ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระ
คนไทยทุกกลุ่มพูดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกฯ ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องพูดถึงเกษตรกรหรือคนระดับรากฐานของสังคมที่พูดเรื่องนี้มานานแล้ว มีตัวเลขจำนวนมากยืนยันว่านโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดเก่าไม่สนใจการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากฐานของสังคม ทำให้การบริโภคภายในประเทศซบเซา เกิดภาวะเงินฝืด ปัญหาค่าครองชีพ รายได้ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม การบริโภคภายในต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำ
ทีมเศรษฐกิจชุดที่แล้วไม่ได้พูดเรื่องนี้เป็นหลัก เข้าใจว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจคือการออกกฎหมายที่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ อาจเป็นความเข้าใจผิดก็ได้ ตลอด 1 ปีกว่าของการทำงาน ทีมที่แล้วออกกฎหมายภาษี ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ที่ไม่ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยน แต่ที่ส่งผลแน่ๆ คือ ทำให้เศรษฐกิจของคนระดับรากฐานสังคมเกิดความชะงักงัน ทีมที่แล้วจัดลำดับของเรื่องผิด ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเร่งด่วนคือเรื่องปากท้อง การทำเรื่องนั้นอาจจำเป็นแต่ไม่ได้ตอบปัญหาเฉพาะหน้า และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในระยะยาวจริงๆ นอกจากไม่สนใจกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ยังมีแนวโน้มมองเป็นเรื่องประชานิยม เป็นการสร้างภาระทางการคลัง
จะเห็นว่าทีมที่แล้วไม่ได้ดำเนินนโยบาย อย่างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การพยุงราคาสินค้าเกษตร ทั้งยังมีความพยายามจะยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนหรือประหยัดรายจ่ายของประชาชน มันเป็นเรื่องแนวทางการกำหนดนโยบายที่ไม่เหมือนกันของสองทีม
ทีมของนายสมคิดน่าจะมีเอกภาพมากกว่า เพราะทีมที่แล้วคนที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาจากทหาร เช่น รมว.คมนาคม รมว.พาณิชย์ รัฐมนตรีพลเรือนไม่สามารถควบคุมรัฐมนตรีที่มาจากทหารได้อยู่แล้ว ฉะนั้นทีมเศรษฐกิจของนายสมคิดจึงมีโอกาสคุยกันได้ง่ายกว่า
เรื่องหนึ่งที่คิดว่าต้องทำคือ เศรษฐกิจชายแดน เศรษฐกิจภูมิภาค หรือการลงทุนรถไฟความเร็วสูง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ แม้กระทั่งการพยายามอธิบายให้สถาบันการเงินของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น ก็อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนกัน
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์-ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี-วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สังคมไทยจะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ คาดหวังว่าเทคโนแครตจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างกรณีของนายสมคิด ภาพของเขาคือเทคโนแครต ผู้มีความชำนาญด้านเศรษฐกิจและนโยบายด้านเศรษฐกิจมองไปที่ประวัติของเขาในสมัยปูพื้นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร
จริงๆ แล้วไม่อาจแยกไอเดียการบริหารทางเศรษฐกิจกับเรื่องที่มาของอำนาจออกจากกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน สมมุติว่านายสมคิดเปลี่ยนจากการอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปอยู่กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งฉะนั้นเงื่อนไขไม่เหมือนกันความสำเร็จของนายสมคิดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คิดว่าเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของที่มาของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐบาลขณะนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขการกดดันที่ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เงื่อนไขของรัฐบาล คสช.คือ การกำจัดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ
ความท้าทายของนโยบายของนายสมคิดที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าแตกต่างกับช่วงที่ทำงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณเยอะมาก วิธีคิดที่สะท้อนออกมาผ่านการแถลงนโยบาย ล่าสุดที่เห็นคือการมองผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดเชิงเทคนิค เช่น ผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร ชาวนา ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ สิ่งที่นายสมคิดพยายามทำคือ การเอื้อตลาดให้พ่อค้าคนกลาง การสร้างระบบสหกรณ์ นี่เป็นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค คือมองว่าเกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการบางอย่าง ถ้ามีการบริหารกระบวนการพวกนี้ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
แต่วิกฤตเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เช่น หุ้นตก เป็นภาพสะท้อนของวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่วนหนึ่ง ในระบบเศรษฐกิจของไทยขาดภูมิต้านทานมาก เปราะบาง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เศรษฐกิจก็พร้อมล้มไปตามเศรษฐกิจโลก ด้วยการจัดโครงสร้างชนชั้นของสังคมไทย กลุ่มที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุดคือชนชั้นระดับรากหญ้า ตรงนี้มีความพยายามแก้ไขเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่นำไปสู่การสร้าง พ.ร.บ.ประกันสังคมในปี 2538 เป็นแรงกดดันของคนในสังคม อีกครั้งคือปี 2544 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
อย่างที่ผมเห็นคือ นายสมคิดเข้ามาแก้ไขปัญหาทางเทคนิคอย่างหนึ่งแค่ให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินต่อไป แต่เมื่อเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ ความเสี่ยง ความเปราะบางที่ชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนมากในสังคมไทย มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย มองว่าไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาล คสช.
สิ่งที่นายสมคิดควรทำคือ กรุยทางสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ดำเนินการอย่างยั่งยืนได้ เราเห็นข้อจำกัดของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ ถ้าเราดูสิ่งที่รัฐบาลจัดให้คือ 1,200 บาทต่อปี เป็นส่วนที่น้อยมาก เฉลี่ยวันละ 2-3 บาทเท่านั้น เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคที่ทำให้คนออม แต่รัฐบาลไม่ได้จัดโครงสร้างเพื่อดูแลคนพวกนี้อย่างจริงจัง
สิ่งที่เรามีอยู่และทำให้เกิดการพัฒนาได้คือรัฐบาลต้องพัฒนาทุนมนุษย์ไม่ได้หมายถึงการศึกษาเท่านั้น แต่ทำอย่างไรให้คนในสังคมรู้สึกมั่นคงในชีวิตเมื่อถูกไล่ออกจากงานหรือเกษียณจากการทำงาน ประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหรือมีภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจ คือประเทศที่มีระบบโอบอุ้มประชากรที่ดี เหล่านี้ทำให้เขาพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพ เงื่อนไขที่เรามีอยู่ตอนนี้ มี 2 อย่างที่สามารถพัฒนาต่อได้คือระบบประกันสังคม ทำอย่างไรให้ทุกคนรวมถึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่เงื่อนไขของผู้ประกันตนแบบปกติได้
วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย
เห็นด้วยกับแนวทางที่จะเร่งช่วยเหลือรากหญ้าเป็นภารกิจเร่งด่วนด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เอกชนก็กำลังรอวิธีการและมาตรการที่จะออกมาอย่างชัดเจน หลังจากนี้อยากให้เร่งช่วยเหลือและเพื่อความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย กำลังมีปัญหาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนเรื่องอิโนเวชั่นเป็นเรื่องระยะยาวคงต้องใช้เวลา เบื้องต้นที่หอการค้าภาคเหนือจะผลักดันคือ ขอให้เร่งเปิดด่านถาวรอีก 2 จุด ใน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มการค้าชายแดน 2 ประเทศ รวมถึงฟื้นความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย
เอกชนสนับสนุนเรื่องเร่งดูแลระดับรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย และธุรกิจเล็กๆ ที่กำลังประสบปัญหาจากเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่อยากให้ตรวจสอบและเข้มงวดต่อการใช้งบประมาณหรือมาตรการถึงผู้ประสบปัญหาหนักสุดก่อน ไม่ควรออกมาตรการที่คุมทั้งหมด เช่น เรื่องการเพิ่มมูลค่าเกษตร อย่างชาวนา 12 ล้านคน ก็ไม่ควรใช้มาตรการเดียวกันทั้งหมด ควรสกรีนว่าใครเดือดร้อนมากสุดหรือยากจนสุด ช่วยทั้งงบช่วยเหลือประจำวันและลดต้นทุนไปพร้อมกัน อาทิ ออกคูปองแลกหรือส่วนลดซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ รวมถึงชะลอการจ่ายหนี้ไปจนกว่าฐานะการเงินดีขึ้น ไม่ควรเอาเงินไปช่วยทั้งหมด ต้องช่วยเพิ่มมูลค่าด้านอื่นๆ เช่น ลดต้นทุนระยะยาว สนับสนุนพัฒนาผลผลิตและมูลค่าผลผลิตเพื่อเพิ่มราคาขาย เป็นต้น
ขณะนี้อารมณ์คนในประเทศไม่มีกลุ่มยากจน รากหญ้า ไม่สนใจว่าเศรษฐกิจโลกและส่งออกจะเป็นอย่างไร แต่เขาต้องเห็นเงินในกระเป๋า ทำอย่างไรให้มีเงินเพิ่ม กลุ่มนี้จะใช้จ่ายทันทีที่มีเงิน ไม่นานเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว จะส่งผลต่อการกระตุ้นอารมณ์การลงทุนในประเทศและต่างประเทศในระยะต่อไป เพราะเชื่อมั่นต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจระยะกลางและยาว ซึ่งภาคลงทุนนั้นก็ต้องปรับให้กว้างขึ้น เช่น จะเน้นจีน ก็อย่าเน้นแค่จีนแผ่นดินใหญ่ ควรเพิ่มจีนไต้หวัน กลุ่มนี้มาลงทุนแล้ว 1.5 แสนราย น่าจะเพิ่มเป็น 2-2.5 แสนราย
ปรัชญา สมะลาภา
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย
แนวทางที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศ สอดคล้องกับความตั้งใจของหอการค้าไทยและภาคเอกชนคือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และภาคเกษตร ต้องออกมาตรการที่จะทำให้เขาอยู่ได้ ในช่วงกำลังซื้อลดลงและรายได้ไม่เพียงพอ แต่ต้องแยกว่ากลุ่มใดเดือดร้อนหนัก ดูว่าปล่อยไปก็ตายแน่ ต้องอัดฉีดเงินช่วยเหลือ ส่วนกลุ่มที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ก็สนับสนุนอุดหนุนเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และปรับปรุงเครื่องจักร โดยให้เข้าถึงแหล่งทุนและอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ที่สำคัญ น่าจะใช้โอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ ทำควบคู่กันทั้งแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องกับการปรับองค์กร โดยเฉพาะสนับสนุนเรื่องงานวิจัยและพัฒนา และนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในภาคเกษตร ต้องทำให้เกิดเสถียรภาพ ปีนี้ยางพาราค่อนข้างแย่ ตอนนี้สาหัสหนัก ราคายางพารากำลังเหลือ 4 กิโลกรัมต่อ 100 บาท ผลจากราคาหุ้นพลังงานตก เศรษฐกิจจีนชะลอ และราคาน้ำมันต่ำทำสถิติ ก็ยิ่งทำให้คนตกใจแห่ขายและกดราคาเกษตรที่เกี่ยวข้อง เร็วๆ นี้คงต้องหารือกับภาครัฐ ควรออกมาตรการพยุงด่วน
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์-ปรัชญา สมะลาภา-สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล
รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายของ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจจากระดับรากหญ้า ด้วยโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูกและการพยายามกระจายความเจริญการลงทุนไปยังภูมิภาค การลงทุนโครงการต่างๆ ถือเป็นสิ่งดีที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น มีการจ้างงาน สร้างรายได้ และกำลังซื้อของประชาชนระดับล่าง ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการระดับกลางและระดับล่าง ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนตามมา ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ควรลืมคือการท่องเที่ยว ควรเร่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวกลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อที่การท่องเที่ยวจะได้เป็นเสาหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลควรใช้มาตรการจูงใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะต้องให้ความสำคัญ
ส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศจะต้องเน้นในเชิงรุกมากขึ้น อาจเริ่มจากกลุ่มประชาคมอาเซียนเป็นอันดับแรก ส่วนการส่งออก กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้หมดโดยเร็ว เพื่อดันราคาข้าวในตลาดให้กลับมาสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าภาพลักษณ์ของทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดนี้ที่มีความใกล้ชิดและเคยผ่านงานกับภาคเอกชนมาน่าจะส่งผลดีต่อการทำงานของทีมชุดนี้
ที่มา : มติชน วันที่ 26 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.