ชอบ สรุปราษฎร์ เป็นชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 40/1 หมู่ที่ 4 ตำบลวัดยายงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มีประสบการณ์ทำนามากว่า 20 ปี
ไพรัตน์ สุกใส หรือ โก้ เป็นชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี มีประสบการณ์ทำนามามากกว่า 30 ปี
ชาวนาแห่งอำเภอปากท่อ ทำนาอยู่ 18 ไร่ ปลูกข้าวเจ้า พันธุ์ กข 31
ส่วนชาวนาแห่งอำเภอเขาย้อย ทำนาอยู่ 80 ไร่ ปลูกข้าวเจ้า พันธุ์ กข 31
เดิมทั้ง 2 คน เคยทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง คือนาปีและนาปรัง
“แต่ปีนี้รัฐบาลบอกว่าน้ำไม่มี ทำนาปีได้หนเดียว นาปรังทำไม่ได้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเวลาที่เหลือจะไปทำอะไรเพื่อเป็นรายได้ แถมราคาข้าวที่ขายได้ก็ไม่ดี” พี่ชอบ กล่าว
ในขณะที่พี่โก้บอกว่า ชาวนาในจังหวัดเพชรบุรี ปีนี้ทำนาได้ครั้งเดียวเหมือนกัน
ดังนั้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้ครบ 12 เดือน ก่อนถึงฤดูกาลทำนาปีในปีหน้า
ชาวนาทั้ง 2 จังหวัด ได้เห็นพ้องต้องกันคือ ต้องลดต้นทุนในการทำนาให้ต่ำที่สุด และให้ได้ปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มากที่สุด
การบำรุงรักษาต้นข้าวให้มีความสมบูรณ์ ให้ได้ผลผลิตสูงสุด ทั้งพี่ชอบและพี่โก้ต่างยืนยันเหมือนกันว่า สามารถทำได้
“อย่างผมเริ่มตั้งแต่เมล็ดข้าวพันธุ์เลย ใช้เอนไซม์มาแช่เมล็ดข้าวครับ เพราะได้รับคำแนะนำและเมื่อใช้แล้วได้ผล อัตราการงอกสูงกว่าเดิมมากเลย” พี่ชอบ กล่าว
“ส่วนโรคแมลงก็ต้องป้องกันด้วยการฉีดสารเคมีควบคุมไว้ก่อน เรียกว่าอย่าให้เกิด เพราะเกิดแล้วเราต้องเสียเงินไปซื้อยา” พี่โก้ กล่าวเสริม
แต่ส่วนที่สำคัญและกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ชาวนาทั้ง 2 คน ใน 2 จังหวัด สามารถยังยืนหยัดอยู่ได้เป็นอย่างดีคือ การลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง เพราะถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง
จากประสบการณ์ของทั้ง 2 คน ที่ได้เกิดแนวคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบการใส่ปุ๋ย จากเดิมที่เน้นปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว มาเป็นการใช้ปุ๋ยร่วมกันระหว่างปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนปุ๋ยลดลงอย่างมาก
“ไม่ไหวครับ ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีสูงขึ้นเรื่อยๆ และสภาพดิน สภาพแวดล้อมในนาของผมเริ่มไม่เหมือนเดิม แบบดินไม่ดีเหมือนเดิม เลยตัดสินใจเปลี่ยน เพราะขืนทำต่อไปผมคิดว่าแย่แน่เลย แต่แรกๆ ก็กลัวนะ เหมือนกับชาวนาคนอื่นๆ ที่เขาเป็นกัน กลัวว่าจะไม่ได้ผล แต่ก็ลองหลังจากได้รับคำแนะนำมา นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง
นอกจากลดการใช้ปุ๋ยเคมี ผมยังมาเน้นการเสริมความสมบูรณ์ของต้นข้าวด้วยการฉีดฮอร์โมนทางใบ เอนไซม์ที่ผมใช้เป็นนวัตกรรมเอนไซม์ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาเป็นอย่างดี และบรรจุขวดพร้อมใช้ ใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์และ เคมีได้ผลดีที่สุด เพียงผสมกับถังพ่นยา ขนาด 200 ลิตร ได้ 2 ถังครึ่ง และฉีดพ่นทุก 7-10 วัน ประมาณ 40 ลิตร ต่อ 1 ไร่” พี่ชอบ กล่าวแนะนำ
อีกสิ่งที่พี่โก้ได้แนะนำนอกจากจะปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนแล้วคือในการทำนานั้นอะไรที่ทำเองได้จะทำ ไม่จ้าง แต่อะไรที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองจะเน้นการจ้างแรงงานในพื้นที่เข้ามาช่วย
“อย่างไถนานี่ผมทำเองหมดใช้รถไถเล็กไถเองคนเดียวไม่นานก็เสร็จ แถมเสียค่าน้ำมันเพียง ไร่ละ 1 ลิตร เท่านั้น เพราะถ้าไปจ้าง เราต้องเสียค่าจ้างรถไถ มาไถและตีทำเทือก ตอนนี้อยู่ที่ 670 บาท ต่อไร่ นอกจากประหยัดยังได้ออกกำลัง ของผมตอนนี้มีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละประมาณ 3,000 บาท แต่ที่ต้องจ้างก็มีอย่างเรื่องการฉีดยาป้องกันแมลงศัตรูและโรคข้าว อันนี้ทำไม่ไหวต้องจ้างครับ” พี่โก้ กล่าว
แต่ที่สำคัญทั้ง 2 คน ยังยืนยันตรงกันว่า สามารถลดต้นทุนลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง นั่นคือ ทำให้มีต้นทุนที่ลดลง แต่มีกำไรที่มากขึ้น
ทั้งนี้ พี่โก้บอกว่า อย่างไรปุ๋ยเคมีก็ขาดไม่ได้ จำเป็น ยังต้องใช้อยู่ แต่จะใช้ในปริมาณที่น้อยลง เพียงพอแค่ให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเท่านั้น
เทคนิคการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมในนาข้าวของพี่โก้และพี่ชอบมีข้อสรุปว่า จะเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยใน 1 รอบการทำนา จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์และเคมีร่วมกัน 2 ครั้ง
โดยอัตราปุ๋ยอินทรีย์และเคมีที่ใช้ร่วมกันอยู่ที่ 2 ต่อ 1
“อย่าง ครั้งแรก ต้นข้าวอายุได้ประมาณ 30 วัน ผมจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2 กระสอบ ผสมกับปุ๋ยยูเรีย 1 กระสอบ หว่านให้ทั่วนา และหลังจากนั้นอีกประมาณ 55 วัน หรือต้นข้าวอายุได้ 85 วัน จะใส่ครั้งที่ 2” พี่ชอบ กล่าว
ในขณะที่พี่โก้ได้กล่าวเพิ่มอีกว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ปริมาณการใช้ปุ๋ยก็ลดน้อยลงด้วย
“อย่างแปลงนี้ พื้นที่ 6 ไร่ 4 งาน ผมใช้ปุ๋ยทุกอย่างรวมกัน ใส่ครั้งหนึ่งแค่ 3 ลูก เท่านั้น” พี่โก้ กล่าว
“เหตุผลหนึ่งที่ผมใช้ปุ๋ยในจำนวนที่ไม่มาก เพราะผมใช้วิธีการตรวจสอบคุณภาพดินในนาก่อนว่า ดินของเราเป็นอย่างไร มีธาตุอาหารอะไรที่ขาด ธาตุอาหารอะไรที่เกิน ซึ่งจะมีหมอดินของกรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของบริษัทปุ๋ยอินทรีย์ สามารถมาช่วยตรวจสอบให้ได้ พอเรารู้ว่าดินเราเป็นอย่างไร คราวนี้ก็ง่ายต่อการซื้อปุ๋ยมา ใช้ อย่างการใส่ปุ๋ยของผม ใส่ครั้งที่ 1 จะเน้นปุ๋ยยูเรีย แต่พอใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 จะเน้นปุ๋ยตัวกลางสูง เพราะผมรู้ว่าที่นาผมขาดตัวนี้ จึงต้องเติมให้มากขึ้น และปุ๋ยที่ใช้ผมซื้อแม่ปุ๋ยเคมีมาผสมเองตามวิธีที่เรียกว่า ปุ๋ยสั่งตัด” พี่โก้ อธิบาย
นอกจากนี้ ผลจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ต้นข้าวมีความแข็งแรงมากขึ้น ต้านทานต่อโรคมากขึ้น
“สภาพ ดินก็ดีขึ้นด้วย ไม่แข็งกระด้างเหมือนแต่ก่อน และที่สำคัญจากที่ผมสังเกตพบว่า ต้นข้าวมีความสมบูรณ์ แข็งแรง แตกรากเยอะมาก และหากินได้ไกลมาก จุดนี้ส่งผลทำให้ต้นข้าวแข็งแรง โรคแมลงไม่ค่อยมี และอีกอย่าง ต้นข้าวก็ไม่ล้ม แต่สิ่งที่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวอีกประการคือ สีของต้นข้าว จะไม่เขียวปี๊ด แต่จะออกสีเขียวอ่อนๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นลักษณะที่ดี เพราะไม่ได้เขียวเพราะเน้นการใส่ปุ๋ย แต่เป็นสีเขียวที่เกิดจากความสมบูรณ์ของต้นข้าวเองตามธรรมชาติ” พี่โก้ กล่าวเสริม
การที่ต้นข้าวแข็งแรงและโรคแมลงไม่มี นั่นหมายถึงการไม่ต้องเสียต้นทุนค่าสารเคมีรักษาโรคเพิ่มขึ้น
“ตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมีแบบนี้ ไม่ค่อยพบโรคแมลงอะไรมาระบาดเลย” พี่ชอบ กล่าว
ในขณะที่พี่โก้ได้เสริมเรื่องการป้องกันโรคแมลงแบบภูมิปัญญาชาวนาจังหวัดเพชรบุรีว่า ต้องเน้นทำให้แสงแดดส่องได้ถึงโคนต้นข้าว จะเป็นอีกแนวทางที่ช่วยทำให้การเกิดโรคแมลงระบาดน้อยมาก
จากที่ทั้ง 2 คน มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ปุ๋ย และมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเอนไซม์เข้ามาร่วมด้วย ปรากฏว่าผลผลิตข้าวที่ได้ตลอดช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“มาดูได้ นาผมไร่หนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 ถัง” พี่โก้ กล่าวพร้อมยิ้มกว้าง
ในขณะที่พี่ชอบบอกเช่นเดียวกันว่า ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 90-100 ถัง
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อสร้างให้การประกอบอาชีพสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงของชาวนาทั้ง 2 จังหวัดนี้
ติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่
http://www.facebook.com/Khaosodfarm
ข้อมูล
www.technologychaoban.com
ที่มา : มติชน วันที่ 12 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.