สภาวะแวดล้อม และระบบนิเวศวิทยา นับวันจะยิ่งมีความสำคัญต่อพลเมืองโลก เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และสภาพการณ์ที่เรียกว่า “โลกร้อน” เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้ นั่นทำให้ระบบนิเวศทางการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงประชากรโลกต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก
สิ่งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเงินทุนจำนวนมากต้องหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจสร้างความยั่งยืนทางอาหาร Trend ใหม่ที่พลเมืองโลกต้องการควบคู่ไปกับการวางแผนบริหารจัดการอาหารเพื่อความปลอดภัย
น.ส.สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง นำพา ทีมเศรษฐกิจ ไปดูงานใหม่ของกลุ่มบริษัทกระทิงแดงเพื่อรับฟังข้อมูลรายละเอียดในโครงการสร้างความยั่งยืนทางอาหารภายใต้ภาคีเครือข่ายเกษตรกรยั่งยืนและอาหารปลอดภัยที่ร่วมกันสร้างขึ้นระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ด้วยความคิดที่จะพัฒนาสังคมไปในทิศทางที่สามารถจะตอบสนองความต้องการ ในอนาคตและส่งเสริมให้ ภาคีเครือข่ายเกษตรกร โดยเฉพาะในฝ่ายไทยให้เกิดความยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กิจกรรม “เชื่อมโยงเครือข่ายอาหารปลอดภัยไทย-ญี่ปุ่น” ดังกล่าวนี้ จุดพลังให้กับชุมชนที่มีความเข้มแข็ง พร้อมไปกับศักยภาพของการพัฒนาองค์ความรู้ไปยังสมาชิกในเครือข่ายทั้งของตนเองและภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่จะเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
ข้อมูลเหล่านี้นับเป็นความน่าสนใจอย่างใหม่ของกิจกรรมทางธุรกิจที่ผสมผสานมากับความจำเป็นเพื่อความอยู่รอด และการวางแผนบริหารจัดการอาหารเพื่อความปลอดภัยและยั่งยืน ทั้งเพื่อตัวเกษตรกรเองและเพื่อพลเมืองโลกโดยรวม
“เราเห็นว่าการขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเราพาเกษตรกรในเครือข่าย และนักวิชาการซึ่งล้วนแต่เป็นผู้นำชุมชนไปร่วมพูดคุยกันแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิถีของการทำเกษตรอินทรีย์ต้นแบบที่ญี่ปุ่น เราก็น่าจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆที่นำพาองค์ความรู้ หรือแนวคิดใหม่ๆมาใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศไทยได้...
ก็จะเกิดประโยชน์ต่ออนาคต และนำมาซึ่งกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม การเชื่อมโยงผู้บริโภค และการเปิดช่องทางการตลาด เรามองว่า เกษตรอินทรีย์ที่ประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งที่น่าจะนำมาเป็นโมเดลตัวอย่างในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ที่ประเทศไทย” ผู้บริหารกระทิงแดงกล่าว
สิ่งที่บริษัทหันมาจับอย่างจริงจังคือ การสร้างโมเดลของสินค้าเกษตรอินทรีย์ใหม่และขับเคลื่อนเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ผลิต และผู้บริโภคที่เรียกว่า CSA (Community Support Agriculture) เพื่อเดินไปด้วยกันใน “ระบบการตลาดแบบสมาชิก” เป็นการเชื่อมต่อเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรงในหลักการพื้นฐานว่า ผู้บริโภคจะตกลงกับเกษตรกรผู้ผลิตเอง เช่น
การซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ตามฤดูกาล ผู้บริโภคอาจจ่ายเงินล่วงหน้า ส่วนเกษตรกรจะนัดผู้บริโภคมารับผลผลิตเอง หรือจะส่งให้ก็ได้ตามแต่ที่ตกลงกัน การทำตลาดในลักษณะนี้ส่งผลให้เกษตรกรมีหลักประกันทางเศรษฐกิจและมีโอกาสในการสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคเองก็สามารถไว้ใจในคุณภาพของสินค้าได้โดยการเยี่ยมเยือนฟาร์มเกษตรกรเพื่อดูการผลิต หรือช่วยเกษตรกรทำงานในฟาร์มเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
บริษัทเห็นว่า เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีต้นน้ำอยู่แล้ว เหลือกลางน้ำกับปลายน้ำที่จำต้องพัฒนาการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรญี่ปุ่นที่เราไปจัดหาและสำรวจมา โดยเชื่อว่า ถ้าเกษตรกรไทยมองเห็น และตั้งใจทำโครงการอาหารปลอดภัยและยั่งยืนก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย
“ถ้าเราจะร่วมมือกัน และตั้งใจทำจริงๆ ผู้บริโภคซึ่งพร้อม จะบริโภคอาหารปลอดภัยอยู่แล้วก็จะสามารถเข้าถึงความต้องการนี้ได้ หรือเราต่างเข้าถึงกันและกันได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เพียงแต่จะทำอย่างไรเพื่อเชื่อมพวกเขาเข้าหากันให้เกิดความมั่นคง”
“ชิโนะ ยูซุเกะ”
ผู้ดูแลฝ่ายการตลาด ฟาร์มไอโยะ จังหวัดชิบะ
จังหวัดชิบะคือ ฟาร์มแรกที่ผู้บริหารบริษัทกระทิงแดงพาเราไปหาข้อมูล ที่นี่ฟาร์มไอโยะได้เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2551 จากกลุ่มคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรมาก่อน แต่ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มไอโยะ” ซึ่งใช้พื้นที่ปลูกขนาดเล็กเพียง 30 ไร่ มีผู้ร่วมโครงการ 11 คน แต่พวกเขามุ่งมั่นให้เกิดความสำเร็จอย่างจริงจัง
สินค้าเกษตรจากฟาร์มนี้ จัดการแบ่งงานกันเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนงานผลิต และการจัดการในฟาร์ม มีการวางแผนปลูกพืชแต่ละฤดูกาลประมาณ 11-13 ชนิด ผู้ดำเนินการซึ่งเป็นสมาชิกแต่ละครอบครัว จะแบ่งชนิดของการปลูกพันธุ์พืชให้แตกต่างกันออกไป เพื่อความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
อีก ส่วนงานคือการตลาด และการจัดจำหน่าย การดูแลเรื่องการตลาด และการจัดหาแหล่งจำหน่ายสินค้า มีแนวคิดแบบระบบ “เตเก” หรือ CSA ซึ่งถือเป็นระบบเก่าแก่ที่ผู้ผลิตจะเชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรง ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคของกลุ่มแบ่งเป็น 3 ช่องทาง คือ
การจัดผลผลิตใส่กล่องเพื่อส่งตาม บ้านผู้บริโภค จัดส่งให้ผู้บริโภคสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยผู้บริโภคสามารถเลือกขนาด และสั่งได้ตามความต้องการ ปัจจุบันมีผู้บริโภคสั่งผลผลิตจากฟาร์มประมาณ 400 กล่องต่อเดือน ขณะที่การส่งผลผลิตไปยังร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆนั้น ปัจจุบันมีร้านอาหารสมาชิกเข้าร่วมโครงการราว 40 ร้าน ยังมีการขายสินค้ายังตลาดนัดในวันเสาร์-อาทิตย์ พร้อมกับการออกไปจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคประมาณ 200 ครั้งต่อปีด้วย
ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคบ่อยๆ ครั้ง เช่น ถอนหญ้า เก็บผลผลิตในฟาร์ม และประกอบอาหารจากผลผลิตภายในฟาร์มร่วมกัน ซึ่งผู้บริโภคจะต้องทำทุกกระบวนการเองทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นความสำคัญของอาหาร จะมีผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกเข้ามาร่วมด้วยประมาณ 800 คนต่อปี และสมาชิกฟาร์มแห่งนี้ยังหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนไปเรื่อยๆทั้งยังส่งต่อไอเดียนี้ไปยังกลุ่มผู้บริโภคเสมอด้วย
“คาโตะ โคอิชิ”
ประธานบริหารสหกรณ์ผู้บริโภค “เซเคียว”
สหกรณ์แห่งนี้เริ่มต้นดำเนินการในปี 2508 และขยายกิจกรรมทั้งด้านการผลิต การกระจายสินค้า และการบริโภค ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ปัจจุบันมี 32 แห่งกระจายอยู่ใน 21 ภูมิภาค ดำเนินการภายใต้ความคิดที่ว่า “เราปรารถนาผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย และสบายใจในราคาที่เหมาะสม” จึงร่วมมือกับผู้ผลิตกำหนดคุณสมบัติตลอดจนข้อกำหนดสินค้า และสร้างวิธีการจัดซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย
กับรูปแบบที่หลากหลายในการจัดซื้อร่วมกันเป็นกลุ่มคณะ เป็นการรวบรวมคำสั่งซื้อทั้งหมดในกลุ่ม จัดประเภทสิ่งของอุปโภคบริโภค จนถึงการจัดซื้อ รวมถึงกำหนดรูปแบบการจัดส่งถึงบ้าน และเป็นการสั่งซื้อเป็นรายบุคคล-ส่งสิ่งของเป็นรายบุคคล
รูปแบบร้านค้า “Depot” หรือการสั่งซื้อร่วมกันในลักษณะจัดทำเป็นร้านค้าที่สมาชิกควบคุมและบริหารจัดการกันเอง โดยมีรายการสินค้าอุปโภคบริโภคประมาณ 1,600 รายการ จากการพัฒนาและผลิตให้ของสหกรณ์ โดยสมาชิกจะได้ใช้สิ่งของที่จำเป็นต่อชีวิต เพื่อสร้างวิถีชีวิตแนวใหม่และสังคมทางเลือก
สมาชิกสหกรณ์ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการไปเยี่ยม และทำความเข้าใจกับพื้นที่ผลิตจริง ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยได้เองตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงขั้นตอนการผลิตซึ่งเกษตรกรและสหกรณ์จะเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนอย่างโปร่งใส ขณะที่ผู้ผลิตเองก็สามารถไปเยี่ยมเขตพื้นที่ของสมาชิกสหกรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและข่าวสารด้านนโยบายการเกษตรของรัฐบาล รวมถึง มาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆกันโดยตรงได้อีกด้วย
“โยชิโนริ คาเนโกะ”
ฟาร์มชิโมซาโต้ จังหวัดไซตามะ
จากสหกรณ์เซเคียว เราไปดูการบุกเบิกฟาร์มเกษตรอินทรีย์อีกแห่งซึ่งเริ่มทำกันในปี 2514 ฟาร์มแห่งนี้มีบทบาทสำคัญคือผู้บริหารไปเป็นประธานคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติญี่ปุ่นจากแนวคิดการทำเกษตรเชิงนิเวศที่ช่วยสร้างอาหารส่งเสริมสุขภาพมนุษย์ และดูแลสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยการปรับใช้ประโยชน์ของที่ดินในหมู่บ้านตนเองซึ่งมีพื้นที่เพียง 30 ไร่ และเริ่มต้นจัดทำโครงการเกษตรพอเพียงเพื่อผู้บริโภคราว 10 ครัวเรือน บนฟาร์มของเขา 2 ไร่ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดเคมีโดยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ทั้งหมดนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี
พร้อมกับการทำโครงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์กล้าในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เป็นการให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ชนิดต่างๆ ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก และนำมาแลกเปลี่ยนกับเกษตรกร อื่นๆราว 50 คน ในแต่ละภูมิภาค โดยมีการเปลี่ยนสถานที่จัดงานไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และยังเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองของเกษตรกรด้วย
ในที่สุดทั้งหมู่บ้านได้ยกเลิกการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชในต้นข้าวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านให้เป็นแหล่งบ่มเพาะ และอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในปีนี้เองได้ขยายการทำเกษตรอินทรีย์และการทำอุตสาหกรรมท้องถิ่นขึ้น โดยส่งผลผลิตข้าวให้กับโรงผลิตสุราท้องถิ่นเพื่อทำ “สาเก” จากนั้นก็ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ โดยผลผลิตทั้งหมดถูกบริษัทเต้าหู้เหมาแปลงไปในราคาที่ตกลงกัน พร้อมๆกับการเพิ่มยอดสั่งซื้ออนาคต
นี่คือจุดเริ่มต้นรูปแบบของการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูชนบทอย่างแท้จริง
ผลจากการทำงานในสองบทบาททั้งทางเกษตร และการค้าที่เชื่อมโยงทั้งสองความแตกต่างเข้าด้วยกันระหว่างบริษัทและฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาฟาร์มชิโมซาโต้รับคนเข้าฝึกงานระยะสั้นกว่า 40 ประเทศ รวมประมาณร้อยกว่าคน ปัจจุบันฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ
นายเดชา ศิริภัทร
ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ
กว่า 30 ปีที่ไทยทำเกษตรอินทรีย์ จะมีความแตกต่างกันและเหมาะสมไปตามแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่เป็นนาข้าว บางพื้นที่เป็นพืชสวนปลูกผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์ที่คนไทยมีองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาตั้งแต่เดิม
จนเมื่อมีการนำเข้าสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรมหรือพืช GMO เข้ามามาก เกษตรกรจึงหันมาทำการเกษตรด้วยระบบเคมี เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น การทำเกษตรอินทรีย์จึงลดลง แต่ผลผลิตของการทำการเกษตรเคมีนั้นไม่ยั่งยืน
แต่ทำแล้วส่งผลเสียต่อสภาพดิน สุขภาพเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะได้ปริมาณมาก ก็ยังไม่เท่าผลดีจากการทำเกษตรอินทรีย์ที่แม้จะ ได้ผลผลิตที่น้อย แต่สามารถเก็บไว้ได้นาน ราคาก็ดีด้วย สุขภาพของเกษตรกร สภาพดิน และสิ่งแวดล้อมก็ดีตามมา ผู้บริโภคก็สนใจผลผลิตในระบบอินทรีย์มากขึ้น ทำให้มีตลาดรองรับที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ
เรามีแผนจะอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ในปีหน้าด้วย แต่จะเสริมความรู้ตามที่ได้ไปศึกษาจากญี่ปุ่นมาขยายการฝึกอบรมให้กับเครือข่ายผู้สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ต่อไป แต่อยากทำในระดับนานาชาติด้วย ตอนนี้เราทำแค่ในประเทศ แต่จริงๆสามารถนำวิธีการทำเกษตรแบบเมืองหนาวที่ญี่ปุ่นมาปรับใช้กับเมืองร้อนอย่างบ้านเราได้ นำเอาระบบการจัดการเค้ามาสร้างเป็นต้นแบบได้ รวมทั้งเลือกและปรับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าชุมชนความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค
ดร.ชมชวน บุญระหงษ์
ที่ปรึกษาวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเกษตรกรญี่ปุ่นนับว่าเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะแนวคิดของการทำฟาร์ม “ไอโยะ” เราจะนำโมเดลธุรกิจนี้มาใช้กับเครือข่ายเกษตรกรในอำเภอแม่แตง ซึ่งได้เริ่ม มีการจัดตั้งกลุ่มการผลิตทั้งสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และกลุ่มการตลาดออกมาและจะพัฒนาให้ดีขึ้น
“การไปศึกษาดูงานทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เราจะกลับมาปรับปรุงโรงงานแปรรูปเล็กๆให้มีมาตรฐาน เหมาะสมกับทุนของชุมชนทั้งทุนคน วัตถุดิบเครือข่าย ทุนการตลาด และทุนทางความรู้ โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่ดูมา แต่นำมาวิเคราะห์ให้เข้ากับท้องถิ่น และเหมาะสมกับผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้กลับคืนถิ่น เพื่อสืบทอดแนวคิดเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนด้วย”
ยังมีแผนจะยกระดับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 50-60 แห่งในเชียงใหม่เพื่อร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม และนำโมเดลที่ได้มาพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ที่ผ่านมาเกษตรอินทรีย์ในประเทศนั้นพร้อม ในกระบวนการผลิต แต่ขาดการจัดการด้านการตลาด ทั้งการจัดตั้งตลาดเกษตรกร สหกรณ์ ผู้บริโภค ตลาดนัด และร้านค้า จากปัจจุบัน คือ ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีเกือบ 20 จุด กระจายทั้งในตัวเมือง เปิดจำหน่ายจุดละ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์
“เราไปดูโมเดลธุรกิจใหม่ๆเพื่อตอบสนองตลาดในเรื่องอาหารปลอดภัย ไม่จำกัดแค่ในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างที่เรียกว่า Organic For All ไทยจะต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ คนท้องถิ่น จะต้องร่วมมือกันทั้งองค์กรท้องถิ่น เกษตรกรผู้ผลิต ร้านอาหาร ผู้บริโภ ค และการแบ่งหน้าที่กันอย่างเหมาะสม จากนี้ไปทิศทางเกษตรอินทรีย์คงสดใส เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจการเกษตรแบบยั่งยืน”
การทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นทางเลือกของการแก้ปัญหาการทำเกษตรตามฤดูกาลที่มักจะประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ผู้บริโภคเริ่มรับรู้ และยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อแลกกับการรับประทานอาหารปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยและโลกไปแล้ว
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 2 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.