ผู้คนใน “ชนบท” ต่างมีความปรารถนา หรือความหวังในชีวิตที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่อย่างมีนัยสำคัญ เขาและเธอต่างออกไปแสวงหาประสบการณ์ในโลกกว้าง การก้าวข้ามไปในพื้นที่ต่างๆ ทำให้พวกเขานำพาประสบการณ์ วัฒนธรรมข้ามพื้นที่ไปด้วย ซึ่งวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นมิได้เป็นวัฒนธรรมในระบบจารีต และวัฒนธรรมสมัยใหม่ เขาและเธอได้สร้างวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต ที่เกิดวัฒนธรรมลูกผสม (hybrid) ขึ้นในหลายรูปแบบ
ความเข้าใจต่อ “ชนบท” “ผู้คน” ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ‘ชนบท/คนชนบท’ มิได้แยกขาดจากโครงสร้างอื่น ๆ แต่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับองคาพยพอื่น ๆ ส่วนการผลิตทางการเกษตรก็มิได้เป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวไทยอีกต่อไป เขาเหล่านนั้นต่างมีอาชีพ และช่องทางการหารายได้ที่หลากหลาย หรือแม้แต่การทำการเกษตรก็มีความสัมพันธ์กับระบบตลาดอย่างแนบแน่น เขาและเธอต่างแสวงหากลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอดด้วยวิธีการที่หลากหลายเช่นกัน[2]
ภาพจาก tawanaok.com
ในแง่หนึ่ง ความหมายของ “ตลาด” จึงมิใช่พื้นที่ทางกายภาพ แต่เป็นพื้นที่ทางสังคม ที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน และที่ทำให้ “ตลาด” (ร้านขายของชำ กาดนัด ถนนคนเดิน ร้านขายปลาทู (กาดเมืองใหม่)) แบบนี้ยังคงดำรงอยู่ได้ เพราะ “ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ” ที่มีความสัมพันธ์ที่มากกว่าซื้อมาขายไป แต่เป็นพื้นที่ของการต่อรอง (พิศุทธ์) พื้นที่ของการสร้างความทันสมัย และความหมายแบบใหม่ (พิชญ์สินี, พิสมร) พื้นที่ของการสร้างทักษะและทุนทางสังคม (สรารัตน์) ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างเข้ามาสร้างสายสัมพันธ์ ตำแหน่งแห่งที่ภายใต้ “ตลาดของความสัมพันธ์” งานเหล่านี้เรียงร้อยผู้คน และธุรกิจที่แตกต่างเพื่อให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง วางอยู่บนฐานความสัมพันธ์สองรูปแบบ คือ
(1) ความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจโลก หรือทุนนิยม ที่สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจไทย
(2) ความสัมพันธ์ส่วนตัวในสังคมไทยที่หนุนเสริมให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตไปได้ ทำให้งานเหล่านี้สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวางทั้งรสนิยม การสร้างความสัมพันธ์ของเครือข่ายธุรกิจ[3] แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ มีลักษณะเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ เช่นการอธิบายเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ที่มักอธิบายว่าการเกิดขึ้นของทุนนิยมเสรี แต่แท้จริงแล้วทุนนิยมกับผู้คนผูกโยงเข้ากับลักษณะเฉพาะบางอย่างของสังคมหนึ่งๆ ไว้
แม้ระบบทุนนิยมโลกจะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปรอย่างไร แต่ละพื้นที่ก็มีพัฒนาการเฉพาะถิ่นที่มีความแตกต่างกัน และที่สำคัญคือมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นตัวหนุนเสริมให้ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะธุรกิจในระดับล่าง ซึ่งคล้ายกับการศึกษาของ Wilson (2004) ที่มองว่าระบบทุนนิยมในไทยที่มันขับเคลื่อนได้เกิดจาก “ความใกล้ชิด” (Intimacy) หรือการเห็นหน้าค่าตา ไม่ใช่ระบบทุนนิยมในระบบตลาดอย่างเดียว
รวมถึงข้อถกเถียงถึงพัฒนาการของระบบทุนนิยม เราไม่อาจที่จะอธิบายแบบเป็นเส้นตรง หรือมีการพัฒนาทางเดียว แต่ทุนนิยมที่เกิดขึ้น เกิดจากการหนุนเสริมของปัจจัยหลายอย่าง เช่นงานของ Sidney Mintz[4] การขูดรีดในระบบทาส และทาสนี้ไม่ได้พัฒนาเป็นกรรมกร หรือแรงงานอิสระ ที่นำมาสู่การปฏิวัติแบบนักคิดสาย Marxist และทุนนิยมที่ก่อตัวขึ้นในประเทศ หรือภูมิภาคต่างๆ ล้วนมีพัฒนาการที่จำเพาะเจาะจง และสัมพันธ์กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหลายระดับ
เช่น ประเทศเจ้าอาณานิคมกับประเทศอาณานิคม นายทาสกับทาส ผู้ผลิตกับผู้บริโภค ฯลฯ ทำให้ไม่อาจสร้างการอธิบายแบบเหมารวมได้ และที่สำคัญคือ การอธิบายการเกิดขึ้นของทุนนิยมไม่อาจอธิบายด้วยระบบการผลิตอย่างเดียว แต่ปัจจัยที่สำคัญคือการบริโภคที่เป็นตัวกระตุ้นให้สายพานการผลิตเดินได้
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ อาทิเช่น “มนุษย์ป้า” หรือ “ป้า” พูดเบา ๆ ก็เจ็บ ถูกให้การนิยามว่าเป็นหญิงสาววัยกลางคน (ตอนปลาย) แต่งตัวดูสูงอายุ ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและสังคม เห็นแก่ตัวและประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สุด ไม่สนใจว่าอะไรจะผิดหรือถูก ไม่สนใจว่าคนรอบข้างเขาจะคิดอย่างไร ลักษณะพิเศษของมนุษย์ป้าคือ การใช้ความอาวุโสและวัยวุฒิเป็นข้ออ้างในการแหกกฎระเบียบของสังคม เพื่อให้ตัวเองได้ความสะดวกสบายสูงสุด ซึ่งหากใครไปมีเรื่องกับมนุษย์ป้า จะเถียงยังไงก็ไม่มีทางชนะ เพราะมนุษย์ป้าจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎของสังคม (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 2557 อ้างใน, ปราชญา สีนวล 2558)
หรือปรากฏการณ์พระสาวในพื้นที่พระสงฆ์ ที่แสดงให้เห็นว่าแม้สังคมโดยรวมจะมองว่าพระสาวเป็นบุคคลที่ไม่สามารถที่จะบวช หรือมีความประพฤติอากัปกิริยาไม่เหมาะสม แต่ผู้ศึกษากลับพบข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า คนในชุมชนกลับชื่นชมพระสาวเพราะสามารถดูแลวัด จัดพิธีกรรมได้อย่าวิจิตรอลังการ ความเข้าใจทั่วไปที่เรารับรู้จึงไม่อาจส่องสะท้อนปรากฏการณ์นี้ได้
ภาพจาก uasean.com
นอกจากนี้ การขยายตัวของคนชั้นกลางและความล้มเหลวในระบอบการศึกษาได้นำมาสู่การเกิดขึ้นของโรงเรียนกวดวิชาที่ผุดขึ้นอย่างดอกเห็ดและเพื่อตอบสนองต่อเด็กที่มีกำลังซื้อ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเด็กมากยิ่งขึ้น เช่น เดียวกับการเกิดขึ้นของแม่เลี้ยงเดี่ยวชาวไทใหญ่ ที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐเนื่องด้วยวิชาพลเมือง ทำให้เขาเหล่านั้นต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอดในลักษณะต่าง ๆ เช่น ทำงานใกล้ที่เรียนลูก สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่ที่มิใช่ญาติเพื่อที่จะได้ช่วยกันเลี้ยงลูก เป็นต้น
ปรากฏการณ์ทั้ง 2 อาจดูไม่สัมพันธ์กันแต่แท้จริงล้วนเกิดจากความอ่อนแอของรัฐที่ไม่สามารถรองรับสวัสดิการหรือสร้างมาตรฐานในการบริการด้านการศึกษาให้เท่าเทียม ทำให้เกิดการโรงเรียนกวดวิชาที่ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพต่างกันขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแม่เลี้ยงเดี่ยวทั้งที่เข้าเป็นแรงงานที่สำคัญ แต่เรากลับไม่มีมาตรการดูแลเขาเท่าที่ควร[5]
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ของสังคมสมัยใหม่ ทำให้เราเห็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และการช่วงชิงความหมายของการนิยาม ที่นำมาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มต่าง ๆ ในหลายมิติ ทั้งเหลื่อมซ้อน ซ้อนทับ แยกขาด ภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน ซึ่งนำมาสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่เท่ากัน แม้ว่าไม่มีคนกลุ่มใดสถาปนาอำนาจในการนิยามได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตามที
งานทั้งหมดยังให้ความสนใจต่อพื้นที่คลุมเครือที่คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจ น่าสนใจว่าในพื้นที่คลุมเครือไม่เป็นทางการนั้น ผู้คนได้ถักทอสร้างสายสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นการสร้างตัวตน สร้างความหมาย สร้างพื้นที่ต่อรองในระนาบต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของนักเรียนมานุษยวิทยาที่อธิบายจากพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อส่องสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างในระดับใหญ่ ๆ ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
[1] สรุปงานของนักศึกษาระดับปริญญาตรีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจำนวน 10 ชิ้น
[2] จามะรี เชียงทอง และคณะ 2554 ชนบทไทย : เกษตรกรระดับกลางและแรงงานไร้ที่ดิน เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
[3] Wilson, Ara. 2004 The intimate economies of Bangkok : tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city Berkeley : University of California Press.
[4] Sidney W. Mintz. 1986. Sweetness and power : the place of surgar in modern history. New York : Penguin books.
[5] ดูเพิ่มใน, อานันท์ กาญจนพันธุ์และชัยพงษ์ สำเนียง (2558). แรงงานข้ามชาติอัตลักษณ์และสิทธิความเป็นพลเมือง. เชียงใหม่: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ที่มา : Siam Intelligence วันที่ 9 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.