โดย...เสรี พงศ์พิศ
คงมีคำถามในใจของหลายคนหลายชาติที่เวทีสหประชาชาติเมื่อได้ยินนายกรัฐมนตรีไทยพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญ คือ จะนำไปใช้ได้จริงหรือ และไทยเองได้ทำเป็นตัวอย่างแล้วได้ผลอย่างไร ไม่เพียงแต่ในระดับครอบครัวและชุมชน แต่ระดับประเทศ
ความจริง หลายคนที่สนใจแนวทางนี้คงคุ้นเคยกับแนวคิดของ อี เอฟ ชูมาเคอร์ จาก “เล็กนั้นงาม” (Small is Beautiful) หนังสือเล่มเล็กที่มีบทหนึ่งว่าด้วย “เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ” ซึ่งน่าจะมีส่วนสร้างฐานคิดหนึ่งให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
นอกนั้น ยังคุ้นเคยกับเรื่องราวเหมือนเทพนิยายของประเทศเล็กๆ แถบหิมาลัยที่ชื่อ “ภูฏาน” ซึ่งเลือก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (GDH Gross Domestic Happiness) แทน GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติเองได้เป็นแกนนำในการเผยแพร่ให้เป็นทางเลือกและการถ่วงดุลการพัฒนากระแสหลักที่ “ไม่ยั่งยืน”
เพราะถ้า “ยั่งยืน” คงไม่ต้องทำปฏิญญาเพื่อ “การพัฒนายั่งยืน” (SDG Sustainable Development Goals) วางเป้าหมายหลักไว้ 17 ข้อดังที่ทราบกัน ขอทดลองเสนอแนวทางเพื่อการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบและเกณฑ์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดผลจริง ไม่ใช่ได้แต่เขียนไว้ในเอกสารตั้งแต่แผนใหญ่ไปถึงแผนกระทรวงทบวงกรม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไปตามกระแสหลักเหมือนเดิม สาเหตุสำคัญ คงเป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจปรัชญานี้ดีพอ ได้แต่ท่องจำสามห่วงสองเงื่อนไข ไม่เข้าใจความหมายล้ำลึกลงไป อันเป็น “หัวใจ” ของปรัชญานี้
ถ้าจะเข้าใจความหมายของ “พอประมาณ – มีเหตุมีผล – มีภูมิคุ้มกัน” เราต้องมีแผนและลงมือปฏิบัติการจริงในการสร้าง “คน – ความรู้ – ระบบ” เพื่อคนจะได้รู้ว่าพอประมาณ คือ มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง หนทางไปสู่การอยู่พอดี กินพอดี พึ่งตนเองได้ และมีความสุข คือ การมีคุณธรรมนั่นเอง
การกำหนดค่านิยม 12 ประการ และให้เด็กผู้ใหญ่ท่องจำไม่ได้ช่วยอะไร เพราะไม่ได้เข้าไปถึงในใจ ถ้าจะให้เกิดในใจ ไม่ใช่ในสมองที่ท่องจำอย่างเดียวก็ต้องให้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะทำได้ถ้าหากมีการวางเกณฑ์และตัวชี้วัด ซึ่งเป็นกิจกรรม รูปธรรมชัดเจนในชีวิตจริง
ลองให้ทุกโรงเรียน ทุกโรงพยาบาล ทุกหน่วยงานราชการทำอย่างที่คุณหมอเกษม วัฒนชัยได้ริเริ่มทำ “โรงเรียนคุณธรรม” “โรงพยาบาลคุณธรรม” ก็ได้ เพราะดูเรียบง่ายดี ทุกคนจำได้ และทำได้ คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ จิตอาสาให้ผู้บริหาร ครู นักเรียน ช่วยกันพัฒนาตัวชี้วัดที่เป็นกิจกรรมว่า ในตำแหน่งหน้าที่การงานและชีวิตจริงของตนเองนั้น ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจิตอาสา แปลว่าอะไร ควรทำอะไรบ้างเพื่อแสดงว่าตนเองมีคุณธรรม 3 ประการนี้ ทำการประเมินปีละครั้งสองครั้งก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดขึ้นจากจิตสำนึกใหม่ แม้ไม่ได้เกิดข้ามคืน แต่ค่อยๆเกิดและอยู่อย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในโรงเรียนต้นแบบที่บางมูลนาก และกำลังแพร่ออกไปในอีกหลายร้อยโรงเรียนและโรงพยาบาลทั่วประเทศ “มีเหตุมีผล” คือ การสร้างความรู้ ก็คือการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินกันอยู่ โจทย์ใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้สังคมไทยเป็นสังคมความรู้ สังคมเรียนรู้ ใช้ความรู้เป็นฐานชีวิต ฐานเศรษฐกิจ ไม่ใช่สังคมที่ลอกเลียนอย่างเดียวแบบ ทำตามๆ กันเพราะคิดไม่เป็น
การศึกษาทุกระดับไม่ได้สอนให้คนคิดเป็น เพราะครูและระบบโดยรวมไม่มีคุณภาพ ถ้าครูยังคิดไม่เป็น จะสอนเด็กให้คิดเป็นได้อย่างไร ถ้าระบบยังใช้อำนาจ การสั่งการ ใช้กฎระเบียบมากกว่าจิตวิญญาณ จะพัฒนาจิตใจคนและวิญญาณแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร ก็คงได้แต่ท่องจำเพื่อไปแข่งขันกันสอบ เป็นนกแก้วนกขุนทองที่ใช้แรงงานมากกว่าสมอง คิดสร้างสรรค์ไม่เป็น รอแต่คำสั่งอย่างเดียว
“มีภูมิคุ้มกัน” คือ การสร้างระบบ เรากำลังประกาศว่า จะสร้างระบบที่ดีที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ขจัดปัญหาความยากจน แต่ต้องลงไปในรายละเอียดว่า จะทำได้อย่างไรถ้าหากเรามีแต่ระบบใหญ่ไม่ว่าเศรษฐกิจ หรือการเมือง ประเภท “หัวโตขาลีบ”
อมาตยา เซน บอกว่า “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง” วันนี้เรามีแต่ระบบเศรษฐกิจใหญ่ ท้องถิ่นเป็นแต่ที่ผลิตแรงงาน วัตถุดิบป้อน รายได้ส่วนใหญ่จึงรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ท้องถิ่นไม่ได้อานิสงส์ ไม่มีระบบที่จะช่วยพัฒนาให้เติบโตเป็นตัวของตัวเอง
วันนี้เรายังไม่ได้เน้นการสร้างระบบ ยังพัฒนาแบบเอาเงินนำหน้าปัญญาตามหลังตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ยังพัฒนาแบบทำโครงการ ไม่สร้างระบบ ชาวบ้านจึงพึ่งงบประมาณ พึ่งรัฐ พึ่งตนเองไม่ได้ สังคมไทยยังไม่มีระบบที่ดีพอ เพราะระบบดีทำเรื่องยากให้ง่ายลง เรื่องซับซ้อนให้ธรรมดา ระบบดีทำให้คนทำถูกได้ง่าย ทำผิดได้ยาก ระบบดีมีความสมดุลในตัวมันเอง เหมือนคนที่สมบูรณ์ สุขภาพดี
คนที่จะร่างรัฐธรรมนูญกันน่าจะมีคุณสมบัติอีกข้อหนึ่ง คือ เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เราได้รัฐธรรมนูญที่มีฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็น “เสาเข็ม” ของตึกใหม่ที่กำลังจะสร้างไม่เช่นนั้น ไม่ต้องถึงขั้นไต้ฝุ่นหรอก ลมพัดมาแรงๆ ก็ไปแล้ว เหมือน 20 ฉบับที่ผ่านมา
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 30 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.