ต้องสารภาพก่อนอื่นว่า ความรู้เรื่องเหมืองแร่ของผมเท่ากับศูนย์ จึงต้องศึกษาค้นคว้าด้วยฐานความรู้และแหล่งข้อมูลที่จำกัด
การดึงเอาสินแร่ที่อยู่ใต้ดินมาใช้ประโยชน์นั้น มนุษย์คงทำมาตั้งแต่ปลายสมัยหินแล้วเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อความต้องการใช้ประโยชน์จากสินแร่มีมากขึ้น เทคโนโลยีก็เข้ามาตอบสนองเพื่อให้ได้สินแร่จำนวนมากๆ ตามต้องการ แต่ต้นทุนของการดึงสินแร่ใต้ดินมาใช้นั้นสูงขึ้นมากจนหลายสังคมรับไม่ไหว ไม่ใช่ต้นทุนที่เป็นตัวเงินนะครับ แต่ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่างหากที่สูงมาก จนผู้ขุดรับผิดชอบไม่ไหว แม้กระนั้นเราก็หลีกเลี่ยงการดึงเอาสินแร่มาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น แต่เราสามารถวางยุทธศาสตร์การดึงสินแร่ของประเทศตนเองให้ไม่ต้องขาดทุนได้
เว้นแต่เหมืองถ่านหินและการขุดเจาะน้ำมันแล้ว การทำเหมืองเพื่อดึงสินแร่อื่นๆ ทั้งหมด เรียกเป็นศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า Hardrock mining คือทำเหมืองเพื่อดึงเอาสินแร่จากหินแข็ง การทำเหมืองประเภทนี้มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสูงมาก ดังผมจะสรุปให้ดูดังนี้
1/ หากทำเหมืองเปิด ซึ่งมักทำกับแหล่งแร่ที่อยู่ใกล้ผิวดิน ก็ต้องเปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้างขวางเพื่อเข้าไปให้ถึงแหล่งแร่ ฉะนั้นจึงทำลายหน้าดินในบริเวณนั้น (เช่นทำลายป่า และความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน) ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือ แล้วจะเอาดินที่ขุดออกมาไปทิ้งที่ไหน เหมืองจำนวนมากทิ้งลงไปในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำบ้าง ทะเลบ้าง ป่าบ้าง เหมืองฉีดดีบุกของไทย (ที่จริงเป็นเทคโนโลยีจีน) ในภาคใต้คงชะดินลงแม่น้ำลำคลองและไหลลงทะเลจำนวนมาก แต่เราไม่มีข้อมูลสถิติเพราะสมัยนั้นไม่มีใครห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีผู้คนเบาบางในแหล่งที่ทำเหมืองดีบุก
2/ ไม่ว่าจะใช้ระบบเหมืองเปิดหรือเหมืองเจาะ ยังมีโลหะอื่นในแหล่งแร่นอกเหนือจากที่ตั้งใจจะขุดออกมาอีกหลายอย่าง แต่ละอย่างมักมีจำนวนไม่มากพอที่จะลงทุนสกัดออกมา จึงต้องปล่อยทิ้งลงสู่ธรรมชาติ กลายเป็นปริมาณที่มากจนทำร้ายสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คนกับสัตว์ที่อยู่ใกล้เคียง โลหะเหล่านี้หลายอย่างล้วนเป็นสารพิษทั้งสิ้น เช่น ทองแดง, แคดเมียม, ตะกั่ว, ปรอท, สังกะสี, สารหนู, พลวง, ซีลีเนียม สารเหล่านี้ในที่สุดก็มักไหลลงแหล่งน้ำ ซึ่งคนต้องใช้บริโภค (โดยตรงหรืออ้อมเช่นเอาไปรดผัก หรือกรณีนาข้าวผสมแคดเมียมที่จังหวัดตาก) และเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ
3/ สารเคมีที่ใช้ในการสกัดโลหะที่ต้องการก็รั่วไหลเป็นปกติในเหมืองประเภทหินแข็ง สารเคมีที่เป็นอันตรายเหล่านี้มีเช่นไซยาไนด์, ปรอท, กรดกำมะถัน และไนเตรทที่เกิดจากการระเบิดหิน ก็ล้วนเป็นสารพิษร้ายแรงทั้งสิ้น
อันตรายและผลกระทบเหล่านี้ไม่มีบริษัททำเหมืองใดรับผิดชอบ หรือลงทุนในการป้องกันมิให้เกิดการรั่วไหลอย่างจริงจัง (มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่บริษัททำเหมืองไม่ยอมลงทุนด้านนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) กฎหมายการทำเหมืองของเกือบทุกประเทศล้วนบังคับว่า บริษัททำเหมืองต้องฟื้นฟูสภาพธรรมชาติหลังปิดเหมืองไปแล้วให้คงเดิม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้ทำหรือทำอย่างลวกๆ เต็มที ขุมเหมืองจำนวนไม่น้อยยังเหลืออยู่ในภูเก็ตให้เห็นทุกวันนี้
เศษดินเศษหินที่ได้จากการทำเหมือง แม้แต่เป็นเหมืองขุดมีปริมาณมากมาย หลังจากบางประเทศออกกฎหมายไม่ให้ทิ้งลงธรรมชาติ บริษัทเหมืองก็อ้างว่าสามารถเอาไปทำเขื่อนได้ และก็มีการทำเขื่อนจากเศษดินหินที่ได้หลังจากสกัดเอาโลหะที่ต้องการไปแล้ว (เรียกในภาษาอังกฤษว่า tailings คือดินหินส่วนหาง) แต่บริษัทก็มักจะเอาเศษดินหินส่วนนี้ไปเทขวางแม่น้ำไว้แล้วเรียกว่าเขื่อน โดยไม่มีโครงสร้างคอนกรีตที่แข็งแกร่งพอจะรองรับเขื่อนได้ ฉะนั้นในทุกวันนี้จะมีเขื่อนประเภทนี้พังอย่างน้อย 1 เขื่อนทุกปี บางครั้งกลายเป็นอุบัติภัยร้ายแรง ทำให้มีคนตายเป็นร้อย (เกิดขึ้นในสหรัฐ)
อีกวิธีหนึ่งที่บริษัททำเหมืองมักใช้เมื่อปิดเหมืองก็คือ "เดินหนี" ซึ่งทำได้หลายอย่างเช่นในบางประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ก็ "เดินหนี" จริงๆ เลย (ในประเทศไทย แม้แต่เดินหนียังไม่ต้องทำด้วยซ้ำ คือเก็บของกลับบ้านและกลายเป็นคนรวย หรือนายหัวที่มีคนยกย่องในสังคมไป) แต่ในประเทศที่บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ก็ใช้วิธีประกาศล้มละลาย แล้วขายกิจการเหมืองให้แก่อีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าของเดียวกัน บริษัทใหม่ไม่ยอมรับผิดชอบกับความเสียหายที่บริษัทเก่าทำเอาไว้
มาในภายหลัง ประเทศเช่นสหรัฐแก้กฎหมายให้ผู้รับสัมปทานทำเหมือง ต้องวางหลักทรัพย์ประกันค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากบริษัทไม่ยอมรับผิดชอบ แต่จะประเมินหลักทรัพย์นี้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลไม่เคยทำเหมือง ก็ต้องให้บริษัทรับสัมปทานทำมาเสนอ บริษัทก็ทำในราคาต่ำๆ พอปิดเหมืองก็ปล่อยให้รัฐยึดหลักทรัพย์นั้นไป ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าราคาที่รัฐต้องจ่ายเพื่อทำความสะอาดและฟื้นฟูสภาพจริงถึง 100 เท่า
ดังนั้น คนที่รับผิดชอบต่อบริษัททำเหมืองทั้งหลายตัวจริงก็คือประชาชนผู้เสียภาษีอากรนั่นเอง อย่างที่คนไทยเคยชินกับเหมืองตะกั่วที่คลิตี้ล่าง (ซึ่งยังทำไม่สะอาดจริง) น้ำมันรั่วในทะเล อากาศเป็นพิษที่มาบตาพุด และอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมทั้งหลาย และเพราะต้นทุนในการทำความสะอาดและฟื้นฟูระบบนิเวศจากการทำเหมือง ซึ่งบริษัททำเหมืองผลักให้ขึ้นมาอยู่บนตักของรัฐบาลนี้สูงมาก ส่วนใหญ่แล้วจึงไม่ได้ทำ (อย่างกรณีคลิตี้ล่าง) แม้แต่ในประเทศที่มั่งคั่งอย่างสหรัฐ ก็ปล่อยให้ระบบนิเวศเสียหายไปเป็นหย่อมๆ โดยไม่ได้ลงทุนทำอะไรเหมือนกัน
อันที่จริงแล้ว แทนที่จะมาเสียเงินเก็บกวาดในภายหลัง หากบริษัททำเหมืองทั้งหลายใช้มาตรการระมัดระวังและทำเหมืองอย่างสะอาดมาแต่ต้น ต้นทุนในการทำอย่างนั้นจะถูกกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย เช่นเก็บสารพิษทำลายอย่างถูกวิธี แทนที่จะปล่อยลงแหล่งน้ำ ถูกกว่าการฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ปลอดสารพิษในภายหลังอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่บริษัททำเหมืองก็เลือกจะไม่ทำ ก็แน่ล่ะครับ บริษัททำบริษัทจ่าย บริษัทไม่ทำ ประชาชนจ่าย
เคยสังเกตไหมครับว่า คนที่มาต่อต้านการทำเหมืองทองคำที่ปรากฏตัวให้เราเห็นในทีวีนั้น ส่วนใหญ่หน้าดำๆ กร้านๆ ทั้งนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ นโยบายของบริษัททำเหมืองทุกแห่งในโลกก็คือ ลดต้นทุนการผลิตด้วยการปล่อยสารพิษลงไปให้แก่คนชายขอบ หรือคนที่ถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบ เพราะคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่ไม่มีเสียงดังพอจะกำหนดนโยบายรัฐบาลได้ (แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) คนที่รับผลกระทบจากเหมืองตะกั่วคือกะเหรี่ยง ซึ่งบางคนยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเลยด้วยซ้ำ กฟผ.คิดจะไปทำเหมืองถ่านหินที่เวียงแหง กว่าครึ่งของคนที่นั่นก็ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน คนที่สูดอากาศเป็นพิษที่ระยองคือชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบางกอกที่ไปสร้างบ้านพักผ่อนริมทะเล การผลักขยะให้คนชายขอบไม่ได้มีเฉพาะเมืองไทยนะครับ ในสหรัฐคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองส่วนใหญ่ก็เป็นคนชายขอบ เช่นชุมชนของคนจนหรือชาวเผ่าอินเดียนแดงซึ่งยังใช้ธรรมชาติที่สมบูรณ์ในการยังชีพ
อย่าคิดเป็นอันขาดว่า เมืองไทยอุดมด้วยแร่ทองคำ ที่อื่นๆ ทั้งในสหรัฐและแคนาดาก็มีแร่ทองคำ บางแห่งมีสำรองมากกว่าไทยด้วยซ้ำ แต่บริษัททำเหมืองอยากทำเหมืองทองคำในบริเวณซึ่งเป็นที่อยู่ของคนชายขอบต่างหาก ทองคำที่ป้อนตลาดโลกอยู่ในเวลานี้ ส่วนใหญ่จึงมาจากแอฟริกา และต่อไปก็อาจจะมาจากเมืองไทย และจากประเทศที่คนเล็กคนน้อยถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบเสียยิ่งกว่าคนเล็กคนน้อยในทวีปอเมริกาและยุโรป พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนไทยเป็นประชากรชายขอบของโลก จึงเหมาะที่จะทำเหมืองที่นี่
คิดให้ดีๆ ว่า เรากำลังขายทองคำ หรือขายชีวิตของคนเล็กคนน้อยกันแน่
โดยเปรียบเทียบกับเหมืองแร่ชนิดอื่นแล้ว เหมืองทองคำ "สกปรก" มากกว่ากันหลายเท่า เอาเฉพาะเศษดินเศษหินที่ต้องขุดออกมาสกัดแล้วทิ้งไปก็ได้ ถ่านหินที่อยู่ใต้ดินอาจมีสายแร่หนาสัก 10 ฟุต แต่วิ่งยาวไปเป็นหลายกิโล เขาเจาะลงไปถึงสายแร่นั้น และขุดลำเลียงเอาถ่านหินขึ้นมา โดยแทบไม่มีเศษดินเศษหินต้องทิ้งเลย สมมุติว่าเหมืองถ่านหินแบบเจาะผลิตเศษดินเศษหินเท่ากับหนึ่งหน่วย แต่หากเป็นเหมืองทองแดง มีเศษดินเศษหินต้องทิ้งถึง 500 หน่วย หากเป็นเหมืองทองคำก็จะเป็น 5 ล้านหน่วย ภาพที่เราเห็นเหมืองทองคำในทีวีจึงเป็นรถบรรทุกคันใหญ่มหึมา จนวิ่งในท้องถนนตามปกติไม่ได้ เพื่อขนเอาดินและหินที่ขุดขึ้นมาสกัดทองคำออกมาได้นิดเดียว
นอกจากนี้ ปริมาณสำรองของแร่ที่จะขุดขึ้นมาก็มีความสำคัญ หากปริมาณมีไม่มากนัก พอทำเหมืองไปได้สัก 20 ปี บริษัททำเหมืองย่อมไม่พร้อมจะลงทุนทำเหมืองอย่างสะอาด เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น จ้างนักเลงในและนอกเครื่องแบบไปต่อยชาวบ้านราคาถูกกว่ากันแยะ ตรงกันข้าม หากสำรองของแร่มีมากขนาดสามารถขุดขึ้นมาได้เป็นร้อยปี บริษัททำเหมืองย่อมอยากทำตัวให้น่ารักแก่คนรอบข้างและคนในประเทศนั้นๆ เพราะรู้ว่าจะต้องอยู่ต่อไปอีกนาน จึงไม่อยากเพาะศัตรูให้มีมากโดยไม่จำเป็น
แหล่งสำรองแร่ทองคำของไทยในแต่ละแหล่งไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น จึงหวังได้ยากมากว่าจะมีบริษัทใดทำแร่อย่างระมัดระวังมิให้กระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชีวิตคนกับสัตว์ (ยังไม่พูดถึงกฎหมายแร่และการบังคับใช้ของไทยอ่อนแอเพียงใด)
เหตุผลที่บริษัททำเหมืองทั้งหลายพยายามลดต้นทุนการผลิตอย่างเต็มที่ก็เพราะผลกำไร (margin) ของการทำเหมืองโลหะนั้นต่ำมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันและถ่านหิน ถ้าโอกาสที่จะทำกำไรในระยะยาวไม่มี จึงไม่พร้อมจะลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมอีก ยิ่งกว่านี้โลหะทั้งหลายนั้นเป็นสินค้าที่ยากแก่การผลักภาระให้ผู้บริโภค เช่นเราใช้ทองคำอยู่ทุกวัน แต่มันซ่อนอยู่ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง โดยที่เราไม่เคยคิดจะซื้อทองคำจากบริษัททำเหมืองเลย ทองคำที่ใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ก็น้อยมากเสียจนบริษัทผู้ผลิตสามารถต่อรองราคาได้ง่าย เพราะมีคู่แข่งทองคำอยู่มาก ถึงต่อรองไม่ได้ก็ทำให้ราคาของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์นั้นสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต
ทองคำที่ถูกใช้มากที่สุดคือที่ห้อยอยู่ตามคอคน และทองคำแท่งที่ใช้ในการเก็งกำไร ปัจจุบันเรามีทองคำประเภทนี้อยู่มากเสียจน หากปิดเหมืองทองคำทั้งโลก เราก็ไม่ขาดแคลนทองคำในการผลิตสิ่งอื่นๆ อยู่นั่นเอง เพียงแต่ว่าราคาอาจสูงขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น
ยังมีเหตุผลอีกอย่างที่ผมอยากกล่าวไว้ด้วยก็คือ ทองคำที่จะขุดๆ กันนั้นมีตลาดอยู่ที่ต่างประเทศ ทองคำที่คนไทยเอามาห้อยคอนั้น สั่งเข้าจากต่างประเทศอีกทีหนึ่ง อุตสาหกรรมที่ไม่มีตลาดภายในที่แข็งแกร่งเพียงพอทั้งหลาย คืออุตสาหกรรมที่ผมเรียกว่าอุตสาหกรรมงานวัด พร้อมจะย้ายเต็นท์ไปวัดอื่นได้ทันที หากเงื่อนไขการผลิตไม่เอื้อให้ทำกำไรได้พอใจ อุตสาหกรรมงานวัดมีแนวโน้มจะทิ้งขยะไว้ในวัด อย่างที่อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ทิ้งขยะไว้นั่นแหละครับ เพราะทุกคนรู้ว่าพองานวัดเลิก อย่างไรก็ต้องเก็บของย้ายไปจนได้ เช่นหลังระบบนิเวศชายฝั่งของไทยพังพินาศไปแล้ว บริษัทค้ากุ้งกุลาดำก็สะบัดก้นไปลงทุนในอินเดียและลังกาแทน ตอนนี้ได้ข่าวว่าเริ่มย้ายไปงานวัดในพม่าแล้วเป็นต้น (นอกเรื่องหน่อย ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ทำให้แรงงานเอาชีวิตรอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้เท่านั้น ยังห่างไกลจากการสร้างกำลังซื้อของตลาดภายในให้แข็งแรง)
เหตุฉะนั้น ผมจึงเห็นว่านโยบายที่สุขุมที่สุดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองทองคำของไทยก็คือ ยุติการเปิดเหมือง (และ/หรือสำรวจใหม่) ลงทั้งหมด ใช้เวลารอความพร้อมเสียก่อน ความพร้อมที่จะต้องรอนั้นมีสามด้าน
1/ ความพร้อมทางเทคโนโลยี และความสามารถในการตรวจสอบ เวลานี้อุตสาหกรรมทำเหมือง hardrock ในสหรัฐกำลังซบเซาอย่างหนัก บังคับให้ต้องมีการคิดค้นกรรมวิธีทำเหมืองที่จะถูกต่อต้านน้อยลง ฉะนั้นเทคโนโลยีใหม่หรืออย่างน้อยก็กรรมวิธีใหม่คงจะเกิดขึ้นไม่นานในอนาคต ในขณะเดียวกัน รัฐไทย (ซึ่งอาจหมายถึงอำนาจของท้องถิ่นด้วย) ต้องสั่งสมความรู้ความสามารถในการตรวจสอบการทำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสั่งหยุดกิจการได้ทันทีที่เกิดความเสี่ยงภยันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน
2/ ความพร้อมทางสังคม คือมีข้อมูลที่กระจายไปทั่วทั้งสังคม ผู้บริโภคมีสำนึกทางสิ่งแวดล้อม และพร้อมจะใช้พลังของตนกดดัน ชุมชนที่มีประสบการณ์เลวร้ายจากเหมืองทองคำ สามารถเผยแพร่ความรู้ของตนไปยังชุมชนอื่นๆ ได้ทั่วถึง มีการจัดองค์กรของชาวบ้านที่จะเฝ้าระวังและโวยวายให้เป็นที่รู้ได้ก่อนหน้าที่ผื่นจะขึ้นทั้งตัว หรืออ่อนล้าจนทำงานไม่ได้
3/ ความพร้อมทางการเมือง ประชาชนมีปากมีเสียงที่จะกำหนดนโยบาย และตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัททำเหมืองได้ มีรัฐบาลที่ต้องฟังเสียงประชาชน กฎหมายเหมืองแร่ต้องร่างขึ้นโดยประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม อีกทั้งต้องผ่านสภาของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง
พร้อมเมื่อไร ก็เมื่อนั้น
ทองคำหรือสินแร่ทั้งหลายที่อยู่ในประเทศไทยนั้น คิดไปก็คือมรดกที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายยกให้ ถึงไม่รีบใช้มันก็ยังอยู่ตรงนั้น ซ้ำมูลค่ามีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะล้วนเป็นทรัพยากรที่ใช้ไปก็หมด ไม่เกิดขึ้นใหม่ได้อีก จะรีบขุดขึ้นมาใช้ทำไม หากพอมีสติปัญญาอยู่บ้าง ก็ทำมาหากินทางอื่นไม่ดีกว่าหรือ ท่ามกลางเงื่อนไขต่างๆ ของการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะจ่ายค่าภาคหลวงเท่าไร ประเทศไทยก็ขาดทุน เพราะไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดแก่ระบบนิเวศและชีวิตของผู้คน
ที่มา : มติชน วันที่ 28 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.