โดย...พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ
แต่ดั้งเดิมมาประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนมากกว่า 70% ของประเทศ ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม วิถีชีวิตของคนไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบทอันเป็นพื้นที่หลักของเกษตรกร เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสามารถพึ่งพาตนเองและท้องถิ่นได้ครบวงจร และสามารถอยู่กับท้องถิ่นได้ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย นั่นหมายความว่าทำให้การสืบทอดทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดหายไปอีกด้วย
จนเมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลชุดที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนหัวก้าวหน้าทันสมัย อยากเห็นบ้านเมืองและประชาชน เจริญแบบประเทศที่ีเคยไปใช้ชีวิตอยู่ จึงประกาศปรับประเทศไทยให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อยากก้าวไปเป็นเสือตัวที่ห้าของประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย
นับแต่นั้นมาประเทศที่มีปัจจัยพร้อมในด้านเกษตรกรรม จึงถูกเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วฉับพลัน แนวคิดและทัศนคติต่างๆ ถูกจับยัดฝังเข้าไปในหัวของประชาชนให้เห็นพ้องว่า การมีชีวิตอยู่กับโลกอุตสาหกรรมมีอนาคตดีกว่าอยู่อย่างรอความกรุณาจากฝนฟ้าในโลกเกษตรกรรม แม้แต่คนที่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ก็ถูกปลูกฝังว่า “ต้องทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้”
เกษตรพอเพียงในพื้นที่ขนาดเล็กเท่าที่มีและทำตามความเหมาะสมของพื้นที่หายไป คนที่พอมีทุนสักหน่อยก็ขยับขยายเพิ่มพื้นที่และ “ปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเกษตรสมัยใหม่” เครื่องมือเครื่องใช้ที่เคยพึ่งพาอาศัยแรงงานจากสัตว์เลี้ยง และแรงงานจากคนในท้องถิ่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็ต้องเปลี่ยนหันไปใช้เครื่องจักรกลให้ดูทันสมัยมากขึ้น โดยมีคำหวานมาหลอกล่อว่าเป็นการ “เพิ่มผลผลิต” โดยลืมบอกกับเกษตรกรทั้งหลายไปว่าในการเพิ่มผลผลิตนั้น ในอีกมุมหนึ่งหมายถึงการที่ต้อง “มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น” ด้วย
เกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินไม่มากนักถูกล่อหลอกจูงใจด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกัน คนทำนาในพื้นที่เพียงแค่ไม่เกินยี่สิบไร่จึงดิ้นรนที่จะต้องมีรถไถนาเป็นของตนเอง เป็นต้น โดยไม่ทันได้คิดว่า ระหว่างการมีทุกอย่างเป็นของตนเอง กับการว่าจ้างผู้อื่นให้มาทำงานแทนนั้น อย่างไหนมีความคุ้มค่าในระยะยาวกว่ากัน
ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น, ระยะเวลาในการทำงานที่สั้นลง เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจากการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงทำให้เกษตรกรของไทยค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไปทีละรายสองราย เพราะทนสู้ค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและค่าใช้จ่ายแฝง จากการทำการเกษตรด้วยหลักวิชาการสมัยใหม่ไม่ไหว เกษตรกรที่ยังคงทนทำอยู่ก็ตกอยู่ในภาวะของลูกหนี้
รายที่ทนไม่ไหวก็ถูกยึดทรัพย์สินที่ดินไปเป็นของสถาบันการเงิน ซึ่ง “นำไปพัฒนา” แล้วขายต่อให้นายทุนทางการเกษตรรายใหญ่ต่อไป หรือไม่อย่างนั้นก็พัฒนาที่ดินเพื่อขายให้เป็นแหล่งที่อยู่ของโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบันนี้จึงกล่าวได้ว่าที่ดินและผลผลิตทางการเกษตรของไทยนั้น ไม่ได้เป็นของเกษตรกรทั่วไปหรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอีกแล้ว แต่ตกไปเป็นทรัพย์สินหรืออย่างน้อยก็อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่า
เพราะเกษตรกรรายย่อย ถูกสอนให้เดินผิดทางจนมาถึงขั้น “ยิ่งทำยิ่งจน” เพราะไม่ยึดติดกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งพาตนเองและท้องถิ่นอย่างที่เคยเป็นมานั่นเองครับ
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 29 ก.ย. 2558