คอลัมน์สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร
คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา "อนุมัติ" มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงิน 136,275 ล้านบาทโดยมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการแรก ของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ภายใต้มาตรการดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 1) โครงการให้สินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระดับ A และ B กองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ใช้เงิน 60,000 ล้านบาท จากสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอีก 30,000 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี โดยปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 0% ปีที่ 3-7 อัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวก 1% ต่อปี และให้ ธ.ก.ส-ออมสิน ทำการแยกบัญชีโครงการดังกล่าวเป็น บัญชีธุรกรรมตามนโยบายรัฐบาล (Public Service Account : PSA)
2) โครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในจังหวัด ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท (จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท) เร่งเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยโครงการนี้จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณงบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2558-2559 วงเงิน 36,275 ล้านบาท (รวมทั้งเงินจากมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน วงเงิน 6,541.09 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน โดยสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร วงเงิน 490.60 ล้านบาท)
และ 3) มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท จากงบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการรายการจัดซื้อ/จัดจ้างของหน่วยงานราชการรายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท กับรายการรายจ่ายในการลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้ง 2 รายการนี้จะต้องดำเนินการเบิกจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ส่วนรายการที่มีการลงทุนที่มีวงเงิน "มากกว่า" 1 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 เป็นต้นไป
ด้วยความเชื่อว่า โครงการใส่เงินเข้าไปโดยตรงในภูมิภาคเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การจัดซื้อจัดจ้าง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น ช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเกษตรกร สามารถอยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 จากการส่งออกที่คาดการณ์จะติดลบถึง -3% ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ขณะที่ราคาข้าวยืนพื้นอยู่ที่ตันละ 8,000 บาทเท่านั้น
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของอดีตรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ผ่านมา จะเน้นไปที่การเร่งรัดการทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนตามปีงบประมาณ 2558 การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ ส่วนภาคการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนา มีเพียงมาตรการเพิ่มรายได้ด้วยการให้เงินช่วยลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่) การจ้างแรงงานภาคเกษตรในวิกฤตภัยแล้งที่ไม่สามารถปลูกพืชได้
โดยปฏิเสธที่จะจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงผ่านทางกลไกต่าง ๆ ด้วยเห็นว่าเป็นโครงการประชานิยม การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วเวลาข้ามวัน และที่สำคัญการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ล้วนติดขัด "เม็ดเงิน" ไม่สามารถกระจายไปสู่ภูมิภาค ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากมีเงินเหลือค้างจ่ายเป็นจำนวนมาก จากที่ผ่านมาที่รัฐบาลต้องออกมาเร่งรัดการเบิกจ่าย
นับเป็นความแตกต่างระหว่าง 2 ทีมเศรษฐกิจ แต่มี "คนไทย" ที่มีรายได้น้อยเป็นเดิมพัน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 7 ก.ย. 2558