พูดถึงนโยบายเศรษฐกิจเพื่อชาติ จะเลือกคำศัพท์ใดมาใช้ ปัญหาชี้ขาดมันมิได้อยู่ที่ ชื่อเรียก รัฐบาลนี้จะเรียกนโยบายเศรษฐกิจเพื่อชาติที่คิดขึ้นมาว่า ประชารัฐ ก็ไม่ว่ากัน เพราะมุ่งหวังที่ผลการปฏิบัติมากกว่า ชื่อ อย่างไรก็ตาม เฉพาะหน้านี้การเปรียบเทียบคำ ประชานิยม กับ ประชารัฐ ยังไม่อาจทำได้
เพราะคำว่า ประชานิยม เป็นศัพท์บัญญัติ ถ่ายคำภาษาอังกฤษว่า Populism มีความหมายแน่นอนทางวิชาการไปแล้ว แต่คำว่า ประชารัฐ ที่รัฐบาลเพิ่งใช้เรียกนโยบายเศรษฐกิจเพื่อชาตินั้น ยังต้องผ่านการปฏิบัติระยะหนึ่งก่อน ตอนนี้ยังไม่มีความหมายแน่นอนทางวิชาการ
คำว่า ประชานิยม" เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า populism ในภาษาอังกฤษ แรกเริ่มเดิมทีนั้นคำนี้เป็นศัพท์เฉพาะที่หมายถึงขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่ 3 ของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1890 ในช่วงนั้นมีการรวมตัวกันของเกษตรกรรายย่อยซึ่งไม่พอใจแนวทางการพัฒนาประเทศที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของบริษัทใหญ่ ๆ พวกเขารวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาในชื่อว่า "พรรคประชาชน" (People's Party) พรรคนี้ได้ส่งนายวิลเลียม เจนนิงส์ ไบรอัน (William Jennings Bryan) เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง ค.ศ.1896 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นพรรคนี้ก็สลายตัวไป ในยุคที่ใกล้เคียงกันนี้ที่รัสเซียได้เกิดขบวนการนารอดนิก (Narodichestvo) ของนักศึกษาปัญญาชนรัสเซียที่ลงไปเคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมชาวนาในชนบทด้วย คำว่า populism จึงเป็นคำที่ใช้เรียกขบวนการนารอดนิกด้วย
ในประเทศไทยแต่เดิมนักวิชาการมักจะใช้ทับศัพท์ว่าป็อปปูลิสต์หรือ พ็อพพิวลิสม์ (populism) ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้คำศัพท์ ประชานิยม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในเวทีวิชาการจากการนำเสนอของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และนิพนธ์ พัวพงศกร ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2544 และตั้งแต่นั้นมาคำว่าประชานิยมก็ใช้กันอย่างแพร่หลายในเชิงการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการเมืองของรัฐบาล
ส่วนคำว่า ประชารัฐ ในเนื้อเพลงชาติไทยนั้น ไม่ใช่ ศัพท์บัญญัติ ไม่มีความหมายจำเพาะ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับคำว่า ประชารัฐ ในเนื้อเพลงชาติไทยไว้ว่า
หากพิจารณาจากเนื้อเพลงว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน สื่อความหมายได้ชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยรวมประชาชนคนไทยขึ้นเป็นรัฐหรือประเทศของประชาชนชาวไทย (หรือ to form the country of the Thai people) และแผ่นดินนี้ทุกส่วนเป็นของประชาชนชาวไทย ซึ่งมีนัยขยายความต่อไปได้อีกว่า ผืนแผ่นดินไทยนี้จะแบ่งแยกมิได้ (แผ่นดินนี้เป็นของไทยทุกส่วน)
ทั้งนี้ คำว่า ประชารัฐ ในเนื้อเพลงดังกล่าวมิได้เป็นศัพท์บัญญัติ แต่เป็นการนำคำมาผูกหรือมาเรียงร้อยต่อกัน ได้แก่คำว่า ประชา และคำว่า รัฐ ซึ่งสองคำดังกล่าวนี้มีอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แล้ว โดยคำว่า ประชา เป็นคำนามมีความหมายว่า หมู่คน เช่น ปวงประชา และคำว่ารัฐเป็นคำนาม หมายถึงแคว้น บ้านเมือง ประเทศ หากพิจารณาความหมายของคำว่า ประชารัฐ โดยอาศัยบริบทหรือข้อความแวดล้อม (context) คือเนื้อเพลงตอนขึ้นต้นเพลงดังกล่าว ย่อมสื่อความหมายได้ชัดเจนสมบูรณ์แล้ว ( ข่าว ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 17 มิถุนายน 2548) อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ในภาษา เป็นสมบัติสาธารณะ ใครจะลากดึงไปสมมุติใช้อธิบายอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า จะมีคนนิยมใช้ตามมากน้อยเพียงไร คำ ประชารัฐ ก็ทำนองเดียวกัน คำนี้เป็นคำกลาง ๆ คนนำไปใช้ในทางดีก็เกิดผลดี คนนำไปใช้ในทางเลวร้ายก็ส่งผลร้าย มีบุคคลนอกกฎหมายกลุ่มหนึ่ง นำไปใช้เป็นคำขวัญปลุกระดมทางเฟสบุ้คว่า ก่อตั้งประชารัฐ ล้มสถาบันกษัตริย์
ในเมื่อรัฐบาลเลือกใช้คำเรียกนโยบายว่า ประชารัฐ เพื่อให้แตกต่างจากนโยบาย ประชานิยม แล้ว จึงควรให้คำจำกัดความนโยบายประชารัฐให้รัดกุมชัดเจนมากขึ้น
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 21 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.