รัฐบาลทหารไทยเริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economics Zones) ตามแนวชายแดน เพื่อดึงดูดแรงงานราคาถูกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยผ่อนปรนกฎระเบียบทางการค้าบางประการสำหรับภาคธุรกิจนั้น หากแต่มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ติดริมน้ำโขงอันเงียบสงบอย่างนครพนม กลับได้รับผลกระทบถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยของพวกเขา
ขณะนั้นเป็นช่วงต้นเดือนตุลาคม บริเวณริมปากแม่น้ำโขงอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดเล็กๆแห่งหนึ่งที่ชื่อ นครพนม เสียงเสียดสีกันอย่างครื้นเครงของลำต้นไผ่ดังกึกก้องไปทั่วสารทิศ ราวกับว่าพวกมันกำลังถูกเหล่าบรรดานกหัวขวานเข้ามาบุกรุก ณ บริเวณนั้นเอง ผู้คนนับร้อยกำลังปีนป่ายอยู่บนสิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่ทำจากลำไม้ไผ่จำนวนหลายหมื่นกระบอก บ้างสูงกว่าตึกสิบชั้น โดยมีภูเขาหินปูนทางฝั่งลาวยืนตระหง่านเป็นฉากหลัง พวกเขากำลังอยู่ในอารมณ์แห่งการเฉลิมฉลองเพื่อเตรียมรอคอย ‘ประเพณีไหลเรือไฟ’ เทศกาลประจำจังหวัดที่กำลังจะมาถึง แต่ละตำบลแข่งกันสร้างสิ่งประดิษฐ์จากไม้ไผ่ที่ตกแต่งด้วยโคมประทีปนี้ ไว้ประชันความงามเจิดจรัสยามลอยล่องอยู่กลางแม่น้ำโขงสำหรับคืนวันออกพรรษา อย่างไรก็ดี ในปีนี้ ห่างจากแม่น้ำออกไปไม่ไกลนัก บรรยากาศที่โดยทั่วไปแล้วมักครึกครื้น กลับถูกเมฆดำเข้าปกคลุม ทั้งนี้เพราะชาวบ้านนับร้อยคนต้องเผชิญกับคำสั่งไล่รื้อที่อยู่อาศัยที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ
คนงานยืนบนสิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่ทำจากไม้ไผ่อย่างเสี่ยงตาย เร่งทำงานเพื่อเตรียมต้อนรับประเพณีไหลเรือไฟ เทศกาลประจำจังหวัดที่ใกล้จะมาถึง
ในความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในภาวะซบเซาให้ดีขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ซึ่งมอบอำนาจเบ็ดเสร็จแก่รัฐบาลทหารในการรักษาความมั่นคงของชาติ ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 17/2558 เปลี่ยนพื้นที่ขนาดใหญ่ในจังหวัดตาก มุกดาหาร หนองคาย สระแก้ว และตราด ซึ่งอยู่ติดกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผ่อนปรนกฎระเบียบบางประการสำหรับภาคอุตสาหกรรมและลดหย่อนภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่
นอกจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องในห้าจังหวัดที่กล่าวมานี้ รัฐบาลยังมีแผนที่จะเวนคืนและเคลียร์ที่ดินในอีกห้าจังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส เพื่อเตรียมทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ก่อนถูกแปลงเปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ผลตอบแทนที่จะได้รับตามที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้ อาจไม่สามารถชดเชยความสูญเสียที่พวกเขาต้องเผชิญได้ หากท้ายที่สุดพวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะแผนการดังกล่าว
การข่มขู่ไล่ที่
ด้วยตั้งอยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครพนม และถูกแยกออกจากประเทศลาวโดยมีเพียงธารน้ำสีทองแดงขุ่นของแม่น้ำโขงคั่นกลางเอาไว้ จึงทำให้บ้านโคกภูกระแต และบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง ต้องกลายเป็นชุมชนที่ต้องรับศึกหนักจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านกว่า 400 ครอบครัวจะต้องถูกขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ภายใต้แผนพัฒนาดังกล่าว
อาศัยอยู่กับครอบครัวของพี่สาวและสมาชิกอีกห้าคนที่อาศัยอ ยู่บนที่ดินราวห้าไร่เดียวกัน ครอบครัวของกฤตยา หงษามนุษย์ กำลังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าครอบครัวของเธอ พี่สาว และเพื่อนบ้านจะต้องสูญเสียบ้านไปเมื่อใดดังที่แผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เร่งคืบเข้ามา ในความเป็นจริงแล้ว หลังรัฐประหาร ปี 2557 เพียงไม่นาน กฤตยาและชาวบ้านอีก 33 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้งที่พวกเขาเกือบทุกคนมีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.2 และ น.ส.3) และหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) สำหรับที่ดินที่มีเนื้อที่โดยเฉลี่ยน้อยกว่า 10 ไร่ ซึ่งพวกเขาและชาวบ้านอีก 5 - 15 ครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกัน
บ้านอันเรียบง่ายของครอบครัวหงษ์สมุทร มุงหลังคาด้วยสังกะสี และซุ้มขายก๋วยเตี๋ยวที่ถูกปิดกิจการลงยังตั้งอยู่ให้เห็นอยู่หน้าบ้าน
“ตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน พวกเราเข้ามาอยู่อาศัยที่นี่ตั้งแต่ปี 2536 แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเราอยู่บนผืนที่นี้มาอย่างน้อยสามชั่วคน” กฤตยาเล่าให้ฟัง ขณะเฝ้ามองหลานชายตัวน้อยของเธอนอนหลับอย่างไร้เดียงสาอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ในวันที่แดดร้อนระอุ “ถ้าพวกเราต้องถูกขับไล่ขึ้นมาจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าจะไปอยู่ไหน” เธอเล่าว่า วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวนมากมาที่บ้านของเธอและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเธอบุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ ก่อนจะพาไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมเพื่อทำการสอบสวน ไม่นานหลังจากที่เธอรู้ว่าเธออาจจะถูกขับไล่ออกจากที่ดิน กฤตยาตัดสินใจปิดซุ้มขายก๋วยเตี๋ยวเล็กๆหน้าบ้านที่เธอเปิดกับพี่สาว และประทังชีวิตด้วยเงินออมที่เหลืออยู่ไม่มากนัก ในขณะที่สามีของเธอทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวโดยประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ ในไร่นาหรือใช้แรงงานหนักอื่นๆ
ย้อนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อคราวที่ศาลจังหวัดนครพนมนัดพร้อมจำเลยเพื่อหาทางเจรจาระงับข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา สิมมารา หงษามนุษย์ พี่สาวของกฤตยาเล่าว่า “ทางผู้ว่าฯ (จังหวัดนครพนม) ได้เขียนหนังสือชี้แจงไปยังศาลในวันเดียวกันว่า อย่างไรเสียพวกเราก็ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นและหางานทำ แต่ใครหละที่อยากจะจ้างพวกเรา? พวกเราไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้อะไร” จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในวันนัดพร้อมดังกล่าว ขณะที่ชาวบ้านที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้ง 33 ราย รอให้ทางจังหวัดซึ่งเป็นโจทก์ในคดีเดินทางมายังศาลเพื่อเจรจาหาข้อยุติ แต่เจ้าหน้าที่ศาลได้ให้การว่า ทางจังหวัดปฏิเสธที่จะเดินทางมาและจะไม่ยอมเจรจาไกล่เกลี่ยใดๆ
สิมมารา หงษามนุษย์ (กลาง) แสดงหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากที่ดิน (น.ส.3) ของครอบครัวเธอ เธอยืนยันว่าครอบครัวของเธออาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้มาอย่างน้อยสามชั่วคน
ห่างจากบ้านของกฤตยาออกไปประมาณ 300 เมตร ศร สมรฤิทธ์ ชาวโคกภูกระแต วัย 78 ปี และครอบครัวขยายของเธอเป็นอีกหนึ่งรายที่กำลังจะถูกไล่ที่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นจำเลยที่อาวุโสมากที่สุดในบรรดาจำเลยทั้ง 33 ราย สนมีหลักฐานการครอบครองที่ดิน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอลสองสนามรวมกันเพียงเล็กน้อย เป็นหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งเธอถือครองไว้ตั้งแต่ปี 2491 และในฐานะที่เธอเป็นแม่ใหญ่ของครอบครัวขยาย เธอได้อาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้ร่วม กับญาติพี่น้องอีก 14 ครอบครัว “ฉันเกิดที่นี่ เหมือนกันกับพ่อแม่ และปู่ย่าตายายของฉัน” สนกล่าว เมื่อถามว่าหากถูกไล่ที่ เธอและครอบครัวขนาดใหญ่ของเธอจะย้ายไปอยู่ที่ไหน เธอกล่าวพร้อมแววตาที่เป็นกังวลว่า “พวกเราได้หารือกัน แต่พวกเราไม่รู้จริงๆว่าจะไปอยู่ที่ไหน เราไม่มีไร่นาและหลานของฉันทั้งหมดก็ทำงานก่อสร้างอยู่ที่กรุงเทพฯ”
ศร สมรฤิทธ์ ชาวโคกภูกระแต วัย 78 ปี พร้อมครอบครัวขยายของเธอ เป็นอีกรายที่จะถูกไล่ที่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินและอยู่อาศัย
ถึงแม้ว่าชาวบ้านโคกภูกระแตและไผ่ล้อมส่วนใหญ่ปักหลักอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาอย่างน้อยสามชั่วอายุคน มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ในขณะที่ที่เหลือมีเพียงหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งสามารถถูกทางการสั่งเพิกถอน ได้ จากปากคำบอกเล่าของ จิรวิชญ์ ฉิมมานุกุล นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน จากรั้วมหาวิทยาขอนแก่น ที่ติดตามทำข้อมูลกรณีดังกล่าว ปัญหารากเหง้าเกี่ยวกับที่ดินทำกินในพื้นที่แห่งนี้สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2483 เมื่อหน่วยงานภาครัฐประกาศให้พื้นที่กว่าหกพันไร่ ในตำบลอาจสามารถ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทั้งที่มีหลายครอบครัวได้ปักหลักอาศัยมาก่อนหน้าแล้ว นักกิจกรรมหนุ่มยังเสริมต่อว่า อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านรับรู้ว่าที่ดินดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นที่ดินสาธารณะจนกระทั่งปี 2521
ศร สามรฤทธิ์ เดินไปตามตรอกเล็กๆ ที่เป็นที่ตั้งที่พักอาศัยของสมาชิกในครอบครัวขนาดใหญ่ของเธอ
เมื่อมีการประกาศให้ที่ดินกลายเป็นที่ดินสาธารณะในปี 2483 นั้น อย่างไรก็ดี ขนาดพื้นที่ถูกลดจากหกพันไร่ เหลือ 2,834 ไร่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ทำการสำรวจพื้นที่ในขณะนั้นพบว่า ชาวบ้านจำนวนมากได้ปลูกบ้านเรือนในพื้นที่ดังกล่าวไว้แล้ว นอกจากนั้น ในระหว่างปี 2483 ถึง 2521 พนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้ออกเอกสารแจ้งการครอบครองที่ดินและรับรองการทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านใรพื้นที่ ณ ปัจจุบัน พื้นที่ที่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ลดลงจาก 450 เฮกเตอร์ เหลือ 380 เฮกเตอร์ เนื่องจากพื้นที่บางส่วนถูกมอบให้กับโรงพยาบาลจิตเวชประจำท้องถิ่นและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “การปกครองภายใต้รัฐบาลทหารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้การพูดเกี่ยวกับปัญหาที่ดินเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น คนตัวเล็กๆถูกทำให้เล็กลงไปอีก เสียงของพวกเขาถูกทำให้แผ่วเบาลงเหลือเพียงเสียงกระซิบกระซาบ” จิรวิชญ์ กล่าว
สำหรับ นาวิน โสภาภูมิ นักวิจัยประจำมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กระทรวงสาธารณสุข มองว่า การดำเนินการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สะท้อนปัญหาที่ยืดเยื้อและใหญ่กว่า เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรในประเทศ ในเวทีสาธารณะเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนา และสิทธิชุมชน ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา นาวินแสดงความเห็นว่า รัฐมีแนวโน้มที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือผืนที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหลายครอบครัวมากว่า 70 – 80 ปี เขายังเสริมต่อว่า หน่วยงานของรัฐยังมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการออกโฉนดการถือครองที่ดินให้กับชาวบ้าน หรือทำให้กระบวนดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่คำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่า หลายชุมชนได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานบนผืนดินแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว “ชาวบ้านต่างพากันวิตกกังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาจะเป็นเหมือนปัญหาเก่าๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือ ยึดที่ดินของชาวบ้านเพื่อเอาไปให้นักลงทุน ชาวบ้านเหล่านี้ไม่ใช่คนท้องถิ่นหรอกหรือ? หากจะตอบคำถามเกี่ยวกับความต้องการด้านการพัฒนาของคนท้องถิ่น จำเป็นต้องถกเถียงกันว่า จะนำที่ดินไปใช้สอยอย่างไรเพื่อให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด” นาวินกล่าวทิ้งท้ายในงาน
กลับมายังชุมชนที่ต้องรับศึกหนักอย่างชุมชนโคกภูกระแต ภิรมภรณ์ คำยอด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ เป็นอีกรายที่ประสบการข่มขู่ไล่รื้อให้ย้ายออกจากพื้นที่ และเป็นหนึ่งในจำเลย 33 รายที่คดีอยู่ในชั้นศาล เธอเล่าว่า ครอบครัวของเธออาศัยอยู่บนที่ดินแห่งนี้มากว่าสามชั่วอายุคน เมื่อถามถึงแผนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เธอกล่าว ขณะเช็ดผมที่เปียกให้แห้งบนระเบียงไม้หน้าบ้านว่า “มันไม่ได้หมายความว่าพวกเราไม่ต้องการการพัฒนา พวกเราทุกคนต้องการ แต่ถ้าพวกเราต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นจริงๆ เราควรได้รับค่าชดเชยที่เพียงพอเพื่อเราจะได้สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้” ในฐานะที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน ภิรมภรณ์ เล่าว่า ปีที่แล้ว ชาวบ้าน 14 รายถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลอกให้เซ็นต์ชื่อยอมรับข้อตกลงว่าจะย้ายออกโดยไม่มีเงื่อนไข “ปีที่แล้วทางการได้จัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉันไปสาย พอไปถึงถึงรู้ว่ามีชาวบ้าน 14 รายถูกหลอกให้เซ็นต์ชื่อลงบนเอกสาร โดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือข้อตกลงยอมรับว่าจะย้ายออก” เธอเล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2557 ขณะที่เธอนำปัญหาของชาวบ้านไปหารือกับหน่วยงานของรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมบอกกับเธอว่า ยังไงเสียพวกเขาก็ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นโดยที่จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เพราะรัฐบาลไม่ได้สำรองงบประมาณไว้เพื่อเป็นค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน “เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่ดินนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์สำหรับสาธารณูปโภค ถ้าคุณยังอยากจะเอามือชกกำแพง คนที่จะเจ็บตัวก็คือคุณ” ภิรมภรณ์กล่าว
คลองขนาดเล็กไหลผ่านบ้านโคกภูกระแตและบ้านไผ่ล้อม ขนานกับถนนสายหลัก
จากคำบอกเล่าของ ปริตถาร คำดี ผู้ใหญ่บ้านโคกภูกระแต เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สาม ซึ่งปัจจุบันคั่นกลางระหว่างชุมชนโคกภูกระแตและไผ่ล้อม ได้ถูกสร้างขึ้นในปี 2552 ชาวบ้านที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ใหม่ได้รับค่าชดเชยที่สมเหตุสมผลจากทางราชการ “ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีปัญหากับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หากพวกเขาได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม ฉันไม่รู้ว่าทำไมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงไม่จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เอาไว้สำหรับให้ชาวบ้าน” ปริตถาร กล่าว “ครอบครัวส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ก่อนที่ฉันจะเกิดด้วยซ้ำ และพวกเขาก็ไม่รู้จะย้ายไปอยู่ที่ไหน”
ทองสุข เปล่งทรัพย์ ชาวโคกภูกระแต วัย 74 ปี ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิมอีกราย และเป็นผู้ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการมีที่ดินทำกินมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า “ทางการไม่เคยหารือกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก่อน เขาเพียงแต่บอกว่า มีการประกาศให้ที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี 2483 แต่ชาวบ้านจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มายาวนานกว่านั้นมาก” ถึงแม้ว่าทองสุขไม่ได้ตกเป็นหนึ่งในจำเลย 33 รายที่ถูกทางการฟ้องร้องขับไล่ กระนั้นเขาเล่าว่า ชาวบ้านโคกภูกระแตพยายามที่จะขอเอกสารทางกฎหมายเพื่อปกป้องกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่อยู่อาศัยของตนเองมาตั้งแต่ปี 2513 “ในยุครัฐบาลทักษิณ พวกเราได้ทำหนังสือร้องขอให้มีการออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินไปยังรัฐบาล ตอนนั้นพวกเรามีความหวังมาก แต่ก็ต้องหมดหวังเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 เราได้ยื่นหนังสืออีกครั้งต่อรัฐบาลพลเรือนชุดสุดท้ายของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ทุกอย่างก็จำต้องหยุดชะงักอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557” สำนักข่าวประชาไทพยายามติดต่อเจ้านี้ประจำองค์กรบริหารส่วนตำบลอาจสามารถเพื่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการไล่รื้อและการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ อ้างว่า หากต้องการขอสัมภาษณ์ จำเป็นต้องทำหนังสือร้องขอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเป็น “ประเด็นอ่อนไหว” และอาจเป็นการยากที่จะได้รับอนุญาต
นโยบายเสรีนิยมใหม่ภายใต้รัฐบาลทหารส่อเค้าล้มเหลว?
ถึงแม้ว่าผู้นำรัฐบาลทหารและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดหาสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่กำลังจัดตั้งขึ้น จะทำหน้าที่เป็นประตูเปิดไปสู่การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกลับชี้ว่า แผนการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะล้มเหลว
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แสดงความคิดเห็นในงานประชุมสาธารณะเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมองว่านโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษถือเป็นนโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงแรกของปี 2543 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในยุครัฐบาลทหารปัจจุบัน “ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะมีการนำมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาใช้เพื่อผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไชยณรงค์กล่าว เขายังเสริมต่อว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในปัจจุบันจะส่งผลเชิงลบต่อชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมและการปล้นสดมภ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ประตูสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ถัดจากด่านศุลกากร ตีนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สาม
นอกจากนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยยังย้ำเตือนว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ “แสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานราคาถูก” จากประเทศเพื่อนบ้าน อาจยิ่งเพิ่มกระแสที่เขาเรียกว่า “ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ” ให้มากขึ้นในสังคมไทย “ลองดูสิ นี่เป็นนโยบายที่ต้องการดูดทรัพยากรแรงงานข้ามชาติให้มาติดกับ” ไชยณรงค์กล่าว “ซึ่งหมายความว่าเพียงเพื่อให้เศรษฐกิจของไทยเติบโต เราพร้อมที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า หรือเวียดนาม”
ทางด้าน เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชนบทและเศรษฐศาสตร์เกษตร ให้ความเห็นว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเวอร์ชั่นรัฐบาลทหารเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหากเป้าหมายพื้นฐานคือการดึงดูดนักลงทุนด้วยแรงงานราคาถูกและการผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับภาคอุตสาหกรรม “ประเทศไทยได้พัฒนาเลยความเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานมาแล้ว ดังนั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษเวอร์ชั่นพลเอกประยุทธ์จะไม่ก่อสร้างกำไรให้กับเศรษฐกิจของประเทศเท่าไรนัก” เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า เท่าที่ดูแผนยุทธศาสตร์การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลทหาร ยังมีความไม่ชัดเจนว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้อย่างไร อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชนบทกล่าวว่า หลักการของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษใน “รูปแบบคลัสเตอร์” ที่ล่าสุดถูกนำเสนอโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและนักยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจมือขวาของรัฐบาลทหาร ที่จะทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกพื้นที่ เป็นแหล่งรวมสินค้าที่คนในท้องถิ่นสามารถดำเนินการผลิตและขนส่งได้เอง อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับชาติและระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้ แต่กระนั้นยังคงไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโมเดลใดแน่ที่จะถูกนำมาปฏิบัติใช้
บริษัทขนส่งสินค้าสัญชาติจีนเริ่มเข้ามาจัดตั้งคลังสินค้าใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังก่อสร้าง
ถึงอย่างไรก็ตาม หากยังไม่ต้องคำนึงถึงว่าในท้ายที่สุดแล้วนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษตามโมเดลใดจะถูกนำมาปฏิบัติใช้จริง แต่สิ่งที่จิรวิชญ์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินชาวนครพนม ฝากทิ้งท้ายไว้คือ “ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่คำถามที่จำเป็นต้องถามคือใครกันแน่ที่จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากโครงการเหล่านี้”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ทางรัฐบาลได้ปรับแก้แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ผลประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ” เมื่อเอ่ยถึงกรณีการขับไล่ชาวบ้านทาง ตอนเหนือในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ออกจากพื้นที่ เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ สรรเสริญให้คำมั่นสัญญาว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะได้รับแพคเกจค่าชดเชยจากรัฐบาล เขายังเรียกร้องให้ชาวบ้านอย่า “เห็นแก่ตัว” และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติก่อนผลประโยชน์ส่วนตน
ณ ปัจจุบัน ถ้อยแถลงของโฆษกรัฐบาลอาจช่วยคลายความกังวลใจให้กับบางครอบครัวในบ้านโคกภูกระแต แต่สำหรับอีกหลายครอบครัว ชะตากรรมที่ไม่แน่นอนของพวกเขายังคงขมุกขมัวดั่งเช่นธารน้ำสีทองแดงขุ่นของแม่น้ำโขง
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สาม เชื่อมต่อจังหวัดนครพนมกับเมืองท่าแขก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ข้ามผ่านแม่น้ำโขง ติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังจะสร้างขึ้น
ที่มา : ประชาไท วันที่ 13 พ.ย. 2558