วิธีการที่หลายรัฐบาลเลือกใช้ ก็คือการใช้ สถาบันการเงินของรัฐหรือบรรดาแบงก์รัฐทั้งหลาย มาเป็นเครื่องมือ...เพราะหวังลบล้างปัญหา แต่ผลลัพธ์กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
“หนี้นอกระบบ” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหารากเหง้าที่สำคัญของไทย...ที่ไม่ว่าใครเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายลำดับแรก ๆ ที่ต้องแก้ไข เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะบรรดารากหญ้ารากแก้ว รวมไปถึงมนุษย์เงินเดือน “หลุดพ้น” จากการเป็นหนี้!!
วิธีการที่หลายรัฐบาลเลือกใช้ ก็คือการใช้ สถาบันการเงินของรัฐหรือบรรดาแบงก์รัฐทั้งหลาย มาเป็นเครื่องมือ...เพราะหวังลบล้างปัญหา แต่ผลลัพธ์กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเพียงมาตรการที่โยกจากซ้ายไปขวาเท่านั้น หรือเป็นการดึงลูกหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายดอกเบี้ยตํ่า สุดท้าย...ไม่ได้ลบล้างหนี้ของประชาชนที่เกิดขึ้นได้หมด
สิ้น และยังคงเป็นหนี้อยู่เช่นเดิม
ปัญหาหนี้นอกระบบ! ถูกกัดกร่อนกลายเป็นแผลเรื้อรังอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ด้วยเหตุ...จากการที่ผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ แม้หลายรัฐบาลได้หยิบยกนโยบายแก้ไขปัญหานี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงเพื่อปั่นกระแสนโยบายประชานิยม แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างจริงจัง เพราะการใช้แบงก์รัฐเข้ามาเป็นเครื่องมือ ไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะการปล่อยกู้ให้กับรายย่อยนั้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเสี่ยง ทำให้การพิจารณาปล่อยกู้ในแต่ละครั้งต้องรอบคอบเพราะไม่เพียงแต่ตัวองค์กรที่จะมีปัญหา หากเกิดอะไรผิดพลาด แต่ตัวผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องก็หนีไม่พ้นต้องรับกรรมไปด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้...จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา เพราะเห็นแล้วว่าความพยายามในการแก้ไขของหน่วยงานรัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการขาดความชัดเจนในหลักเกณฑ์การแก้ปัญหา เจ้าหนี้เดิมไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่มีคนกลางในการช่วยกันเจรจาประนอมหนี้ หรือแม้แต่ลูกหนี้ขาดหลักทรัพย์คํ้าประกัน
สถานการณ์หนี้นอกระบบ
เมื่อดูข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ล่าสุดสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือนทั่วประเทศ ปี 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น หากนำมาเฉลี่ยแล้ว พบว่าแต่ละครัวเรือนเป็นหนี้กว่า 219,159 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.1% สูงที่สุดในรอบ 9 ปี หรือจากปี 49 และเป็นหนี้นอกระบบกว่า 49.1% สาเหตุหลักที่น่าจะรู้กันดีก็คงหนีไม่พ้นค่าครองชีพที่สูงขึ้น หนี้จากการผ่อนสินค้า การใช้จ่ายเพื่อแลกความสบายต่างๆ ผ่านบัตรเครดิต ส่งผลให้ต้องมีการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบมากขึ้น
ทั้งนี้กลุ่มที่ค่อนข้างเสี่ยงในการก่อหนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท ซึ่งปัญหาทั้งหมดทั้งมวล มีต้นตอมาจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจมีส่วนน้อยที่เป็นปัญหาวินัยทางการเงิน และยังเป็นผลมาจากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้อย่างเต็มที่ เพราะการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ทำให้เงินกู้นอกระบบเฟื่องฟูมากขึ้น
ปัจจุบันการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ แม้มีกฎหมายคุ้มครองหนี้นอกระบบ คือ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้สามารถเรียกดอกเบี้ยอัตรา 15% ต่อปี แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว...บรรดาเจ้าหนี้นอกระบบทั่วไปจะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 60%, 120% หรือ 240% ต่อปี แต่ในการโฆษณาชวนเชื่อก็จะใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยต่อเดือน เช่น 5%, 10% หรือ 20% แต่ถ้ามาคิดเป็นต่อปีก็สูงปรี๊ดไปถึง 240% เรียกได้ว่าเป็นอัตรา “ดอกเบี้ยมหาโหด” จนทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และที่สำคัญจะทำให้ลูกหนี้หลายคนไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้อย่างจริงจังเสียที
ไฟเขียวแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตามล่าสุด...คสช.ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุทั้งด้านสินเชื่อและศักยภาพการหารายได้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีบทบาท ผ่านองค์กรการเงินชุมชนที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของแบงก์รัฐ สร้างกลไกการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ การพัฒนาและฟื้นฟู เพื่อให้ลูกหนี้มีศักยภาพในการหารายได้และป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก รวมทั้ง มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยประสานศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ทั้งหนี้สินในระบบและหนี้สินนอกระบบของประชาชนในพื้นที่และดำเนินการประสานกับกลไกการแก้ไขปัญหา
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านแบงก์รัฐมาแล้วถึง 3 โครงการ คือ โครงการขึ้นทะเบียนคนยากจน เมื่อปี 47 มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 94,000 ราย จากลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 1.7 ล้านราย มูลค่า 135,000 ล้านบาท โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ปี 52-53 มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 417,000 ราย จากที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบไว้ 1.2 ล้านราย มูลค่า 123,000 ล้านบาท และล่าสุด ตั้งแต่ปี 54-56 มีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 124,000 ราย มูลค่าหนี้ 12,000 ล้านบาท
แบงก์รัฐออกมาตรการดึงดูด
ขณะที่แบงก์รัฐทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือแม้แต่ธนาคารอิสลาม ต่างพยายามหามาตรการให้ความช่วยเหลือ ที่เห็นได้เด่นชัดคือ ธนาคารออมสินที่มี“โครงการธนาคารประชาชน” เพื่อให้เงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และชำระหนี้อื่น ๆ โดยคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ
ผู้มีรายได้ประจำ ซึ่งธนาคารให้กู้ได้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน ไม่เกินรายละ 200,000 บาท มีดอกเบี้ยคงที่ โดยตั้งแต่ปี 55 ถึงปัจจุบัน ธนาคารได้ปล่อยกู้ให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 1.03 ล้านราย คิดเป็นวงเงินกว่า 103,000 ล้านบาท
ขณะที่ ธ.ก.ส. ได้ออก “โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน” วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้ของเกษตรกรโดยเฉพาะ กำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี ตั้งเป้าหมายมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 150,000 ราย โดยต้องเป็นหนี้ที่มีเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันสุทธิหลังประนอมหนี้แล้ว คงเหลือไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก แต่ไม่ใช่เกิดจากการเล่นพนันหรือภาระหนี้จากความฟุ่มเฟือย รวมทั้งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ก.ย. 57 และต้องมีเอกสารหลักฐานการเป็นหนี้จริง กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนไม่เกิน 10 ปี ส่วนหลักประกันสามารถใช้อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก การคํ้าประกันกลุ่ม และหรือบุคคลคํ้าประกัน
ทั้ง 2 มาตรการ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือให้ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ สามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการนำเงินที่ได้รับการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐในอัตราดอกเบี้ยตํ่า ไปจ่ายหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด เพราะแบงก์รัฐคงไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ทั้งหมด หากผู้กู้ไม่มีวินัยและกำลังทรัพย์ในการชำระคืน
เสนอตั้งนาโนไฟแนนซ์
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ต่อ คสช. เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนในการปล่อยกู้ให้รายย่อย เนื่องจากประชาชนมีรายได้น้อย และไม่มีหลักประกันในการเข้ามาขอสินเชื่อ ทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรูปแบบการปล่อยกู้ จะให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่มีทุนจดทะเบียนขั้นตํ่า 10 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ แต่ภาครัฐจะมีบทบาทในการกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับผู้รับบริการ โดยปล่อยกู้ให้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท
เลื่อนถก พ.ร.บ.การทวงถามหนี้
ไม่เพียงเท่านี้คสช.เองต่างเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือลูกหนี้ จึงได้ผ่านความเห็นชอบของกฎหมายทวงถามหนี้ เป็นลำดับแรก เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้ว่าเรื่องนี้จะไปได้สวย แต่สุดท้ายจากความเห็นของหลายหน่วยงานที่ยังไม่ตรงกันและยังเป็นห่วงในหลายเรื่อง ทำให้ สนช.ต้องเลื่อนการพิจารณากฎหมายทวงถามหนี้ออกไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายไปจัดทำความเห็นให้ตรงกันก่อน โดยเฉพาะการให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมไปถึงการทวงหนี้นอกระบบด้วย จากเดิมที่กฎหมายคุ้มครองเฉพาะกรณีการทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้ในระบบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม...ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามหาทางช่วยเหลือบรรดาลูกหนี้นอกระบบเหล่านี้อย่างไร แต่ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงดูเหมือนว่ายังไม่หลุดพ้น! หากคนก่อหนี้ยังก่อหนี้เพื่อหาความสุขใส่ตัวโดยไม่รักษาวินัย สุดท้ายก็ไม่พ้นดินพอกหางหมูปล่อยให้หนี้ทบต้นทบดอก จนหมดหนทางจะแก้ไข...