คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
คำถามนี้ ศาสตราจารย์ดารอน อาเซโมกลู ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย MIT มีคำตอบในหนังสือ Economic Origins of Dictatorship and Democracy ที่เขียนร่วมกับ เจมส์ โรบินสัน (2006)
เขาสร้างแบบจำลองง่ายๆ แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคกับการก่อตัว และความยั่งยืนของประชาธิปไตยอย่างไร มีตัวละครสำคัญ 2 กลุ่ม หนึ่งคือชนชั้นนำหรือคนรวยเป็นคนกลุ่มน้อย แต่อยู่ในอำนาจ อีกกลุ่มหนึ่งคือคนธรรมดาทั่วไปเป็นคนกลุ่มใหญ่แต่ฐานะด้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ ชนชั้นนำนี้อาจต่างกันไปในแต่ละสังคม แต่มักจะรวย และถึงแม้ไม่รวยมาก่อน เมื่อมีอำนาจก็ใช้อำนาจสร้างความมั่งคั่งได้ ผู้ที่รวยอยู่แล้วก็ใช้อำนาจทางการเมืองเพิ่มความรวยต่อไป ดังนั้น ชนชั้นนำกับคนรวยจึงไปด้วยกัน
คนธรรมดาต้องการประชาธิปไตย เพราะเขาอยากได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการสาธารณะต่างๆ และการประกันสังคม คนรวยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านประชาธิปไตย เพราะไม่ต้องการเสียภาษีเอาไปจัดสวัสดิการ ดังนั้น ในสังคมความเหลื่อมล้ำสูงคนรวยยิ่งต่อต้านประชาธิปไตย ยกเว้นเสียแต่ว่าสถานการณ์บังคับ คือคนธรรมดาลุกฮือเป็นจลาจล และสร้างความเสียหายสูงเกินกว่าที่จะรับได้
แบบจำลองง่ายๆ นี้ ใช้อธิบายเมืองไทยในปัจจุบันได้ หลักฐานคือ 1.สังคมไทยเหลื่อมล้ำสูง ขณะเดียวกันขบวนการต่อต้านรัฐบาล ที่ในท้ายที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ก็ชูประเด็นคัดค้านนโยบาย "ประชานิยม" ที่มีผลทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้นและช่วยแก้ปัญหาคนธรรมดา และเพราะนโยบายดังกล่าวเป็นภาระภาษีแก่คนรวย 2.ผู้ที่คณะรัฐประหารคัดสรรให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรายได้เฉลี่ยเป็น 32 เท่าของรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ จึงจัดอยู่ในกลุ่มคนรวย
ในแบบจำลองของอาเซโมกลู แนวโน้มสู่ประชาธิปไตย หรือเผด็จการยังขึ้นอยู่กับต้นทุนหรือความเสี่ยงในการต่อต้านประชาธิปไตยที่คนธรรมดาต้องการ ความเสี่ยงหรือต้นทุนนี้จะสูงในสังคมที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งอุตสาหกรรมการผลิตใช้ทักษะแรงงานสูง ความเป็นเมืองสูงและประชาสังคมเข้มแข็งมาก
งานของพิกเก็ตตี้ เรื่อง Capital ก็อภิปรายประเด็นความเกี่ยวพันระหว่างความเหลื่อมล้ำ กับแรงต้านประชาธิปไตย โดยมีข้อสรุปว่าเศรษฐกิจระบบตลาด มีข้อดีตรงที่ส่งเสริมความรู้และทักษะรวมทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยี แต่ถ้าไม่มีการกำกับควบคุมก็จะส่งผลเสียเพราะมีศักยภาพที่จะทำร้ายประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม
พิกเก็ตตี้ได้ใช้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องภาษีและการได้รับมรดกในกรณีของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ชี้ให้เห็นว่าแหล่งที่มาของทรัพย์สินและรายได้ของกลุ่มคนรวยเปลี่ยนไปได้ และขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มคนด้วย ในช่วงที่เศรษฐกิจและประชากรขยายตัวช้า ความมั่งคั่งที่สะสมมาได้เพราะการรับมรดกมีความสำคัญสูงแต่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ในเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economics) เช่นไทย ซึ่งในช่วง 30-40 ปี ที่ผ่านมาประชากรและจีดีพี เติบโตเร็ว องค์ประกอบของกลุ่มคนรวยจะเปลี่ยนเร็ว คนรวยกลุ่มเดิมอาจจนลง (เศรษฐกิจวิกฤต) มีกลุ่มใหม่เข้ามา การเปลี่ยนแปลงที่ส่วนยอด 1% ของพีระมิดรายได้/ทรัพย์สิน จึงจะมีความสำคัญกับการเมืองมากกว่าแนวโน้มความเหลื่อมล้ำรวมๆ ของสังคม ทั้งนี้ เพราะว่าคนรวยมากๆ สามารถส่งผลกระทบกับการเมืองได้มาก
ในประเด็นนี้ อาเซโมกลูวิเคราะห์ว่า คนรวยที่มีรายได้มาจากที่ดินเป็นหลัก จะต่อต้านประชาธิปไตยมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะเขากลัวภาษีที่ดิน ที่เก็บได้ง่ายกว่าและหลีกเลี่ยงได้ยาก ขณะที่คนรวยที่พึ่งการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ใช้แรงงานทักษะมาก มีแนวโน้มที่จะต่อต้านประชาธิปไตยต่ำกว่า
นักวิชาการมีชื่อเสียงอีกรายหนึ่ง ศาสตราจารย์เจฟฟรี วินเตอร์ส เขียนหนังสือชื่อ Oligarchy (2011) บอกให้เห็นว่า กลุ่มคนรวยที่สุดในทุกสังคม พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะควบคุมหรือส่งอิทธิพลกับการเมือง เพื่อที่พวกเขาจะปกป้องความมั่งคั่งและรายได้ไม่ให้หล่นหายไป และในสังคมสมัยใหม่คนรวยจะมีอิทธิพลมิใช่แต่กับการเมืองแต่กับประเด็นหลักนิติธรรมด้วย
วินเตอร์ส เปรียบเทียบกรณีสุดขั้ว 2 กรณี ที่สหรัฐมีระบบกฎหมายตามหลักนิติธรรมลงหลักปักฐานอย่างชัดเจน และคนรวยที่นั่นพอใจที่จะใช้มันปกป้องทรัพย์สินของเขา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่ในช่วง 100 ปี ที่ผ่านมาคนรวยชาวอเมริกัน ก็ได้ทำให้ระบบการเลือกตั้งอยู่ใต้อิทธิพลของเงินตรา ดังจะเห็นได้ว่า คนรวยเสียภาษีรายได้จริงๆ ในอัตราที่ต่ำกว่าคนธรรมดามากและคนรวยก็ได้ส่งอิทธิพลทำให้การกำกับควบคุมระบบการเงินโดยภาคราชการไม่ได้ผลเลย (deregulation of finance)
อีกขั้วตรงกันข้ามที่อินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โต ที่ไม่มีทั้งประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม คนรวยที่นั่นห้อมล้อมผู้นำเผด็จการ คือ ซูฮาร์โต เพื่อใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของเขาปกป้องทรัพย์สินของพวกเขา และขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเดิมสร้างความมั่งคั่งผ่านการใช้กำลังบังคับหรือทำธุรกิจผิดกฎหมาย
อีกนัยหนึ่ง คนรวย อาจยอมรับหลักนิติธรรมในสถานการณ์ที่ถ้าทำเช่นนั้น จะช่วยปกป้องทรัพย์สินและทำให้เขารวยขึ้นไปอีก แต่ในอีกสถานการณ์ คนรวยก็สนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมด้วยเหตุผลเดียวกัน
แต่ทุกสังคมไม่ได้มีเฉพาะคนรวยและคนธรรมดา (คนจน) แต่มีชนชั้นกลางด้วย บทบาทของพวกเขาเป็นอย่างไร?
อาเซโมกลูวิเคราะห์ว่า ชนชั้นกลางมีลักษณะเสมือนกันชนระหว่างคนรวยและคนธรรมดาที่ขัดแย้ง และอาจจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งได้
จากการศึกษาประเทศต่างๆ เขาพบว่าสังคมที่มีชนชั้นกลางฐานะดีอยู่ได้สบายๆ เป็นจำนวนมาก พวกเขาจะเอียงมาทางนโยบายที่คนรวยพอใจ ทำให้ลดแรงต้านประชาธิปไตยโดยคนรวยลงไป และการพัฒนาการสู่ประชาธิปไตยในสังคมเช่นนั้น จะราบรื่นกว่าสังคมที่จำนวนชนชั้นกลางฐานะดีมีจำกัด
ในเมืองไทย เรามีชนชั้นกลางฐานะดีจำนวนจำกัด เพราะตามหลักฐานข้อมูล คนรวย 1% บนยอดพีระมิดรายได้และทรัพย์สินจะต่างจากกลุ่มรองลงมาอย่างมาก
แนวคิดข้อเสนอเหล่านี้มีนัยอย่างไรกับสังคมไทย?
ในภาวะความเหลื่อมล้ำสูง ณ ปัจจุบัน แนวโน้มสู่ประชาธิปไตยไม่แจ่มใส
ในอีกบทความหนึ่งชื่อ Oligarchic Vs Democratic Societies (2008) อาเซโมกลูวิเคราะห์กรณีของการปกครองโดยผู้ผลิตรายเดียว (หรือกลุ่มน้อย) บอกให้เห็นว่า การผูกขาดระบบเศรษฐกิจในระยะเริ่มแรกจะทำให้ตัวเองมีกำไรสูงแต่ต่อมา เศรษฐกิจจะชะงักงันไปไม่รอด เพราะการผูกขาด ปิดกั้นผู้ผลิตใหม่ๆ ที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมเข้ามาสร้างความเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว การปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้เร็วกว่าและยั่งยืนกว่า เพราะเอื้อกับของใหม่ที่มากับการแข่งขัน
ในกรณีนี้เขาพูดถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม จะไม่พอใจการผูกขาด เพราะพบว่าระบบผู้ผลิตรายเดียวไม่ช่วยให้พวกเขาเติบโตได้ จึงแตกตัวออกมาสนับสนุนประชาธิปไตย ดังนั้น ความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำ/คนรวย จึงเป็นช่องทางให้มีการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยได้
เราอาจจะเห็นการแตกตัวของกลุ่มชนชั้นนำ/คนรวยในเมืองไทย ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา
ที่มา : มติชน วันที่ 21 ส.ค. 2558