สิทธิอธิปไตยทางอาหารบนผืนดิน
ในอดีตราคาข้าวตกต่ำ มาวันนี้ราคาข้าวสูงขึ้น และยังมีพืชอาหารอีกหลายชนิดอยู่ในสภาวะเดียวกัน ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชอาหารเพื่อส่งออกเป็นหลัก ผู้กำหนดนโยบายในกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการประจำ มุ่งหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมเนื่องจากทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้น โดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า รายได้เหล่านั้นมีการกระจายออกไปหรือไม่
ฐานทรัพยากรและพื้นที่เกษตรกรรมถูกทำลายไป จากการเปลี่ยนพื้นที่ผังเมืองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนไทยในอนาคตอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไร่ชาวนาและคนในภาคชนบทยังพึ่งพาฐานทรัพยากรและการทำการเกษตร ทั้งในการบริโภคและการขาย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างดี
ที่สำคัญฐานการผลิตอาหารที่มาจากฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คนไทยยังมีอาหารไว้กินในราคาที่ถูก และคนไทยมีภูมิปัญญาในการทำอาหารที่มีความหลากหลาย มีการรักษาด้วยการแพทย์พื้นบ้านจากสมุนไพร มีเครื่องไม้ใช้สอย และหัตถกรรม เสื้อผ้า ตลอดจนสินค้าแปรรูปที่มาจากการพึ่งพาทรัพยากร และสร้างรายได้ให้ประเทศไทยจำนวนมาก
โจแซต ชีราน ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Program/WFP) ได้กล่าวในการประชุมลอนดอน ซัมมิต ว่า “โลกกำลังเผชิญกับสึนามิแห่งราคาอาหารที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 6 เดือนข้างหน้า และกำลังส่งผลกระทบต่อคนในทุกทวีปทั่วโลก เสี่ยงต่อการทำให้คนยากจนทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน ต้องดำดิ่งสู่ความหิวโหย”
วิกฤตราคาอาหารโลกจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลควรพิจารณาให้หนัก ถ้าหากให้พืชอาหารผูกติดกับราคาตลาดโลก และราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้น และหวังแก้ไขปัญหาปลายเหตุเพื่อต่อสู้กับราคาพืชผลที่ไม่แน่นอนเท่านั้น ก็จะก่อให้เกิดการทำลายภาคเกษตรกรรมอย่างแน่นอน
การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาคือส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงการผลิตพืชผลตามการขึ้นลงของราคาและความต้องการของตลาดโลก โดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเก็งกำไรในตลาดของนักลงทุนและการกักตุนสินค้าของพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ราคาข้าวหรือพืชอาหารแพงหรือตกต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีปัจจัยตัวแปรหลายประการที่ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภคต้องแบกรับภาระความยากจนจากการฉกฉวยของนักลงทุนและพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบ หากินจากการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ
การแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารจึงต้องทำให้คนไทยมีสิทธิอธิปไตยต่อการมีอาหารกินอย่างพอเพียง และมีฐานทรัพยากรที่พึ่งตนเองได้ภายในประเทศ โดยไม่ถูกตลาดโลกและราคาน้ำมันมากำหนด ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงที่รุนแรงในอนาคต
สิทธิอธิปไตยในอาหารและฐานทรัพยากร (ดิน น้ำ ป่า พันธุกรรม) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการวางแผนในระยะยาวให้ประเทศไทยพึ่งตนเองด้านอาหารในเบื้องต้น และพัฒนาสินค้าจากอาหารและฐานทรัพยากรซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศในการแข่งขันทางการค้าที่ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรมในขณะที่คนไทยยังไม่มีศักยภาพในด้านเทคโนโลยี
ไม่ว่าน้ำมันแพง เงินบาทตกต่ำ หรือมีสงคราม คนไทยยังไม่ตาย ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเมื่อเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก หลายคนที่ทำงานในเมืองและถูกเลิกจ้างกลับบ้านไปทำเกษตรกรรมในภาคชนบท ก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ไม่มีเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าครอบครัวใดยังมีที่ดิน และทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เป็นไทแก่ตนเองหลังถูกเลิกจ้างยังเป็นไปได้
การแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารที่ต้องเร่งกระทำคือการรักษาและพัฒนาที่ดินที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมซึ่งมีจำนวนเนื้อที่ 131 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้จำนวนเนื้อที่ 81 ล้านไร่ ในขณะที่พื้นที่ทั้งประเทศมีเพียงจำนวน 320 ล้านไร่ (ปี 2539) ในสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนเนื้อที่ดินทั้งพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่า รวมทั้งพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่สาธารณประโยชน์ แหล่งต้นน้ำลำธาร ได้ถูกทำลายลง
การรักษาพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งกำลังถูกคุกคามทำลายอย่างรวดเร็ว จากผลพวงของการพัฒนาประเทศให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมต้องดำเนินการในหลายมาตรการ ได้แก่
การวางแผนการใช้ที่ดินที่มีความเหมาะสมกับเกษตรกรรม และมีแหล่งฐานทรัพยากรที่สำคัญต้องรักษาไว้อยู่บริเวณไหนของประเทศบ้าง และมีการคุ้มครองด้วยการใช้มาตรการทางภาษีป้องกันการเก็งกำไรราคาที่ดิน
การออกกฎหมายภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ป้องกันมิให้มีการปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยมิได้ทำประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรกรรม มีการอุดหนุนภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรยังทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อมิให้มีการขายที่ดิน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาหนี้สินที่ล้มเหลวจากราคาพืชผล และการถูกฉ้อโกงหลอกลวงยึดที่ดินด้วยเหตุที่ที่ดินราคาสูงจากการปั่นราคาที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
การวางแผนการปลูกพืชที่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์มีความสำคัญ เพื่อมิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม การสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจของการฟื้นฟูที่ดินขึ้นมาใหม่ การสูญเสียภูมิปัญญาในการผลิตพืชอาหารที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เช่น ข้าว ที่คนไทยต้องกินทุกคน
ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีการทำลายป่า และแย่งชิงน้ำในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ชลประทานที่เหมาะสมกับการทำนาไม่ควรเปลี่ยนมาเป็นปลูกมันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอล พื้นที่ชุ่มน้ำไม่ควรถูกเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซลตามนโยบายสร้างน้ำมันในบ่อดิน
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยการมองเงินเป็นตัวตั้ง จะทำให้เกิดการผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่งที่มีเงินมาลงทุนในผืนดินที่เกษตรกรเป็นเพียงลูกไล่ในการปลูก ไร้ความเป็นอิสระจากการลงทุนลงแรงบนผืนดินที่ตนเองเป็นเจ้าของ โดยการทำสัญญาแบบธุรกิจการเกษตร คือการเบียดขับให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน และในอนาคตจะเหลือเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินและควบคุมปัจจัยการผลิตจำนวนน้อยลง
นอกนั้นคือแรงงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งบรรลุเป้าหมายของนักการเมือง และผู้กำหนดนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น แต่คุณค่าชีวิตของเกษตรกร คนยากจน และผู้บริโภคไร้สิทธิอธิปไตยทางอาหารบนผืนดินที่ถูกกำหนดให้ดำรงชีวิตตามเส้นทางของนักลงทุนและนักการเมือง
เรื่องโดย...ศยามล ไกยูรวงศ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.