเองและลูกหลาน แม้จะต้องผ่านอุปสรรคและความยากลำบาก จากการต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในสังคม การถูกดำเนินคดีความทั้งอาญาและแพ่ง ในข้อหาบุกรุกพื้นที่รัฐและที่เอกชนในบางพื้นที่รวมความไปถึงการถูกคุกคาม ชีวิตและทรัพย์สิน
เอกสาร ชิ้นนี้จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ดินทำกิน ภาพขบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย แนวทางการทำงานเคลื่อนไหวและยุทธศาสตร์ของเครือข่ายในการเสริมความเข้มแข็ง ขบวนคนจน การสร้างการยอมรับในสังคมวงกว้าง และการผลักดันเพื่อให้ฝ่ายการเมืองแก้ไขปัญหาที่ดินในระดับนโยบาย
การกระจุกตัวของที่ดินในสังคมไทย ยังไร้หนทางแก้ไข
ปัญหา การกระจุกตัวของที่ดิน ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบปี และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ตามสภาพเศรษฐกิจของสังคมไทยที่ดำเนินไปในวิถีทุนนิยมเสรี อันมีกลไกในการขับเคลื่อนหลัก คือภาครัฐและภาคทุน
แม้ จะมีการนำเสนอข้อมล ผลการวิจัยที่เชื่อถือได้จากมูลนิธิสถาบันที่ดินว่า การกระจุกตัวของที่ดินในสังคมไทย ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นมูลค่าไม่ต่ำ 127.4 ล้าน บาท เนื่องจากที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตที่แท้จริง ส่งผลเสียทางด้านสังคม ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไร้ที่ดินทำกิน กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม กระนั่นก็ตามการแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินก็ไม่สามารถแก้ไขได้
มี เหตุปัจจัยหลายประการที่ทำให้การแก้ไขปัญหาที่ดินกระจุกตัวไม่สามารถเกิด ขึ้นได้ แต่ในจำนวนเหตุปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผล ทิศทางการจัดการทรัพยากรที่ดินในสังคมไทยส่งผลมากที่สุด
เนื่องด้วยประเทศไทยบริหารประเทศในทิศทางเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) มุ่งเน้นการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการเติบโตของตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งเร่งสร้างการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าการบริหารประเทศให้มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องจะทำให้ ประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่อย่างมั่งคั่ง มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง
ด้วย เหตุนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ป่าไม้ พลังงาน หรือแรงงาน ที่ผ่านมาจึงถูกบริหารจัดการไปในทิศทางที่มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ดินในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากร ถูกมองว่าสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ มูลค่าการซื้อขายที่ดินในสังคมไทย ในรอบปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสูงถึงหลายแสนล้านบาท การเก็งกำไรที่ดินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2530 เป็นตันมา ด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าของการซื้อขายที่ดิน
การ เก็งกำไรและการเปลี่ยนมือซื้อขายที่ดินได้ทำให้ที่ดิน ซึ่งเดิมเคยมีหน้าที่ตามธรรมชาติ เป็นทรัพยากรของสังคม เพื่อใช้ผลิตอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรท้องถิ่น ปัจจุบันจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นสินค้า หรือเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ที่สร้างความร่ำรวยให้กับนายทุน ด้วยการกักตุน และเก็งกำไร
การ ปล่อยให้ที่ดิน ถูกซื้อขายโดยกลไกตลาดเสรี เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่ปล่อยให้ตลาดทำงานโดยธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงของสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม และขัดต่อหลักของความเป็นธรรม ซึ่งที่ดินควรถูกนำมากระจายให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกิดการผลิตที่แท้จริง สร้างอาหาร หล่อเลี้ยงมนุษยชาติ และเป็นแหล่งสร้างรายได้สำหรับคนท้องถิ่น และคนไร้ที่ดินที่มีอยู่มากมายในสังคมไทย
ทัศนะ มุมมองของภาคทุน ที่มองที่ดินเป็นเพียงสินค้า จึงเป็นทัศนะมุมมองที่แปลกแยกที่ดินออกจากหน้าที่ตามความเป็นธรรมและความ เป็นจริง แนวคิดเช่นนี้ จึงต้องถูกตรวจสอบจากสังคม ภาคประชาชน และขบวนคนจน ที่ยังคงเห็นความสำคัญของที่ดินในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิต และทรัพย์สินของสังคม
เกษตรสมัยใหม่ชี้นำสังคมไทย เศรษฐกิจเกษตรกรรายย่อยล่มสลาย
นอก เหนือจากแนวคิดการมองที่ดินเป็นสินค้า ทิศทางหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดภาวะที่ดินกระจุกตัว คือการที่ภาครัฐ และภาคทุนนำแนวคิดทฤษฎีการผลิตแบบตะวันตก การทำการผลิตในลักษณะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) ที่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจากบริษัท ใช้เครื่องจักรกล สารเคมีทางการเกษตรอย่างเข้มข้น และใช้เงินลงทุนทำการผลิตที่สูง มาส่งเสริมให้กับเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศไทย การส่งเสริมให้กับเกษตรกรทำการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีเข้มข้น กลายเป็นกระแสหลักของสังคมเกษตรในประเทศไทยมาแล้วกว่าห้าทศวรรษ โดยมีกลไกหลักที่ผลักดัน คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันการเงินของภาครัฐ คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
ผล ที่เกิดขึ้นในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา คือ เกษตรกรไทยถูกลากจูงเข้าไปสู่ระบบการผลิตและระบบการตลาดขนาดใหญ่ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบการผลิตของทุนขนาดใหญ่ ที่ควบคุมและบริหารจัดการ โดยบริษัทและนายทุนส่งออกเป็นสำคัญ
ผล จากการที่เกษตรกรรายย่อยไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม ไม่มีอำนาจการตัดสินใจ หรือตรวจสอบ ถ่วงดุลโครงสร้างการผลิตและการตลาดขนาดใหญ่ที่เป็นอยู่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ทำการผลิตเพื่อส่งขายแต่เพียงประการเดียว มีความสัมพันธ์กับ พ่อค้ารับซื้อผลผลิต และนายทุนส่งออก ในลักษณะที่ตกเป็นเบี้ยล่าง เปรียบเสมือนลูกจ้างรับทำการผลิต โดยมีบริษัทขนาดใหญ่และพ่อค้าเป็นผู้กำหนดค่าจ้างแรงงาน ซึ่งก็คือราคาผลผลิต โดยที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการตลาดใน สินค้าเกษตรของตนเองได้ กลายเป็นความเคยชินที่ต้องยอมทำการผลิต เพื่อให้มีงานทำแม้จะต้องอยู่ในสภาพขาดทุน ประสบปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ
การ ขายทอดที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของครอบครัว จึงเป็นภาวะจำยอม ที่เกษตรกรทั่วประเทศต้องทำ ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เกษตรกรในภาคกลาง ยิ่งทำการผลิตจำนวนรอบถี่มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งติดพันในภาวะหนี้สินมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สภาพการณ์การถือครองที่ดินในภาคกลาง จึงเป็นสภาพที่เกษตรกรจำนวนเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ต้องเข่าที่ดินเพื่อทำการผลิต และอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์ยังคงรักษาที่ดินของตนเองไว้ด้วยสภาพที่ไม่มั่นคง
เมื่อ โครงสร้างการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ไม่ได้เอื้อให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ที่มั่นคง แต่ต้องอยู่ในภาวะแบกรับปัญหาหนี้สินที่ยาวนาน การกว้านซื้อที่ดินจากคนภายนอกจึงเป็นไปได้ง่าย ปัญหาที่ดินกระจุกตัวไปสู่มือบริษัทและนายทุนขนาดใหญ่ จึงเกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี โดยที่ภาครัฐไม่ได้ยื่นมือเข้ามาแทรกแซงหรือให้การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย เพื่อความเป็นธรรมแต่ประการใด
รัฐขาดเจตนารมณ์ทางการเมือง นโยบายและกฎหมายจึงไร้ทิศทางและขาดประสิทธิภาพ
ที่ ผ่านมาเครื่องมือทางนโยบาย กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทย เป็นไปในแนวทางที่ไร้ประสิทธิภาพ เห็นได้จากประมวลกฎหมายที่ดินปี 2498 ที่มีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐในการเวนคืนที่ดินเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และปล่อยให้ทิ้งร้างเกิน 10 ปี ให้สามารถนำมากระจายให้เกิดประโยชน์ได้ หรือกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปี 2518 ที่มีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐ ในการซื้อหรือเวนคืนที่ดินเอกชน เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรไร้ที่ดินได้
อย่าง ไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผล กรอบนโยบายทางเศรษฐกิจที่ให้สิทธิเด็ดขาดกับกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน หรือกรอบนโยบายทางสังคมที่ไม่ชัดเจนในการนำที่ดินทิ้งร้างมากระจายให้คนจน การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีผลในทางปฏิบัติ และไม่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายการถือครองที่ดิน หรือแก้ไขปัญหาที่ดินกระจุกตัวได้
ที่ มากไปกว่านั้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายในการจัดการที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ในแนวทางที่เอื้อผลประโยขน์ให้กับฝ่ายทุน ในขณะที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง และกฎหมายที่เข้มงวดกับกลุ่มคนจน รวมไปถึงการฟ้องร้องคดีความกับประชาขน และกลุ่มคนจนในพื้นที่ จนเกิดเป็นคดีความจำนวนมากในปัจจุบัน
นโยบายที่ส่งผลกระทบให้เกิดความขัดแย้ง และกรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกินระหว่างภาครัฐและคนจนมีจำนวนมาก สรุปโดยย่อคือ
1)นโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ของ พื้นที่ประเทศ ส่งผลต่อการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ วนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศในการกำหนดเขต หากไม่ได้มีการตรวจสอบการถือครองที่ดินและทำประโยชน์ที่ดินของประชาชนใน พื้นที่ก่อน ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนที่ทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการประกาศเขต ป่า ตัวเลขจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่าปัจจุบันมีประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 180,000 คน ซึ่งในความเป็นจริง ตัวเลขอาจจะสูงกว่านี้ก็เป็นได้
2) นโยบาย การอนุรักษ์พื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบกำหนด แนวเขตให้ชัดเจน และสอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน
3) นโยบาย ส่งเสริมการทำสวนป่าในที่ดินของรัฐ เพื่อทำสวนป่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการทำลายสภาพป่าธรรมชาติ และมีความขัดแย้งระหว่างสิทธิในที่ดินของประชาชนที่ทำประโยชน์มาก่อนการทำ สวนป่า
4) นโยบาย หวงห้ามที่ราชพัสดุไว้ให้กับหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์โดยมีปัญหาการกำหนด แนวเขตทับซ้อนการทำประโยชน์ในที่ดินของประชาชน รวมทั้งการไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ หรือมีการให้เช่าทำประโยชน์แต่ในระยะสั้น
5) นโยบาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่กระตุ้นให้เกิดแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน พื้นที่ป่า พื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
6) นโยบาย การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างถนน โรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก โรงโม่หิน เขื่อน เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พัฒนาให้เป็นพื้นที่เมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และแหล่งพาณิชยกรรม
การ บังคับใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดินที่ไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่บังคับใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติอย่างเข้มงวดกับคนจนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก และนโยบายการใช้พื้นที่ของรัฐ ทั้งพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือแม้แต่ที่อุทยานแห่งชาติไปเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยที่ละเลยบทบาทหน้าที่แห่งรัฐ ที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร และคนยากจน ได้ชี้ให้เห็นถึงการขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้ กับคนจนของฝ่ายรัฐ
นี่ จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการก่อเกิดขบวนการภาคประชาชน ที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาด้านอื่นๆ ของประชาชน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญแล้วว่า มีแต่เพียงเกษตรกร คนจน และภาคประชาชนด้วยกันเองเท่านั้น ที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาของคนจน การก่อเกิดขบวนประชาชนจึงเริ่มต้นด้วยการรวมคน คนเล็กคนน้อยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและต้องการแก้ไขปัญหาตนเองจากภูมิภาคต่างๆ ก่อเกิดเป็นเครือข่ายภาคประชาชน
การก่อรูปของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
การ ก่อรูปชองเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นจากผู้เดือดร้อนในประเด็นที่ดินทำกินที่หลากหลายตั้งแต่ คนมีที่ทำกินไม่พอ คนไร้ที่ดิน คนไร้บ้าน คนไร้ที่อยู่อาศัย คนไร้สิทธิ และคนจนที่ถูกรุกรานสิทธิ คนเหล่านี้มาจากองค์กรประชาชน เครือข่าย และภูมิภาคที่แตกต่างกัน หลายองค์กรชุมชนมีประสบการณ์การต่อสู้มายาวนานก่อนการมารวมกันเป็นเครือข่าย
การเริ่มต้นของเครือข่ายฯ อย่างไม่เป็นทางการ เกิดขึ้นในช่วงปี 2545 ซึ่งเครือข่ายประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินในระดับภาค ต้องการเชื่อมโยงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกันในระหว่างภูมิภาค จึงเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาที่ดินร่วมกันของเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ ในปี 2545 และปี 2546
ใน ช่วงเวลาดังกล่าว เครือข่ายประชาชนที่ภาคเหนือถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก ในขณะที่เครือข่ายประชาชนที่ภาคใต้ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงหลายครั้ง การรวมตัวของเกษตรกรกลุ่มต่างๆ นอกเหนือจากการมุ่งเน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของแต่ละภูมิภาคแล้ว จึงมีการรณรงค์ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากภาครัฐ การตรวจสอบนโยบายที่ดินของภาครัฐและการนำเสนอกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในภูมิภาค ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างช่วงปี 2547-2549 แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวผลักดันนโยบายและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในระดับชาติร่วมกัน
จนกระทั่งปลายปี 2549 กลุ่ม เกษตรกรภูมิภาคต่างๆ ได้มีการสรุปแนวทางการทำงานเคลื่อนไหวร่วมกัน มีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการทำงานเพื่อให้เกิดการรับรองการปฏิรูปที่ดิน โดยประชาชน การกำหนดยุทธศาสตร์และจังหวะก้าวการทำงานร่วมกัน ในปี 2550 จึง ได้มีการจัดเวทีรณรงค์ มหกรรมชาวนาชาวไร่และคนไร้ที่ดิน ที่ลานคนเมือง ใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์และผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยประชาชนในรูปแบบโฉนด ชุมชนและธนาคารที่ดิน ให้สาธารณชนและพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับรู้
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลปลายปี 2551 สมาชิกเครือข่ายได้รวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อย้ำเตือนให้รัฐบาลนำนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินโดยรูปแบบโฉนดชุมขน และกองทุนธนาคารที่ดิน เข้าเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้บรรจุนโยบายดังกล่าว เข้าไว้ในนโยบายด้านเศรษฐกิจ ข้อ 4.2.1.8 ที่กล่าวว่รัฐจะ“คุ้ม ครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ใน ที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร”
อย่าง ไรก็ดี สามเดือนให้หลังจากการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ จะนำนโยบายโฉนดชุมชน และกองทุนธนาคารที่ดินมาปฏิบัติแต่ประการใด
ต้นมีนาคม 2552 เครือข่ายจึงได้เคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อทวงสัญญา นำเสนอข้อมูลความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินของสมาชิกเครือข่ายใน 27 จังหวัด และเร่งให้รัฐบาลนำนโยบายโฉนดชุมชน และกองทุนธนาคารที่ดินมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ส่งผลให้เกิดกลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินร่วมกันระหว่างเครือข่ายและรัฐบาล มีคณะกรรมการและอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายทั้งสิ้น 8 ชุด
ที่ สำคัญมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษามาตรการในการปฏิบัติตามนโบบายกระจายการ ถือครองที่ดิน ซึ่งนำมาสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เห็นขอบให้มีการดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชน ในพื้นที่นำร่องสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยและเครือข่าย ภาคประชาชนต่างๆ
ยุทธศาสตร์ที่เครือข่ายฯเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินในสังคมไทย
(1) ระบบกรรมสิทธิ์แบบใหม่ กรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน
ระบบ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ส่งผลสำคัญต่อปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน การที่ภาครัฐยอมรับสิทธิที่ดินเพียงสองรูปแบบ คือ ทีดินรัฐ และที่ดินเอกชน ทีเพิ่งถูกสถาปนาจากรัฐส่วนกลางเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา และละทิ้งระบบกรรมสิทธิ์ทีดินตามหลักจารึตประเพณี อันเป็นกฎหมายดั้งเดิมที่คนท้องถิ่นถือปฏิบัติในชุมชนต่างๆ มาแล้วหลายร้อยปี ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งในหลักการถือครองที่ดิน ในที่ดินที่คนท้องถิ่นยึดถือเป็นที่ดินของชุมชน ตามหลักการผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินคือผู้ถือสิทธิ์ กับที่ดินที่รัฐส่วนกลางสถาปนาให้เป็นที่ดินของรัฐ เหนืออาณาบริเวณที่ได้ขีดวงไว้ในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
ใน ที่ดินเอกชน ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนได้ทำให้เกิดการถ่ายเทเปลี่ยนมือที่ดิน โดยไร้การควบคุมและตรวจสอบจากฝ่ายใด ระบบกรรมสิทธ์ที่ดินเอกชน จึงกลายเป็นระบบกรรมสิทธิ์ที่ภาครัฐ หรือแม้แต่ชุมชน ก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่าย ควบคุม ตรวจสอบ การใช้ประโยชน์หรือการไม่ใช้ประโยชน์ใดๆ ของเจ้าของที่ดินได้ ปัญหาการกว้านซื้อที่ดิน และเปลี่ยนมือที่ดินที่ผ่านมา จึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่มีกลไกภาครัฐ หรือหน่วยงานทางด้านสังคมใดๆ ที่เข้ามารับผิดชอบดูแลแก้ไข
ชุมชน หลายแห่ง สมาชิกของ คปท.ได้ผ่านบทเรียนการเปลี่ยนมือขายที่ดินในระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน และเห็นความสำคัญของการสร้างระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบใหม่ ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนมือที่ดินโดยสมาชิกชุมชน เป็นระบบการถือครองที่ดินที่ชุมชนหรือองค์กรชุมชน เข้ามามีอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้ที่ดินของครอบครัวเกษตรกรสมาชิก ทั้งในแง่ของการห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินให้คนภายนอกชุมชน สิทธิที่ดินจะสามารถตกทอดถึงลุกหลาน แต่หากจะมีการซื้อขายที่ดิน ต้องขายคืนให้กับธนาคารที่ดินของชุมชน และต้องผ่านการเห็นขอบจากคณะกรรมการองค์กรชุมชน และในแง่ของการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์
ระบบ กรรมสิทธิ์ที่ดินเชิงซ้อนเช่นนี้ สามารถป้องกันการกว้านซื้อที่ดิน การกระจุกตัวของที่ดิน และป้องกันการเปลี่ยนมือที่ดินจากเกษตรกรท้องถิ่น ไปสู่นายทุนภายนอกได้ ที่ดินที่อยู่ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ ที่ชุมชนสถาปนาขึ้นใหม่นี้ จึงเป็นที่ดินที่อยู่ภายใต้สิทธิของชุมชน มิใช่สิทธิของรัฐ หรือสิทธิของเอกชนรายใดรายหนึ่ง ตามหลักประมวลกฎหมายที่ดินที่มีอยู่แต่อย่างใด หากถูกต้องตามหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ที่ระบุว่าชุมชนท้องถิ่นใดก็ตาม มีสิทธิที่จะดูแล รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้
ถือ ได้ว่า ระบบกรรมสิทธิ์แบบโฉนดชุมชน คือ พัฒนาการเรียนรู้อีกบทหนึ่งของชุมชน ที่ผ่านประสบการณ์การถูกกว้านซื้อที่ดิน และเล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นความรู้ดั้งเดิมของคนท้องถิ่น ที่เคยมีระบบกรรมสิทธ์ที่ดินตามจารีตประเพณี ซึ่งถือเอากรรมสิทธิ์รวมหมู่เป็นสำคัญ ชาวบ้านจะมีสิทธิเพียงการใช้ที่ดินในช่วงเวลาของการผลิตหนึ่งๆ เท่านั้น เมื่อหมดช่วงเวลาของการผลิต ที่ดินต้องกลับไปเป็นของชุมชนและถูกดูแลโดยชุมชนดังเดิม
โฉนด ชุมชน หรือระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งที่สำคัญที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย นำเสนอสู่สังคมเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตที่ดินถูกเปลี่ยนมือ และภาวะวิกฤตที่ดินกระจุกตัว ซึ่งกำลังถาโถมเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นทุกแห่งในประเทศไทย
(2) การสร้างรูปธรรมที่เห็นได้จริงในระดับพื้นที่ เงื่อนไขการใช้ทรัพยากรที่ควบคู่กับระบบกรรมสิทธิ์ชุมชน
ประสบการณ์ ของชุมชนที่ปรับตัวเรียนรู้และนำระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบโฉนดชุมชนเข้ามาใช้ โดยมีองค์กรชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ ได้นำมาสู่การพัฒนากฎเกณฑ์กติกา หรืออาจจะเรียกว่า นโยบายของชุมชน ที่ได้พัฒนาในลักษณะที่ก้าวหน้า และท้าทายต่อกรรมสิทธิ์ปัจเจกและการใช้ที่ดินในสังคมไทยหลายประการ
กฎ กติกา และเป้าหมายการทำงานของชุมชนเหล่านี้ ก้าวข้ามแนวคิดแบบทุนนิยม แต่มุ่งกระจายการถือครองที่ดินในกลุ่มให้เป็นธรรม และมุ่งช่วยเหลือแบ่งปันให้กับกลุ่มคนที่ยากไร้กว่า ดังกรณีตัวอย่างบางส่วน ดังต่อไปนี้
เป้าหมายองค์กรชุมชน
1.เพื่อพิทักษ์สิทธิเกษตรกร ปกป้องพื้นที่ชุมชน และสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของสมาชิกชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย
2.เพื่อฟื้นฟูและพัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมทั้งการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
3.เพื่อสร้างอธิปไตยทางอาหาร เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสามารถเลี้ยงชุมชนและสังคม
4.เพื่อร่วมกำหนดนโยบาย, แผนพัฒนา โครงการและกฎหมายต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
5.ร่วมพัฒนาองค์กรภาคประชาชนให้สามารถกำหนดอนาคตตนเอง
การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรในชุมชน
1.สมาชิกทุกคนต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรในพื้นที่โฉนดชุมชนอย่างจริงจัง ห้ามปล่อยทิ้งร้าง
2.การเปลี่ยนมือที่ดินทำได้สองวิธีเท่านั้น คือ 1.ยกให้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน 2.ขายสิทธิ์คืนสู่กลุ่ม แต่ทั้งนี้ ต้องนำเรื่องเข้าปรึกษาคณะกรรมการที่ดินของชุมชน
3.องค์กร ชุมชนจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพยากรทั้งหมด ทั้งที่ดินที่ปัจเจกบุคคล และทรัพยากรที่สมาชิกชุมชนใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ได้แก่ สายน้ำ ป่าบริเวณสายน้ำ ป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์ และเส้นทาง
การผลิตทางการเกษตรของชุมชน
1.ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อรักษาระบบนิเวศ
การจัดสรรผลประโยชน์ และความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎกติกา
1.ที่ดิน ในแปลงโฉนดชุมชนที่ถูกขาย (ให้คนในชุมชน) จะถูกหักส่วนแบ่งรายได้เข้ากองกลางตามอัตราที่กำหนดร่วมกัน เพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมต่างๆในการจัดการที่ดินของกลุ่ม
2.ผลผลิตจากนารวม จะแบ่งส่วนเท่า ๆ กันตามจำนวนสมาชิกบวกอีกหนึ่งส่วนสำหรับกันไว้เป็นส่วนกลาง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.