GDP ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และราวกับเป็นตัวเลขที่ศักดิ์สิทธิ์ และน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน น่าสงสัยว่ามันสื่อความหมายตามความเป็นจริงหรือไม่
GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นรายการหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Accounting) ที่สหประชาชาติได้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้แต่ละประเทศทราบสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละปี ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าการผลิต มูลค่าการส่งออกและนำเข้า การลงทุน การใช้จ่ายเพื่อบริโภค ฯลฯ
GDP เป็นตัวชี้ให้เห็นสถานการณ์ผลิต และรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถวัดได้ 3 ทาง คือ ด้านการผลิต ด้านรายได้ และด้านรายจ่าย
GDP เมื่อวัดในด้านการผลิต ก็มาจากการรวมกันของสิ่งที่เรียกว่า Gross Farm Product (มาจากภาคเกษตรกร) / Gross Manufacturing Product (จากภาคอุตสาหกรรม) / Gross Services (ภาคบริการ) และ Gross Government Product (ผลผลิตจากภาครัฐ โดยทั่วไปใช้มูลค่าการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยใช้เหตุผลว่า การจ่ายเงินออกไปของรัฐ ก็คือผลงานที่เกิดขึ้นโดยภาครัฐ)
การวัด GDP ในด้านรายได้นั้น ไม่สามารถเอารายได้ของผู้คนในประเทศจากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ฯลฯ มารวมกันได้ เนื่องจากมีปัญหาการนับซ้ำ (รายได้เปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ก็กลายเป็นการนับซ้ำ เช่น พ่อให้เงินลูก ถ้านับรายได้ทั้งสองคนก็นับซ้ำ) และไม่อาจรู้ได้ว่าการนับซ้ำนั้นมีมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงไม่มีการวัดกันในด้านนี้
ในด้านรายจ่าย GDP สามารถวัดได้แต่ไม่สะดวกเท่าด้านการผลิต วิธีวัดก็คือ รวมการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ฯลฯ ของทั้งประเทศเข้าด้วยกัน
ตามตรรกะนั้น ไม่ว่าจะวัด GDP ด้านใดก็ตาม (การผลิต รายได้ และรายจ่าย) จะให้ตัวเลขที่ตรงกัน กล่าวคือ เมื่อมีการผลิตเกิดขึ้น ก็เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือรายได้ (ค่าจ้างแรงงาน กำไร ภาษีอากร ฯลฯ) และเมื่อมีรายได้ก็มีรายจ่ายเกิดขึ้นด้วยจำนวนเท่ากันเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะวัดทางใดก็จะให้ตัวเลขเลขเดียวกัน
ในการคำนวณหา GDP ของแต่ละปี ในทางปฏิบัติ ประเทศต่าง ๆ มักเลือกใช้ด้านการผลิตเป็นหลัก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดพลาดน้อยที่สุด ที่พูดว่า “มีความเป็นไปได้” ก็เพราะไม่มีอะไรที่แน่นอนและง่ายดาย ในการคำนวณหาค่า GDP จำเป็นต้องใช้สมมุติฐานมากมาย ใช้การประเมินอย่างสมเหตุสมผล (educated guess) หรือแม้แต่ใช้การประเมินอย่างคาดเดา (guestimate = guess + estimate) เช่นในเรื่องการนับผลผลิตหรือรายได้ซึ่งเกิดจาก SME’s ขนาดเล็กของบ้านเรา ที่มีจำนวนมหาศาลเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตคนยากจนจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งเรียกว่าพวก Informal Sector (ภาคที่มิได้เป็นทางการ) เช่น ขายเสื้อผ้าท้ายรถ ร้านขายส้มตำ ร้านซ่อมรองเท้าริมถนน รถเข็นขายอาหาร ร้านตัดผมริมถนน ร้านขายของชำในชนบท ฯลฯ ก็ใช้ประมาณการ
หากต้องการได้ GDP ที่มาจาก Informal Sector ก็ต้องนับจำนวนธุรกิจ (ทำได้ดีที่สุดก็คือ คาดเดา) นับยอดขายจากทุกลักษณะการผลิตและการค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ด้วยประมาณการเช่นกัน
ตัวเลขการผลิตจาก Formal Sector นั้น เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะสามารถเก็บได้จากโรงงานใหญ่ๆ ทั้งหลาย บริษัทผลิตรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ (สร้างมูลค่าเพิ่ม) โรงไฟฟ้า ฯลฯ ที่ยากอีกอย่างก็คือ ภาคการเกษตร ซึ่งผลิตโดยผู้คนจำนวนมากด้วยหลากหลายสินค้าและผลิตภัณฑ์ การประมาณการตัวเลขรวมต้องใช้สมมุติฐานและการคาดเดาอย่างมีเหตุผลอยู่มาก
แค่วัด GDP อย่างเดียวก็ปวดหัวและไม่แน่นอนพออยู่แล้ว ยังต้องระวังอีกว่า ต้องเป็นการผลิตที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย (คนชาติใดผลิตก็ได้) ไม่ผิดกฎหมาย และมีการซื้อขายกันผ่านตลาด (มูลค่ามะม่วงต้นหลังบ้านที่ผลิตได้ไม่นับใน GDP แต่ถ้าเอาไปขายก็นับ มูลค่าการทำงานบ้านของภรรยาไม่นับ แต่ของเด็กทำงานบ้านนับ เมื่อใดที่เด็กที่บ้านกลายเป็นภรรยาก็เลิกนับรวมใน GDP)
สมมุติให้ตัวเลข GDP ของบ้านเราที่ภาครัฐประกาศมีความแม่นยำ แต่มันก็ยังไม่ได้สะท้อนสภาวะการผลิต หรือสถานะของการเกิดรายได้ขึ้นจริงในเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากบ้านเรามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ผิดกฎหมายอีกมากมายที่ไม่นับรวม เช่น ผลิตยาเสพติด ผลิต CD เถื่อน หญิงบริการ ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าเศรษฐกิจใต้ดิน ตัวเลข GDP ประมาณ 13 ล้านล้านบาท นั้นอาจมีเศรษฐกิจใต้ดินอยู่อีก 1 ใน 4 หรืออีกกว่า 3 ล้านล้านบาท ก็เป็นได้ (รองนายกฯ สมคิดท่านพูดถูกที่ว่าอย่าไปดูตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวมันยังมีสิ่งที่อยู่นอก GDP ที่เป็นรายได้ ‘เถื่อน’ อีกมาก ข้างหลังนี้ท่านไม่ได้พูด แต่ผมพูดเอง)
ตัวเลข GDP ที่ชอบอ้างอิงกันจนน่ากลัวก็คือการย่อย GDP ออกเป็นรายจังหวัด และเรียกว่า Gross Provincial Product (GPP) และใช้ GPP นี้มาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ระหว่างคนในแต่ละจังหวัด และนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายต่างๆ
GPP ของจังหวัดต่างๆ นั้น เมื่อรวมกันเข้าแล้วจะเท่ากับ GDP ของประเทศซึ่งคำนวณมาได้ด้วยความยากเย็นดังกล่าวแล้ว ซึ่งอาจผิดจากความจริงก็ได้ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ (พยายามตรวจเช็คกับด้านรายจ่าย แต่ด้านรายจ่ายก็มาจากการประมาณการอีกเช่นกัน)
ในเชิงวิชาการไม่สามารถยืนยันได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ตัวเลข GDP นั้นถูกต้อง จนกว่าหลายปีผ่านไป ได้เห็นตัวเลขอื่นๆ ประกอบ แล้วจึงจะมาชำระสะสางกัน เมื่อ GDP ไม่แม่นยำ GPP จึงมีปัญหาตามไปด้วย และเมื่อพิจารณาลักษณะของ GDP แล้วก็เห็นว่า เป็นตัวเลขที่อยู่บนพื้นฐานของแหล่งการผลิต (income-originating base)
GPP ของไทยระบุว่า สมุทรปราการ (GPP เท่ากับ 683,921 ล้านบาท) ปทุมธานี (321,288 ล้านบาท) อยุธยา (367,571 ล้านบาท) ชลบุรี (737,077 ล้านบาท) และกรุงเทพฯ (4 ล้านล้านบาท) นั้น รวยมาก ยิ่งดูรายหัวแล้วก็จะเห็นว่า คนจังหวัดนี้รวยมากอีกเช่นกัน
รายได้คน กทม.เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (466,844 บาท) สมุทรปราการ (352,296 บาท) ปทุมธานี (229,609 บาท) อยุธยา (422,421 บาท) ชลบุรี (457,845 บาท) ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้เป็นแหล่งการผลิตอุตสาหกรรมใหญ่ แต่จะไปหาคนที่มีรายได้ต่อหัวขนาดนี้คงยากมาก เพราะตัวเลข มาจากมูลค่าการผลิตหรือการสร้างรายได้โดยโรงงาน มิได้มาจากการที่คนในจังหวัดได้รับจริง (income-received base)
ในทางตรงกันข้ามคนอีสานมี GPP ต่อคนประมาณ 74,532 บาท หนองบัวลำภู (46,804 บาท) ศรีสะเกษ (65,409 บาท) ร้อยเอ็ด (65,868 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำ แต่โดยแท้จริงแล้วเขาอาจมีรายได้มากกว่านี้ เพราะมีเงินโอนข้ามจากที่อื่นโดยลูกหลาน หรือจากการข้ามไปทำงานหรือค้าขายที่จังหวัดอื่น ซึ่งตัวเลข GPP ต่อคนมิได้สะท้อนให้เห็น
เมื่อ GDP มีธรรมชาติของการคำนวณเช่นนี้ทั่วโลก (เพียงแต่ใครจะ “เดา” ได้อย่างมีเหตุผลกว่ากัน) เราจึงไม่ควรไว้วางใจและบูชาราวกับเป็นตัวเลข ที่พระเจ้าประทานมาให้ใช้วัดความสุขของคนในโลก
GDP เป็นเพียงเครื่องมือที่มีข้อจำกัด ในการช่วยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ มันไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย ซึ่งคือการกินดีอยู่ดีและมีความสุข มีความสงบสุขมั่นคงในชีวิต ซึ่งบรรดาสิ่งที่เป็นนามธรรมสำคัญเหล่านี้ GDP ไม่สามารถให้ได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.