แต่ถ้าซูมเข้ามาใกล้ๆ จะเห็นว่าหลายพื้นที่กำลังไปได้ดีกับแนวทาง ลด-ละ-เลิกปลูกข้าวโพด เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าบนรากฐานภูมิปัญญาของชุมชน
‘สันติสุข’ อำเภอซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ถูกถากถางว่าเป็นเมืองหลวงของข้าวโพด ทว่า ท่ามกลางภาพสีหม่นของภูเขาหัวโล้นและการโยนบาปให้ชาวบ้าน ความพยายามปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อฟื้นฟูป่าเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ณ บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ และถือเป็นต้นแบบของปฏิบัติการถอนพิษข้าวโพดที่รับประกันความยั่งยืน
เลิกยาก แต่เลิกได้
พ้นถนนสายน่าน-สันติสุข ที่ในอดีตถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ลำเลียงไม้จากการสัมปทาน ลัดเลาะสู่พื้นที่บ้านโป่งคำ ข้าวโพดที่ยืนต้นรับน้ำฝนเริ่มบางตาลงไป ไม้ใหญ่ปรากฎตัวให้เห็นเป็นระยะ ก่อนจะมองเห็นสวนเกษตรที่เต็มไปด้วยไม้ผล แปลงผัก บ่อปลา และสัตว์อาหารอีกหลากลายชนิด
ทิล บังเมฆ อดีตผู้ใหญ่บ้านโป่งคำ เล่าว่าเมื่อก่อนก็ปลูกข้าวโพดเหมือนกับคนอื่นๆ แต่พอเริ่มมีปัญหาสุขภาพ เห็นคนใกล้ตัวเจ็บป่วย อดสงสัยไม่ได้ว่าสาเหตุอาจจะมาจากสารเคมี จึงพยายามหาทางเลือกอื่นในการทำมาหากิน กระทั่งได้เข้ามาที่ศูนย์เรียนรู้วัดโป่งคำ ซึ่งมีพระครูสุจิณเป็นผู้อำนวยการ ท่านได้ให้ทั้งความรู้และกำลังใจในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่รูปแบบของเกษตรผสมผสาน หรือที่คนที่นี่เรียกว่า ‘เกษตรปราณีต’
“ท่านพยายามหาผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาเป็นครูให้พวกผมได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชผัก ทุกเรื่องเลย แม้แต่เรื่องของอาชีพใหม่ๆ ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ จนเกิดความมั่นใจและนำไปทดลองใช้ในพื้นที่ของตัวเอง”
ผู้ใหญ่ทิล ย้อนอดีตว่าเหตุที่เลือกปลูกข้าวโพดเป็นเพราะพื้นที่บริเวณนี้มีความลาดชัน ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้ปลูกพืชชนิดอื่นยาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก ไม่มีทุนก็ทำได้
“ทาง พ่อค้าคนกลางเขามีทุนให้ ใครอยากทำข้าวโพดก็มากู้ได้ แต่ขายคนอื่นไม่ได้นะ เพราะว่าเอาทุนเขามา แล้วเขาก็กดราคาเราด้วย อีกแบบหนึ่งคือไปกู้แบงค์ พอขายปุ๊บก็เอาเงินไปคืนเขา เหลือเศษเท่าไหร่ก็ได้แค่นั้น พอจะทำต่อก็จำเป็นต้องไปกู้เขาอีกเรื่อยๆ” ผู้ใหญ่ทิล บอกว่าแม้มันจะนำมาซึ่งวงจรหนี้สินไม่รู้จบ แต่เหตุที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงไม่เลิกปลูกข้าวโพด เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอาชีพใหม่อย่างไร ไม่มั่นใจว่าจะมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงครอบครัวหรือไม่ ที่สำคัญคือยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบทั้งต่อตัวเองและสภาพแวดล้อม
“ทุกวันนี้ถามว่าทำเกษตรปราณีตกับเกษตรเชิงเดี่ยวมันต่างกันอย่างไร เกษตรปราณีตคือเราต้องอยู่กับมัน อยู่กับพื้นที่ ต้องรักมัน ต้องละเอียดมาก ทำไปศึกษาไปด้วยว่าพืชชนิดไหน เป็นอย่างไร ปลูกได้กับพื้นที่ไหม แต่ถ้าเราปลูกพืชเชิงเดี่ยว มันก็จะไม่ค่อยปราณีตเท่าไหร่ พอถึงฤดูกาลเราก็ปรับพื้นที่ เตรียมเมล็ดพันธุ์ พอถึงช่วงเก็บเกี่ยว ก็เก็บขาย ไม่ค่อยจะยากเท่าไหร่”
เจอโจทย์อย่างนี้ หลายคนจึงเบือนหน้าหนีตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่ผู้ใหญ่ทิลก็ไม่ลดละที่จะชักชวนคนอื่นๆ ให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยวิธีการบ้านๆ คือจับเข่าคุยกัน
“ผมเปรียบเทียบให้เขาฟังว่า ระหว่างทำข้าวโพดกับทำเกษตรอินทรี ย์ ผมมีเนื้อที่อยู่ 15 ไร่ ปลูกข้าวโพดประมาณ 40 กิโลกรัม ใช้ต้นทุนทั้งหมดประมาณ 40,000 กว่าบาท(ต่อปี) ผลิตข้าวโพดได้ประมาณ 120 กระสอบ ปีที่ผ่านมาขายได้ 60,000 กว่าบาท กำไรก็ 20,000 กว่าบาท ทำกันสองคนก็เฉลี่ยกัน ทีนี้มาเปรียบเทียบที่ผมทำเกษตรปราณีต ในพื้นที่ 1 แปลง ผมทำบ่อกบ 2 บ่อ เล้าไก่ 1 เล้า คอกหมู 1 คอก แล้วก็แปลงผัก โรงเรือนปลูกพวกพริก มะเขือ ฝักแฟง ในเนื้อที่ประมาณ 2 งาน พื้นที่ที่เหลือก็ทำอย่างอื่น เฉพาะฟักแฝงผมขายได้ 16,000 บาท หักต้นทุนประมาณ 2,000 เป็นค่าปุ๋ยอินทรีย์ แล้วผมจะได้จากหมู กบ ไก่ ได้จากพืชผักอย่างอื่นอีก พริกมะเขือแทบไม่ได้ซื้อ คิดคร่าวๆ ว่าในหนึ่งไร่หนึ่งแสนนี่น่าจะเกิน”
รายได้ดี แต่มาทีละนิดทีละหน่อย บางชนิดได้เป็นรายวัน บางอย่างเป็นรายเดือน ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่รายปีเหมือนข้าวโพด แต่ก็ไม่ต้องหักกลบลบหนี้กับใคร แถมยังไม่ต้องห่วงเรื่องสารเคมี ทั้งจากการฉีดพ่นและผักที่ซื้อมาจากตลาด
ตัวอย่างดีๆ อย่างนี้ที่บ้านโป่งคำไม่ได้มีเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่อย่าง อนุศิลป์ อินต๊ะพันธ์ หนุ่มน่านที่ตัดสินใจหันหลังให้กทม.กลับบ้านเกิดมาเป็นเกษตรกร ก็ใช้พื้นที่ของตนสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยาก‘เปลี่ยน’
“ตอนกลับ มาอยู่บ้าน ผมไม่รู้จะทำอะไร พ่อทำข้าวโพดก็ชวนทำ ผมเลยลองทำดู ปีแรกก็จดทุกอย่างเลยครับ ลงทุนไปเท่าไหร่ ค่าจ้างอะไรเท่าไหร่ ปีนึงก็ลงทุนไปประมาณ 60,000 บาท(ต่อปี) ตอนขายได้ประมาณ 80,000 ทำสองคน ได้กำไรประมาณ 20,000 บาท มาคิดแล้วไหนเราจะต้องเจอกับสารเคมี สุขภาพก็ไม่ได้แล้ว พ่อก็แก่ลงทุกวัน ถ้าจะทำต่อไปต้องจ้างเขา ก็มาคุยกับพ่อว่าถ้าพ่อจะทำต่อ ผมไม่ทำแล้วนะ ปีหน้าผมจะทำเกษตรปราณีต ผมไปดูงานมาแล้วหลายที่ ในพื้นที่มีทุกอย่าง เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยง ปลา ปลูกผักสวนครัว มีอาหารทุกอย่างในสวน แล้วผมก็ตั้งใจจะทำเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน เพราะว่ามันเป็นรากอาหารของเรา ถ้าเราไม่อนุรักษ์ก็ต้องไปซื้อของบริษัทมา แต่ถ้าเราผลิตเอง นอกจากจะลดต้นทุนแล้วยังเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมให้อยู่ต่อไป”
เขาว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ถูกหาว่า “บ้า” ไม่รู้กี่ครั้ง ยิ่งตอนที่เอ่ยปากว่าอยากมีนาขั้นบันได... “ปี 53 ตอนมาขุดนาบางคนเขาว่าบ้าหรือเปล่า จะเอาน้ำที่ไหนมาใส่ มันสูง แต่ผมก็ทำจนได้ ตอนนี้ไม่ต้องซื้อข้าวกินแล้ว เลี้ยงวัว 7 ตัว ตัวผู้เราก็ขาย ตัวเมียเก็บไว้ เแหล่งอาหารก็มีหน่อไม้ มีเห็ด มีผักหวานป่าอะไรพวกนี้ แล้วก็ปลูกไม้ผลร่วมกับป่า ส่วนรายได้อีกด้านก็คือทำเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านขาย ขายดีมากครับ ได้กำไรเยอะกว่าข้าวโพดเยอะ”
เรียกว่าลงแรงมากขึ้นอีกนิด ให้ใจกับมันอีกหน่อย ก็จะพบกับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทุกวันนี้เกษตรกรต่างรุ่นแต่ใจเดียวกันยังคงขยายความคิดไปสู่คนอื่นๆ โดยผู้ใหญ่ทิลบอกว่า ใครสนใจทำเกษตรผสมผสานตอนนี้ไม่ยากแล้ว เพราะในพื้นที่มีโครงการสร้างฝาย สร้างอ่างเก็บน้ำ มีระบบนำน้ำเข้าในแปลง สามารถปลูกพืชได้ทุกฤดูกาล" ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “เกษตรปราณีต เหนื่อยแต่มีความสุขนะ”
ปัจจุบันพื้นที่บ้านโป่งคำมีเกษตรกรนอกกระแสแล้ว 53 ครอบครัว เปลี่ยนพื้้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นเกษตรผสมผสานได้มากกว่า 500 ไร่ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ใหญ่กว่า นั่นคือการฟื้นฟูพื้นที่ป่ารักษาทรัพยากรซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่คนน่านบ้านนี้ขอจัดการเอง
สวมหมวกให้ภูเขา ใส่รองเท้าให้ตีนดอย
“ข้าวโพดมา...ป่าหาย” เป็นตรรกะง่ายๆ ที่แทบจะไม่มีใครปฏิเสธ แต่หากต้องการแก้ปัญหาพืชเชิงเดี่ยวรุกรานพื้นที่ป่าคงต้องย้อนไปถึงที่มาของความยุ่งยากในวันนี้ พระครูสุจิณ นันทกิจ เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ ลำดับเหตุการณ์ให้ฟังว่า
"เมื่อปี 2512 ตอนนั้นอาตมายังเด็กๆ เห็นข้าวโพดมันมาพร้อมกับการสัมปทานป่าเมืองน่าน ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดลงไป แล้วก็มีพืชเศรษฐกิจคือข้าวโพดเข้ามา แต่ช่วงนั้นก็ไม่รุนแรงเท่าไหร่ เกษตรกรทำเท่าที่กำลังของตัวเองจะทำได้ แต่ว่ามันมาแรงอีกครั้งก็ปี 2518-2529 หลังจากที่มีการสัมปทานป่าจนไม้ใหญ่หมดไป คนที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางคนมีกำลังพอก็ไปเอาไม้ซ้ำสองออกไป พื้นที่ตรงนั้นเลยกลายเป็นที่ปลูกข้าวโพดเพราะว่ามันเป็นพืชชนิด เดียวที่ปลูกแล้วได้ขาย มีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ หลังจากนั้นก็หยุดไปพักหนึ่ง คราวนี้กลับมารุนแรงมากในปี 2539-2540 ช่วงฟองสบู่แตก อันนี้คนหนีจากกรุงเทพกลับมาแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร มีที่ดินอยู่ก็กลับมาถากถางแล้วปลูกข้าวโพด
แรกๆ ก็ทำด้วยแรง แต่ระยะหลังมันมีเครื่องทุ่นแรง เข้ามา อย่างเช่น เลื่อยยนต์ เลื่อยโซ่ ต้นไม้ก็ไม่ต้องใช้แรงคนไปตัด เคยดายหญ้าเองก็ใช้ยาฆ่าหญ้า สายพ่นเมื่อก่อนยาวแค่ 10-20 เมตร ใช้แบบสะพายหลัง ตอนหลังก็กลายเป็นกั้นลำห้วยแล้วใช้สายยาวขนาด 300 เมตร 500 เมตร คราวนี้ไร่ข้าวโพดมันก็คลุมภูเขาทั้งลูก อันนี้ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น แล้วจุดเด่นของข้าวโพดคือมันง่ายตรงที่ว่าเมล็ดพันธุ์อะไรก็ไม่ต้องไปหายาก ไม่มีเงินก็ทำได้เพราะมีแหล่งทุน ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นทุนที่เป็นทางการ ทุนที่ไม่เป็นทางการ ใครไม่มีก็สามารถไปเชื่อมาได้ กู้ยืมได้ แล้วเวลาขายไม่จำเป็นต้องแบกหรือหาบไปขายตามท้องตลาด มีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ แล้วก็แย่งกันซื้อด้วย แต่บังเอิญว่าราคามันอยู่กับพ่อค้า"
“ปลูกง่าย ขายคล่อง” กลายเป็นแรงดึงดูดให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดกันขนานใหญ่ แม้ว่าจะต้องแลกด้วยทรัพยากรในท้องถิ่นและสุขภาพของตนเอง แต่พวกเขาก็หวังว่ามันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดี ทว่าความจริงกลับตรงกันข้าม
“จุดอ่อนคือ ข้าวโพดเป็นพืชที่เกษตรกรไม่สามารถ พึ่งตนเองได้ ต้องพึ่งข้างนอกทั้งหมด ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ แม้แต่การต่อทุนยังต้องพึ่งภายนอกเป็นหลัก เมื่อพึ่งภายนอกก็มองเห็นความยั่งยืนค่อนข้างจะลำบาก”
ในสายตาของผู้ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติด้วยความเป็นห่วง พระครูสุจิณ จึงได้ริเริ่มต้นโครงการ “สวมหมวกให้ภูเขา ใส่รองเท้าให้ตีนดอย” และผลักดันแนวคิดนี้อย่างจริงจังในช่วงปี 2551-2552
“เมื่อป่าหายไป ดินก็เสื่อม น้ำก็หาย อาหารมันก็หดหายไปด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเราปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ ถ้าเราไม่ฟื้น มันก็จะมีปัญหา ปัญหาคือคนจะอยู่ในหมู่บ้านชุมชนลำบาก”
วางรูปแบบไว้คร่าวๆ ว่า ต้องเริ่มจากการฟื้นฟูป่าเพื่อเติมน้ำให้แหล่งน้ำธรรมชาติ คืนทรัพยากรต้นทุนให้ชุมชน จากนั้นจึงพัฒนาคนเพื่อให้คนมาจัดการน้ำจัดการป่า แต่กว่าจะไปถึงปลายทางได้ ต้องผ่านบันไดขั้นแรก นั่นคือ การเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้เป็นป่า
“การเริ่มต้นไม่มีอะไรง่าย พระอาจารย์มองว่าวิถีเกษตรมันไม่ใช่ว่าเราขาดอะไร แล้วคนอื่นมาเติม อันนั้นมันไม่ยั่งยืน วิถีเกษตรมันจะคงความยั่งยืนได้ มันต้องอาศัยบริบทในพื้นที่ตรงนั้น เราจะทำอย่างไรให้ดินมันดี เราจะทำอย่างไรให้มีน้ำที่ดี เราจะทำอย่างไรให้คนมันดี เมื่อสามสิ่งดีมันก็จะสัมพันธ์กัน”
คำถามแรกๆ ที่นำไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนวิธี คิดของชาวบ้านคือ “ทำไมเขาปลูกข้าวโพด 30 ไร่ แต่ไม่เอา 30 ไร่มาปลูกไม้สัก ปลูกป่า ปลูกอะไร แล้วก็หาผลผลิตจากตรงนั้น ภายใน 3 ปี 5 ปี มันน่าจะได้มากกว่า ทำไมเอาชีวิตไปแลกกับเงินที่ได้จากการปลูกข้าวโพด ซึ่งมันไม่คุ้ม ก็เลยคิดว่าถ้าเราจะฟื้นคืนพื้นที่ตรงนี้มาจะต้องทำอย่างไร”
หลังจากได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน คำตอบที่ได้คือเขามองไม่เห็นปัญหาและมองไม่ออกว่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร โมเดลเริ่มต้นจึงต้องมีตัวช่วย...
“สมมติเขามี 30 ไร่ เราช่วยปรับพื้นที่ให้มันเหมาะสมกับการเพาะปลูก 3 หรือ 4 ไร่ ทีเหลือปล่อยให้เป็นป่า อันนี้เป็นโครงการที่พระอาจารย์เรียกว่า สวมหมวกให้ภูเขา ใส่รองเท้าให้ตีนดอย หมายความว่าทำอย่างไรให้ภูเขาหัวโล้นมีต้นไม้เหมือนโดนสวมหมวก แล้วเราจะทำอย่างไรให้ขอบลำห้วยลำคลองที่เป็นคลองธรรมชาติขึ้นมาสัก 50 เมตร มีพืชผักพื้นบ้านเป็นตัวกรองเมื่อฝนตกลงมาชะล้างหน้าดิน มันจะทำให้ตรงนั้นมีปุ๋ยด้วย แล้วก็ไม่ทำให้ลำห้วยลำคลองตื้นเขิน เมื่อมีน้ำแล้วพวกปูปลาสัตว์น้ำก็เข้ามาพืชผักก็จะขึ้นมา เหมือนเราสวมรองเท้าลงไป”
จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ขยายออกไปเป็นเครือข่าย ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่กว่าจะเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนความเคยชินของชาวบ้านได้ต้องใช้เวลา โจทย์ท้าทายอย่างนี้พระอาจารย์บอกว่าต้องใช้ทั้งข้อมูลและศรัทธา
"ต้องพูดคุยกันบ่อยๆ ที่สำคัญคือพระอาจารย์พูดแล้วมีข้อมูลมานำเสนอด้วย เช่น เราเก็บข้อมูลมาว่าถ้าเราปล่อยป่าทิ้งไว้สัก 3 ไร่ ในป่านั้นจะมีพืชสมุนไพรเท่าไหร่ มีพืชอาหารเท่าไหร่ แล้วปีหนึ่งเก็บเห็ดได้เท่าไหร่ หน่อไม้ได้เท่าไหร่ ลองมาคำนวนเป็นมูลค่า มันก็เห็นตัวเลข ชาวบ้านเขาก็เห็นภาพ แล้วนอกจากฐานข้อมูล พระอาจารย์ว่าเรื่องการสร้างแรงจูงใจก็สำคัญ บางครั้งเขาถามว่าไม่ให้ปลูกข้าวโพด แล้วจะให้ทำอะไร พระอาจารย์ก็บอกว่า ปลูกอะไรก็ได้ที่มันกินได้ แล้วโยมกินอะไรบ้างล่ะ ให้แต่ละคนเล่ามา เมื่อเล่ามามันก็จะเป็นข้อมูลให้เห็นว่าทุกวันนี้สิ่งที่กินไม่ได้ปลูก ต้องไปซื้อที่ตลาด ก็ถามเขาว่าแล้วแพงมั้ย ถ้าปลูกเองโยมก็ไม่ต้องซื้อ ไม่ซื้อก็เท่ากับว่าเราปิดกระเป๋าสตางค์
ถามต่อว่าแล้วจะเพิ่มรายได้ได้อย่างไร ก็บอกไปว่าเอาอย่างนี้ อันไหนที่พระอาจารย์ช่วยได้จะช่วยหนุน อันไหนที่ช่วยไม่ได้พระอาจารย์จะเป็นตัวเชื่อมองค์กร หน่วยงานที่เข้ามาเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การปรับจากที่ลาดชันมาเป็นแปลงที่ปลูกพืช มันต้องใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ เดี๋ยวประสานกับหน่วยงานให้ ชาวบ้านเขาก็ดีใจ แต่ว่าทักษะในการผลิตมันอยู่ที่พวกโยมนะ สมมติโยมอยากจะได้วันละ 300 บาท ในพื้นที่ 3 ไร่ อาตมาไม่สามารถจะทำให้ได้ มันอยู่ที่โยมว่าต้องปลูกอะไรบ้าง ไม่ต้องมาก ปลูกมะเขือให้ขายได้วันละ 10 บาท พริก 10 บาท ถั่วฝักยาว 10 บาท ตำลึง 10 บาท ถ้า 10 อย่างก็ได้ 100 บาท ถ้า 30 อย่าง มันก็ได้ 300 บาทแล้วใช่มั้ย แต่สมมติถ้าเราอยากจะได้เดือนละ 15,000 มันต้องเพิ่มปศุสัตว์ลงไป เพิ่มประมงลงไป จากขายผัก 300 บาท ขายปลาขายกบไปอีกสัก 100 บาท ขายไก่ไปอีกสัก 100 บาท มันก็กลายเป็นวันละ 500 บาท เดือนนึงก็พอๆ กับคนที่จบปริญญาตรี"
คำอธิบายง่ายๆ แต่ดูมีความหวังนี้ ไม่เพียงโน้มน้าวใจชาวบ้านได้ ยังทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ขณะที่ความฝันที่จะเห็นภูเขาหัวโล้นปกคลุมด้วยสีเขียวๆ ของต้นไม้ก็เริ่มมีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับหมุดหมายที่จะลด-ละ-เลิกการปลูกข้าวโพดเพื่อคืนสันติสุขให้อำเภอแห่งนี้
เปลี่ยน‘อำนาจ’ เป็น‘อำนวย’
ถ้าจะถอดรหัสความสำเร็จในการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ของบ้านโป่งคำ คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “กระบวนการมีส่วนร่วม” ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมระหว่าง ชาวบ้าน พระ และกองหนุนด้านวิชาการ อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น
“โครงการการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรผสมผสาน เข้ามาสนับสนุนชุมชนในการปรับเเปลี่ยนทั้งเรื่องของแนวคิดและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับพืชเชิงเดี่ยว เริ่มต้นจากการสืบค้นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มันมีผลกระทบหลายๆ ด้าน แล้วมาคุยกันว่าเราน่ารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะช่วยกันทบทวน เรียนรู้สถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยมีวัดและพระอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งกระบวนการผลิตและเศรษฐกิจรายได้อะไรต่างๆ” อภิสิทธิ์ ลัมยศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าว
และแม้ว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนฐานคิดและการตัดสินใจของชาวบ้าน จะมีพลังในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ สู่ความยั่งยืนได้ แต่ความกังวลของหลายๆ ฝ่าย ยังอยู่ที่โยบายของรัฐที่เข้าข่าย “คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ไดคิด”
“ระบบราชการที่เข้ามาส่งเสริมชาว บ้าน ส่วนใหญ่มาสอน แต่ไม่ได้สร้างแรงจูงใจ ใช้เรื่องของอำนาจ ไม่ใช้ขบวนการอำนวย อำนาจก็เหมือนว่ามาชี้ผิดชี้ถูก แต่ว่าอำนวยหมายความว่าจะมาส่งเสริมให้เขามีส่วนในการรับผิดแล้วก็ชอบตรงนี้” พระครูสุจิณ วิเคราะห์และว่าบางครั้งต้องมองให้ชัดถึงสาเหตุที่ชาวบ้านเลือกปลูกข้าวโพดมากกว่าอย่างอื่น
“บางคนเขาปลูกข้าวโพดก็เพื่อที่จะ ได้เงินตอบแทน เพราะเวลาข้าวโพดมีปัญหา เกิดภัยแล้ง วาตภัย ดินถล่ม รัฐบาลประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ก็ได้เงินชดเชยแล้ว มันง่ายมากๆ ขณะที่เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ขนาดไปขึ้นทะเบียนพืชผักที่ปลูกไว้ เขายังไม่รับเลย”
“แรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมารัฐมองเกษตรกรที่ปลูกพืชแค่สี่อย่าง คือ ข้าว ยางพารา มันสัมปะหลัง และข้าวโพด มีกองทุนเข้าไปแทรกแซง แต่ว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน ขึ้นทะเบียนก็ไม่ได้ ตลาดก็ไม่มี”
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ปี 2558-59 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.9% ขีดเส้นใต้ตรงอำเภอสันติสุขว่า 48% ได้กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก่อนที่จะชี้นิ้วมาที่ชาวบ้านว่าเป็นคนทำลายป่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมองตามนิ้วที่เหลือว่าชี้ไปที่ใครบ้าง
“ถ้ารัฐบาลไม่อนุญาตให้นายทุนนำเข้าพวกสารพิษสารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี อะไรแบบนี้เข้ามา เกษตรกรไม่มีปัญญาที่จะทำการเกษตรในพื้นที่ใหญ่ๆ หรอก มันเป็นความอ่อนแอของกลไกรัฐที่คุณไม่สามารถดูแลสภาพพื้นป่าได้ เมื่อคุณดูแลไม่ได้ คุณยังปฏิเสธการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นที่อยากจะช่วยดูแลอีก” พระนักพัฒนาแห่งบ้านโป่งคำ เอ่ยถึงจำเลยแรกที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ขณะที่อีกหนึ่งกลุ่มซึ่งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ก็คือ ผู้บริโภค เพราะไม้ทุกต้นที่ถูกตัดไปเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สัตว์เหล่านั้นเป็นอาหารในชีวิตประจำวันที่ทุกท่านคุ้นเคย
“เราก็ไม่ได้เรียกร้องให้คุณมาช่วยคนน่านฟื้นฟูป่า แต่อยากได้กำลังใจและแรงจูงใจให้กับกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะเปลี่ยนแปลง”
ผู้ใหญ่ทิล ในฐานะเกษตรกรผู้หันหลังให้กับบข้าวโพด ยืนยันว่าหลายคนไม่อยากทำร้ายตัวเองแต่ไม่มีทางเลือก ส่วนชาวบ้านที่เลือกเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร
“ที่ผ่านมาชาวบ้านเสนอแผนในการลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชอินทรีย์ แต่เขาไม่ค่อยเห็นความสำคัญของแผนที่ชาวบ้านเสนอ แล้วจะมาโทษว่าเกษตรกรเป็นผู้ทำลายป่า พูดก็พูดไปเถอะ ถ้าอยากจะให้ชาวบ้านลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดก็ต้องฟังหน่อย ...ฟังเกษตรกรบ้าง”
เสียงชุมชนอาจไ่ม่ดังพอ ป่าของชุมชนอาจไกลเกินมองเห็น แต่อย่าลืมว่าด้วยพลังของชุมชนเท่านั้นที่จะพลิกฟื้นผืนป่าได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.