เหมือนโชคไม่เข้าข้าง... โดยเฉพาะบรรดาชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่าจะถูก “เคราะห์ซํ้ากรรมซัด”ไม่เว้นว่างกันทีเดียว ไหนจะราคาพืชผลเกษตรตกตํ่า ไหนจะขาดแคลนนํ้าในการเพาะปลูก
ณ วันนี้ เวลานี้ เชื่อเถอะค่ะว่า คนไทยในหลายพื้นที่กำลังตกอยู่ในอาการ “ชื่นฉํ่าอุรา” กันเป็นแถว ก็...แหมสารพัดอิทธิพล สารพัดพายุ สารพัดหย่อมกดอากาศ ทั้งหลายแหล่ ได้แปรผันให้ช่วงนี้ ประเทศไทยมีฝนตกชุกถ้วนหน้าทีเดียวล่ะค่ะ
ก็ว่ากันไม่ได้หรอกนะ เพราะพิษของสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปรไป ได้กลายเป็นปัจจัยหลักปัจจัยสำคัญของทุกพื้นที่ในโลกกลมๆใบนี้กันไปซะแล้ว
แต่ก็แปลก!! บรรดาพระพิรุณฝนฟ้าที่ตกกันลงมาน่ะ แม้หลายพื้นที่หลายคนจะรู้สึกฉํ่าชุมไปทั่วสารร่าง แต่เชื่อกันมั๊ยคะว่า ส่วนที่เดือดร้อน หรือพื้นที่ที่เดือดร้อนจริง ๆ หรือที่ต้องการนํ้าจริง ๆ กลับไม่ได้รับประโยชน์จากฝนที่ตกกันลงมานะเวลานี้เลย บางพื้นที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ บางพื้นที่อาจได้บ้างแต่เพียงเศษเสี้ยว
เหมือนโชคไม่เข้าข้าง... โดยเฉพาะบรรดาชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่าจะถูก “เคราะห์ซํ้ากรรมซัด” ไม่เว้นว่างกันทีเดียว ไหนจะราคาพืชผลเกษตรตกตํ่า ไหนจะขาดแคลนนํ้าในการเพาะปลูก
เรื่องนี้...ไม่ใช่ว่ารัฐบาลของ “ลุงตู่” จะไม่ได้เตรียมรับมือไว้แต่อย่างใด เพราะรู้กันมาตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลอยู่แล้วว่าต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างหนักหนาสาหัส
ดังนั้น! เรื่องการร้องขอให้ชาวนาทั้งหลายงดปลูกข้าวนาปรัง จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า ด้วยนโยบายหาเสียงแต่สร้างหนี้ให้คนทั้งประเทศอย่าง “รับจำนำข้าวทุกเมล็ด” น่ะทำให้คนไทยแห่กันมาปลูกข้าวเพื่อหวังกอบโกยกำไรกันเป็นแถว
ด้วยเหตุผลนี้...ก็ปฎิเสธกันไม่ได้ว่าทำมั๊ย ทำไม แผนการชักชวนชักจูงให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรังในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่สำเร็จทั้ง 100% เสียที เรื่องของเงิน เรื่องของรายได้ ก็ไม่เข้าใครออกใครหรอกนะ
ที่สำคัญแม้ว่ารัฐบาลได้ชักชวนชักจูงด้วยการว่าจ้างให้เข้ามาลอกท่อ ลอกคูนํ้า ลอกคันนา ด้วยโครงการตำบลละ1 ล้านบาท เพื่อแก้ภัยแล้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 โน่น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สัมฤทธิ์ผล อาจเป็นเพราะปัญหาสารพัดในเชิงของการปฏิบัติที่ไม่จูงใจไม่ดึงดูด จึงทำให้บรรดาชาวนา ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ส่วนนโยบายใหม่ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล “ประยุทธ์ 3” ที่พยายามนำเสนอ จูงใจ ให้ชาวนา หันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้นํ้าน้อยแทนการปลูกข้าว โดยรัฐบาลเข้าไป “เช่า” ที่นาของเกษตรกร แล้วก็ “ว่าจ้าง” ให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นที่ใช้นํ้าน้อยแทน จากนั้นเมื่อได้ผลผลิตก็นำมา “แบ่งปันรายได้” ซึ่งกันและกัน ตามสมการ “เอ็กซ์ วาย แซด”
แม้ตัวนโยบาย ไม่ได้แตกต่างกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน และอาจทำให้จูงใจชาวไร่ชาวนาได้เป็นอย่างดี เพราะชาวไร่ชาวนาสามารถมั่นใจได้ทันทีว่า “ได้เงินแน่ๆ” เพราะรัฐบาลจ้าง เปรียบเทียบกับนโยบายเดิมที่ให้งดปลูกข้าวนาปรังเฉยๆ แล้วไปของานของส่วนราชการทำ ซึ่งไม่รู้ว่าได้หรือไม่ได้
ไม่เพียงเท่านี้นอกจากได้เงินค่าจ้างแน่ๆ แล้ว ยังได้เงินค่าเช่าที่อีกแน่ ๆ เท่านี้ยังไม่พอ ยังได้ผลประโยชน์จากการแบ่งปันผลผลิตร่วมกันกับรัฐบาลอีก เรียกว่า... แค่งดปลูกข้าว แต่กลับได้รายได้ถึง 3 ต่อ คิดง่าย ๆ เวลานี้ถ้าไม่รับนโยบายนี้ก็แย่แล้ว
เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องของหลักการมาร์เก็ตติ้ง หรือหลักการทางการตลาด มาดึงดูด มาจูงใจ แต่ในทางปฎิบัติ อาจมีปัญหา เกิดขึ้นได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งล่ะ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “นายกฯลุงตู่” จะส่งทั้งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ทหาร ออกไปเดินลุยพื้นนาทุกพื้นที่เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ ความต้องการของชาวนา ว่าจะเห็นพ้องต้องกันมากน้อยเพียงใด
เห็นนโยบาย เห็นความตั้งใจ ขนาดนี้แล้ว “ช่อชมพู” ก็ขอยกมือสนับสนุนเต็มที่ เพียงแต่ว่า วิธีการนี้จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะหากตราบใดที่ไม่มี “ตัวอย่าง” ไม่มีโครงการ “ทดลอง” หรือโครงการ “นำร่อง” ออกมาให้เห็น ก็เชื่อเถอะว่า การถือกำเนิดเกิดขึ้นของโครงการที่ว่านี้ คงเห็นเป็นรูปธรรมได้ยาก
เพราะขนาด “ผู้คุมนโยบาย” เองยังเห็นต่าง !!!
ทั้งหลายทั้งปวง... คงต้องรอดูกันต่อไปเถอะค่ะ นโยบาย หรือสมการ “เอ็กซ์ วาย แซด” ที่ว่าจะบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้มากน้อยเพียงใด
แต่ที่แน่ ๆ ปัญหา “ภัยแล้ง” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่ชาวนา ชาวไร่ จะเมินเฉย เพราะทั้งหมด คือ เรื่องปากเรื่องท้องของตัวเอง หากไม่สังวรณ์ หรือสำนึก ถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นก็เท่ากับว่า ความเดือดร้อนกำลังจะวิ่งเข้ามาหาตัว
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 12 ต.ค. 2558