ในช่วงสามปีมานี้เมื่อเดืนทางไปทางไหนในชนบทก็จะพบป้ายประกาศขายที่ดิน ซึ่งก็มีทั้งที่นา ที่สวน ที่ไร่ หรือเรียกรวมๆว่าที่ “ดินเกษตรกรรม” โดยยังไม่รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ
คนที่รู้เรื่องเศรษฐกิจก็จะบอกว่าเป็นธรรมดาในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ เงินตราในระบบตลาดจึงขาดสภาพคล่อง หรือผู้คนทั่วไปไม่มีเงินจับจ่ายนั่นเอง ดังนั้นอย่าว่าแต่ในภาคเกษตรกรรมเลยที่ต้องขายที่กัน แม้แต่ในภาคอื่นๆก็ขายเช่นกัน
แต่คนที่อยู่ในชนบทก็รู้ว่าคำกล่าวนั้นถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะในความจริงแล้ว ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือเลวร้ายอย่างไร เกษตรกรก็ขายที่ดินของตนอยู่เรื่อยมา บ้างก็ติดป้ายประกาศขาย บ้างก็บอกต่อกันในท้องถิ่น เราจึงได้เห็นว่าที่ดินในภาคเกษตรกรรมเหลือน้อยลง และตกไปอยู่ในมือของคนมีเงินมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าอนาถใจมากกว่านั้นก็คือ เมื่อเกษตรกรตัดสินใจขายที่ดินนั้นก็มักจะถูกกดราคา เพราะมาถึง “ทางตัน” แล้ว อย่างเช่น เป็นหนี้ธนาคารหรือหนี้นอกระบบ พอจะถูกธนาคารหรือเจ้าหนี้นอกระบบจะยึดก็รีบประกาศขาย แต่ที่ดินนั้นไม่ใช่ขนม หรือสารเคมีในการทำการเกษตรที่จำเป็นต้องซื้อ ดังนั้นมันจึงขายไม่ได้ง่ายๆ และเกษตรกรด้วยกันก็ไม่มีเงินจะซื้อ เพระลำพังตัวเองก็แทบจะรักษาที่ดินของตนไว้ไม่ได้
ดังนั้นผู้ซื้อจึงเป็นคนที่มีเงิน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คนในเมือง” เมื่อเขาซื้อก็กดราคา เพราะเขารู้ว่าคนที่ขายที่ดินนั้นจนตรอกแล้ว ยังไงก็ต้องขาย ดีกว่าโดนยึดหรือจ่ายดอกเบี้ยไปทุกวันทุกเดือน สุดท้ายที่ดินก็ตกไปเป็นของคนในเมืองด้วยราคาถูกๆ
พอที่ดินตกไปเป็นของคนในเมืองแล้ว ที่ดินผืนนั้นกลับขึ้นราคาอย่างชนิดที่เจ้าของที่ดินเดิมไม่มีปัญญาซื้อคืนได้อีกต่อไป ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า(ถ้ายังเป็นเกษตกรในระบบคนกินคน) แถวบ้านผม เจ้าของเดิมขายไร่ละ 1 แสน พอคนในเมืองซื้อไปก็ประกาศขายไร่ละ 1 ล้าน และขึ้นทีละ 1 ล้านทุกปี เพราะไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินที่จมกับการซื้อที่ ขายช้าขายเร็วก็ขายจนได้และเกินคุ้ม
ส่วน “เจ้าของที่ดินเดิมไปอยู่ไหน?”
บ้างก็เช่าที่ดินของตนเอง (เจ้าของใหม่จึงไม่เดือดร้อนเรื่องขายช้าหรือเร็ว เพราะอย่างไรเสียก็ได้รับค่าเช่าทุกปี เจ้าของเดิมไม่เช่าก็มีคนอื่นเช่า และแย่งกันเช่าเสียด้วย)
บ้างก็อพยพเข้าเมืองหรือเข้ามาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ไปขายแรงต่างประเทศ
“อะไรเป็นเหตุให้เกษตรกรต้องขายที่ดิน?”
คำตอบคือ “ต้นทุนในการผลิตสูง”
ผมเคยร่วมสังเกตการณ์ในการทำวิจัยของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง พวกเขาเชิญชาวบ้านทุกครอบครัวมาร่วมประชุมกัน และขอข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนใน การทำนา ซึ่งมีทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช สารเร่งใบเร่งดอก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน และอื่นๆ ปรากฏว่าต้นทุนตกอยู่ที่ไร่ละ 4,500 บาท
แต่ในชุมชนนั้นมีชาวนาอยู่ครอบครัวหนึ่งที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้สารสะเดากำจัดหรือป้องกันแมลง ปรากฏว่าต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 2,500 บาท
คณะนักศึกษานำตัวเลขดังกล่าวมาเปรียบเทียบในที่ประชุมให้ดู แต่น่ามหัศจรรย์ใจยิ่ง ชาวบ้านที่ใช้สารเคมีไม่สนใจเลย เมื่อผมถามเขาก็ได้รับคำตอบเหมือนกันว่า “ถ้าไม่ใช้สารเคมีจะได้ข้าวเปลือกน้อย เพราะต้นข้าวจะไม่เจริญเติบโตดีพอ และสารสะเดาหรือพืชสมุนไพรอื่นๆไม่สามารถกำจัดแมลงได้”
ผมยกตัวอย่างคนในหมู่บ้านเดียวกันที่ปลูกข้าวด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ว่าทำไมได้ผลผลิตพอๆกับการใช้สารเคมี?
เขาไม่มีคำตอบ บางคนตอบว่ามันยุ่งยาก
ผมไม่ต้องการต่อความยาวสาวความยืด คิดเอาว่าพวกเขาคงมีเหตุผลอื่นๆสนับสนุนความเชื่อมั่นในสารเคมี หรือไม่ก็คนที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คงให้ตัวเลขต้นทุนคลาดเคลื่อน
แต่ไม่ว่าจะคลาดเคลื่อนอย่างไรก็คงไม่มาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็ยังประหยัดกว่า และกำไรก็ยังมากกว่าอยู่ดี
ประการสำคัญมันไม่ทำลายสุขภาพ
ผมจึงสรุปเอาว่า กลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมีนั้น “เสพติดสารเคมี เช่นเดียวกับต้นข้าวของพวกเขา”
ผลที่ตามมาก็คือต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งส่วนมากก็ต้องกู้ เมื่อกู้เงินมากดอกเบี้ยก็มากตาม แล้วมันก็กลายเป็นต้นทุนเพิ่มไปอีก ซ้ำยังเหนื่อกว่า และมีอันตรายจากสารเคมีอีก
ระบบนิเวศในท้องนาก็พินาศ เหลือแต่เพียงต้นข้าวโดดๆ
เมื่อหนี้สินพอกพูนขึ้น สุขภาพจิตก็แย่ ครอบครัวก็ยุ่ง สุดท้ายก็รักษาที่ดินของตนไว้ไม่ได้ และมุ่งเข้าไปทำมาหากินในเมืองใหญ่และกรุงเทพฯเสียเป็นส่วนมาก
เมื่อเกษตรกรที่ล้มละลายเข้าไปทำมาหากินในเมืองและกรุงเทพฯ ก็ทำให้เมืองและกรุงเทพฯแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน บ้านเรือนร้านค้าและรถก็มากขึ้น ต่างก็แก่งแย่งแข่งขันกันทำมาหากิน...กลายเป็นปัญหาของมืองและกรุงเทพฯไปอีก
ยิ่งภาคเกษตรกรรมล้มละลายมากเท่าใด เมืองและกรุงเทพฯก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นเท่านั้น
สุดท้าย ปัญหาภาคเกษตรกรรมในชนบทก็แก้ไมได้ เมืองและกรุงเทพฯก็มีปัญหามากขึ้นอีก คนจนคนรวยก็อยู่กันไม่ค่อยมีความสุข ไม่เหตุใดก็เหตุหนึ่ง หรือหลายเหตุ เราจึงมีชีวิตอยู่กันแบบ “เสี่ยงโชค” ไปวันๆ แม้ว่าหลายคนจะมีฐานะทางการเงินดีแค่ไหนก็ตาม
ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆจะคิดแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร ผมทราบแค่ว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาให้ถึงรากเหง้าของมัน เราจะต้องแก้ด้วยการนำเอา “องค์ความรู้ของนิเวศวิทยา” หรือ “กฎของธรรมชาติ” มาปรับใช้
เพราะลำพัง “การคิดเอาเอง” ที่เรียกกันว่าลัทธิ ระบบ ทฤษฎี ปรัชญาต่างๆได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลมาจนถึงวันนี้ เพราะมันแยกขาดจากกฎของธรรมชาติ
เราเป็นธรรมชาติ จึงไม่สามารถแยกขาดออกจากกฎของธรรมชาติได้
ไม่ว่าจะเรื่องอะไร
เมื่อใดก็ตามเมื่อเราแยกตัวเองออกจากกฎธรรมชาติ เมื่อนั้นเราก็จะไร้ “ถิ่นฐานบ้านเกิด” และกลายเป็น “คนพเนจร” และรอวันล้มหายตายไปจากโลกที่เราไม่เคยรู้จัก(กฎของมัน)..ทั้งที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้และ “เป็นโลก” นี้เองด้วย
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 4 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.