โดย นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
ประชาชนอ้าง “สิทธิชุมชน” เพื่อฟ้องคดีคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่... ใครรู้บ้าง ?
เรื่องสิทธิชุมชนที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญเองก็ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 67 ว่า บุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา
และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้ เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน
แต่เวลาจะอธิบายความกันให้ชัดๆ ว่า แล้วไอ้เจ้าสิทธิดังกล่าวของชุมชนเป็นอย่างไร ... แหม พูดยากเชียว
โชคดีว่า ... มีคดีอยู่ในศาลปกครอง ที่ศาลท่านได้มีคำวินิจฉัยเป็นครั้งแรกในการรับรองสิทธิดังกล่าวของชุมชนไว้ อย่างชัดเจน
เพราะฉะนั้น ลองมาฟังตัวอย่างคดีปกครองสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ต่อใบอนุญาตดูดทรายให้แก่ประชาชน และผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้ดูว่า... ศาลปกครองเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อย่างไร
และนับเป็นการวางหลักกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิของชุมชน ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อร่วมกับรัฐที่จะช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิ่งแวด ล้อม
เพราะเรื่องอย่างนี้ถ้าชุมชนคนที่เดือดร้อนกันอยู่แถวนั้น ยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ก็ไม่รู้ว่าใคร ท่านไหนจะมีสิทธิฟ้องกันได้อีก !!
เพราะฉะนั้น ที่ศาลท่านวางหลักกฎหมายไว้ดีๆ อย่างนี้ ก็ต้องนำมาเล่าสู่กันฟังหน่อย ดังความตามท้องเรื่องดังต่อไปนี้...
ต้นเรื่องของคดีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหตุก็เนื่องมาจากบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตเหล็กขนาดใหญ่ ได้ซื้อที่ดินรวม 52 แปลง เพื่อใช้เป็นโรงงานและก่อสร้างท่าเทียบเรือ
แต่ต่อมาที่ดินที่ว่า ดั๊นถูกอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิเพราะออกโดยผิดกฎหมาย
เหตุก็เพราะเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติจะออกเอกสารสิทธิให้กันไม่ได้นั่นเอง
ทีนี้บริษัทเจ้าของที่ดินเลยถึงกับร้อนอาสน์กันทีเดียว เพราะตัวก็ซื้อต่อที่ดินจากคนอื่นเขามาดีๆ กลับมาถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิกันอย่างนี้ กิจการก็เจ๊งกันพอดีหนะซี !!
ว่าแล้ว ... ก็เลยมายื่นฟ้องคดีที่ศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ ในที่ดินทั้ง 52 แปลง ของบริษัท
ระหว่างสู้คดีกันอยู่ในศาลปกครองชั้นต้น ปรากฏว่ามีชาวบ้านรวมตัวกันได้ 33 คน ขออนุญาตศาลเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันกับกรมที่ดินในการพิทักษ์รักษาที่ดินบริเวณดังกล่าว
โดยพี่ป้าน้าอาคณะนี้แกชี้แจงแถลงไขต่อศาลว่า พวกแกมีถิ่นฐานทำเลทำมาหากินอยู่ในเขตป่าชายเลนอันเป็นป่าคุ้มครองและป่า สงวนแห่งชาติที่บริษัทกับกรมที่ดินกำลังฟ้องคดีกันอยู่ที่ศาลนี่แหละ
มีทั้งที่ทำประมงพื้นบ้าน ทำสวนมะพร้าว ปลูกข้าว สับปะรด เลี้ยงปลาในกระชัง แถมยังได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำของคลองและป่าชายเลนบริเวณนี้อีก
ส่วนพวกที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างที่ว่า พี่ป้าน้าอาแกก็บอกว่าพวกนี้ก็ยังได้ประโยชน์โดยตรงจากทรัพยากรธรรมชาติและ ความหลากหลายทางชีวภาพ
ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นมีการรวมตัวกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณนี้กันมา อย่างต่อเนื่องยาวนาน อยู่กันมาอย่างสงบสุขภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีมาโดยตลอด ...
แต่ชักจะมาหมดความสุขเอาก็อีตอนที่มีการออกเอกสารสิทธิให้กับบริษัท เพื่อเอาไปทำเป็นโรงงานผลิตเหล็กและท่าเทียบเรือนี่แหละ
เพราะฉะนั้น ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ... การที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกให้กับบริษัทโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว
พวกข้าฯ ทั้ง 33 คน ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ซึ่งใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนแห่งนี้ จึงขอเข้ามาเป็นคู่ความ ในคดีนี้เพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าวของพวกข้าฯ ด้วยเถิด ...ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ศาลปกครองชั้นต้นพอได้รับคำร้องขออนุญาตร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ท่านก็เห็นว่าคดีนี้เขาทะเลาะกันเรื่องที่อธิบดีกรมที่ดินไปเพิกถอนเอกสาร สิทธิของบริษัทเขาเค้า คนที่เดือดร้อนก็คือบริษัท
ผู้ร้องทั้ง 33 คน เป็นแค่คนที่อยู่ในชุมชน หรืออยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกะเขาด้วย จึงไม่ใช่ ผู้เดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ ท่านจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้คณะพี่ป้าน้าอาทั้ง 33 คน เข้ามาเป็นคู่ความในคดี
ป้าน้าอาคณะนี้แกก็เลยขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยืนยันว่ายังไงๆ พวกแกก็เดือดร้อนแหงๆ ขอศาลปกครองสูงสุดท่านช่วยพิจารณาให้อีกทีเถอะ ...
เรื่องนี้มีประเด็นสำคัญตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ “สิทธิของชุมชนในการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่อศาลเพื่อร่วมกับ รัฐในการคุ้มครองประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน”
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดท่านได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้คือคำสั่งของอธิบดี กรมที่ดินที่ให้เพิกถอนและแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่หนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 52 แปลง ของผู้ฟ้องคดีทั้งแปด
โดยที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้มีปัญหาว่า เป็นที่ดินที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเนื่องจาก เป็นเขตป่าคุ้มครอง และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ซึ่งผู้ร้องสอดทั้งสามสิบสามคนมีภูมิลำเนา ประกอบอาชีพ และอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ตลอดจนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและได้ประโยชน์จากรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้ เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การออกเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ให้แก่ที่ดินจำนวน 52 แปลง ในบริเวณดังกล่าว จึงกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ร้องสอดทั้งสามสิบสามคน การร้องสอดของผู้ร้องทั้งสามสิบสามคนจึงเป็นการร้องสอดเพื่อให้ได้รับความ คุ้มครองสิทธิของผู้ร้องในการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งสามสิบสามคนไว้พิจารณา
เป็นอันว่าศาลปกครองสูงสุดท่านเห็นความสำคัญของ “สิทธิของชุมชน” ที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐในการคุ้มครองประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อันถือได้ว่าเป็นการวางหลักกฎหมายปกครองเกี่ยวกับการเป็น ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งทีเดียว. (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 453/2553 )
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.