วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้มีคำสั่งยื่นฟ้องแพ่ง นายเดียมและนางเคล้า อยู่ทองสองสามีภรรยา ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านไร่เหนือ ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ด้วยจำนวนเงินที่มากถึง 545,366.62 บาท ในข้อหาที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหายหรือทำให้โลกร้อนขึ้น !!!!!!!"
หาก นายเดียม และนางเคล้า อยู่ทอง สองสามีภรรยา เป็นบริษัททุนขนาดใหญ่ที่ผลิตอุตสาหกรรมแบบไร้ความรับผิดชอบ หรือ บุกรุกแผ้วถางป่าเป็นร้อยล้านไร่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนจนส่งผลกระทบกับ ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติสาธารณะการฟ้องร้องของหน่วยงานรัฐในครั้งนี้ คงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
แต่ในทางกลับกันสองสามีภรรยาคู่นี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจพันล้าน ไม่ได้เป็นเจ้าของโรง งานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่เป็นชาวบ้านซึ่งมีที่ดินทำกินเพียง 14 ไร่ ที่ครอบครองก่อนที่รัฐจะประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ จนส่งผลมาสู่การจับกุมสองสามีภรรยาพร้อมทั้งสั่งปรับด้วยจำนวนเงินกว่าครึ่งล้านทั้งๆที่ทำกินในที่ดินของตนเอง
นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวจากทั้งหมด 6 เรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยเพื่อสะท้อนถึงการดำเนินนโยบายเรื่องที่ดินที่ผิดพลาดของรัฐในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง "สิทธิชุมชนกับคำพิพากษาคดีที่ดินป่าไม้" ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคีเครือข่ายอีกจำนวนมาก
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งมีทั้งตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินจากการดำเนินการของรัฐ นักวิชาการ ทนายความ ผู้พิพากษา และอัยการได้มีการแลกเปลี่ยนและร่วมกันหาทางออกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหลายฝ่ายเห็นร่วมกันว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในการดำเนินการเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านคือตัวบท กฎหมายและ "กระบวนการในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกระบวนการยุติธรรมกับชาวบ้าน"
สอดคล้องกับการปาฐกถาในหัวข้อ "คดีความที่ดินป่าไม้กับวิกฤติเกษตรกรรายย่อย" ของ ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ อดีตกรรมการปฏิรูป ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ระบบในการไต่สวนคดีที่ดินของเจ้าหน้าที่รัฐต่อเกษตรรายย่อย มีปัญหาเพราะ เน้นในเรื่องระบบการกล่าวหามากกว่าระบบไต่สวน
"เวลาที่ชาวบ้านหลายคนโดนจับในคดีที่ดินนั้นกระบวนการยุติธรรมของเรานั้นมีปัญหาในเรื่องการเท่าเทียมกันในเรื่องของโจทก์และจำเลย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยถือว่าโจทก์และจำเลยนั้นเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่มีทางที่ชาวบ้านตัวเล็กๆ จะเท่าเทียมกับอำนาจรัฐหรืออำนาจทุนได้ ชาวบ้านหลายคนไม่มีทุนทรัพย์ในการไปต่อสู้ต้องกู้หนี้ยืมสินไปช่วยเหลือตัวเองสร้างความทุกข์ยากให้กับชาวบ้าน เรื่องนี้เป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบแก้ไข
ส่วนระบบในการไต่สวนคดีนั้นก็มีปัญหาอย่างชัดเจนเพราะหลายคดีที่น่าจะใช้ระบบไต่สวน แต่กระบวนการยุติธรรมของไทยกลับไปใช้ระบบกล่าวหา ทั้งที่ในความเป็นจริงระบบไต่สวนนั้นจะทำให้การสืบสวนสอบสวนเกิดความยุติธรรมและเที่ยงตรง ได้มากกว่าระบบกล่าวหาเพราะชาวบ้านเขาสามารถอธิบายถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะถูกจับดำเนินคดีได้ ซึ่งผู้พิพากษาสามารถใช้วิจารณญาณได้ว่า คดีลักษณะใดควรจะใช้ระบบใด แต่ที่ศาลไม่เปลี่ยนไปใช้ระบบไต่สวนก็เพราะคุ้นชินกับ กระบวนการเรียนและการอบรมที่เป็นระบบกล่าวหามาตลอด ตรงนี้ถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงจะทำให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น" อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าว
ขณะที่ผลการศึกษาเรื่อง "คำพิพากษาคดีที่ดินป่าไม้และผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน" ของนายสมนึก ต้มสุภาพ ทนายความด้านสิทธิชุมชนได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามีชาวบ้านอย่างน้อย 223 คน ที่กำลังจะถูกดำเนินคดีป่าไม้และที่ดิน ซึ่งผลการศึกษานี้ได้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาอย่างชัดเจนว่ากระบวนทรรศน์ และแนวความคิดของศาล ในการตัดสินคดีที่ดินของชาวบ้านก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กระบวนการในการไต่สวน
"ผมได้ศึกษาจากหลากหลายคดี ก็เห็นตัวอย่างอย่างชัดเจนว่าบางคดีศาลก็ให้คุณค่ากับวิถีชุมชนและบางคดีศาลเองก็ไม่ให้ความสำคัญกับคำว่าวิถีชุมชนเลยแม้แต่น้อย หลายคดีศาลเองสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิชุมชนมาประกอบได้ แต่อำนาจที่ระบุในเรื่องสิทธิชุมชนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทยก็ไม่เคยได้นำมาใช้เลยสักครั้ง
การพิจาณาคดีความของศาลมักพิจารณาโดยยึดหลักกฎหมายมาก่อน โดยดูว่าพื้นที่นั้นๆ มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร เช่น ป่าสงวน อุทยาน สวนป่า ที่เอกชน ฯลฯ แต่ไม่พิจารณาว่า การกำหนดให้ที่ดินมีสถานะเช่นนั้น เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด ศาลไม่ได้พิจาณาว่าก่อนที่จะมาเป็นพื้นที่ดังกล่าว สถานที่แห่งนี้ชุมชนได้มีอยู่และใช้ทำมาหากินมาก่อนหรือไม่"
ทนายความด้านสิทธิชุมชนกล่าว พร้อมทั้งแนะนำให้ศาลวินิจฉัยคดีโดยยึดหลักทางสังคม ศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา มากกว่ายึดตามพยานเอกสารเพียงอย่างเดียว
ผลการศึกษาของทนายความสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินผู้นี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องการปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ที่ระบุข้อเสนอและข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดิน และที่ทำกินของชาวบ้านว่าการออกโฉนดชุมชนและให้ชาวบ้านมีสิทธิทำกินและจัดการที่ดินทำกินของตนเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไข ปัญหา ข้อเรียกร้องบางส่วนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระบุอย่างชัดเจนว่า
"คณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องดำเนินการให้มีการผลักดันกฎ หมายรับรองสิทธิในการจัดการที่ดินของชุมชน รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินให้รับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินด้วย พร้อมทั้งให้มีการรับรองสถาน ภาพการเข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ของรัฐที่มีข้อพิพาทอยู่ในปัจจุบัน โดยจัดให้มีการออกโฉนดชุมชนโดยเร็ว ซึ่งกระบวนการในการออกโฉนดชุมชนจะต้องเป็นไปโดยมีกระบวนการที่โปร่งใส พร้อมทั้งให้หน่วยงานของรัฐยุติการขับไล่และการจับกุมชาวบ้านในระหว่างที่รอให้กระบวนการออกโฉนดชุมชนก่อเกิด"
นอกจากข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่นับวันรอให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในการเสวนาสาธารณะในครั้งนี้ ได้ข้อเสนอแนะต่อองค์กรยุติธรรมอย่างชัดเจนด้วยเช่นกันอาทิ การเสนอให้พัฒนาระบบการฟ้องคดีสาธารณะโดยให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้ รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับที่ดินป่าไม้ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และที่สำคัญควรมีศาลพิเศษ ด้านที่ดินป่าไม้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินป่าไม้ เพื่อให้การพิจารณาคดีมีมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ล้วนผ่านการกลั่นกรองจากความทุกข์ยากของประชาชนที่ต้องถูกดำเนินคดีอย่างไร้หนทางสู้ ที่เหลือก็ต้องรอความหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อสร้าง "ความยุติธรรมและเท่าเทียม" ให้เกิดขึ้นกับคนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง
สกู๊ปแนวหน้า วันที่ 26/6/54
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.