ครบ 4 ปีการต่อสู้คดีทางปกครอง และ 10 ปีของการใช้แบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 เวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องคดีเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ตามคำร้องที่ คส.20/2555 คำสั่งที่ 14/2558 ระบุยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
คำสั่งดังกล่าวทำให้ชาวบ้านบางคนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน และเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง ซึ่งมาร่วมฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดต้องหลั่งน้ำตาขณะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลักการอ่านคำสั่งสิ้นสุดลง
“เราไม่ได้หวัง แต่มันเป็นความน้อยใจ ไม่มีใครเข้าใจชาวบ้านเลย ที่ดินเราที่เราทำกินเป็นมรดกของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย สมบัติของเรากำลังจะโดนยึด ไม่มีอาชีพ ไม่มีอนาคต จะให้เราเอาเงินไปซื้อที่ดินมันเป็นไปไม่ได้” กันยา ปันกิติ ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง กล่าว
กันยา กล่าวว่า เธอยังไม่มีคดีติดตัว แต่เธอและชาวบ้านอีกหลายคนอาจโดนคนดีเช่นนี้อีกได้ในอนาคต เพราะตอนนี้ชาวบ้านถูกหาว่าบุกรุกในที่ดินทำกินของตัวเอง และโดนนโยบายของรัฐเข้าตัดฟันต้นยาง หากไม่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ก็จะถูกตัดฟันต้นยางเพราะเชื่อว่าเป็นของนายทุน แต่หากชาวบ้านแสดงตัวก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ อีกทั้งไม่มีเงินในการสู้คดีทำให้ชาวบ้านต้องอยู่ในภาวะจำยอม
ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด บอกด้วยว่า ตอนนี้ชาวบ้านที่โดนคดีคนหนึ่งอย่างต่ำก็ 5 แสน ไปจนถึงหลักล้าน และคดีแพ่งนี้ถึงแม้พ่อแม่ตายไปลูกก็ยังต้องชดใช้ค่าเสียหาย กลายเป็นมรดกหนี้ที่ต้องรับช่วงต่อ
“แบบจำลองนี้ไม่ชอบธรรม คิดแต่กับชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คนที่มีเอกสารสิทธิ์ตัดไม้ไม่เป็นไร การทำให้โลกร้อนดูแค่เอกสารสิทธิ์” กันยาให้ความเห็น พร้อมตั้งคำถามว่า ถ้าตัดต้นไม้ทำให้โลกร้อน แล้วการที่เจ้าหน้าที่อุทยานโค่นต้นยางชาวบ้านเป็นร้อยๆ ไร่ ทำไมไม่โดนข้อหาทำโลกร้อน
“มีเพียงคนในภาคเกษตรหรือที่ทำให้โลกร้อน แล้วภาคพลังงาน คนที่ขับรถ และภาคการผลิตอื่นๆ ทำไมไม่คิดค่าเสียหายตรงนี้ด้วย” กันยาตั้งคำถาม
ส่วนบุญ แซ่จุง ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง อีกคนหนึ่งกล่าวเรียกร้องถึงจรรยาบรรณทางวิชาชีพของนักวิชาการในการคิดแบบจำลองดังกล่าวมาเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน และตั้งคำถามถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการปฏิรูป แต่ไม่เคยหันมามองว่าข้าราชการทำอะไรกับชาวบ้าน ทุกรัฐบาลต่างเหมือนกันคือไม่สนใจชาวบ้าน
ด้านอัมรินทร์ สายจันทร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทีมทนายความในคดี กล่าวว่า คำสั่งของศาลไม่ได้บอกว่าแบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่เป็นการไม่รับพิจารณา และความยากต่อไปคือการสู้ในรายคดีซึ่งถือเป็นภาระหนักสำหรับชาวบ้าน อย่างไรก็ตามการต่อสู้ในศาลยุติธรรม ผลการพิจารณาคดียังสามารถนำมาใช้เป็นคดีตัวอย่างเพื่ออ้างอิงในการพิจารณาคดีอื่นๆ ได้
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทีมทนายความ กล่าวว่า ประเด็นในคดีนี้คือ แบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้อง คือ 1.กระบวนการคิดแบบจำลองขาดการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านและนักวิชาการ 2.หลักการในการคิดมูลค่าความเสียหายกรณีโลกร้อน หรือทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีหลักอยู่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่คำสั่งศาลออกมาในเชิงเทคนิคพิจารณาเรื่องการกระทำทางปกครองว่าเป็นการทำงานภายในหน่วยงาน ส่วนคนที่มีคำสั่งคือศาลยุติธรรม
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นายดิ๊แปะโพ กับพวกรวม 23 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 และกรมป่าไม้ ที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.412/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.26/2555 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ
และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของประชาคมวิชาการ โดยจัดให้มีการรับฟังจากประชาชน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนนำมาบังคับใช้
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่า
1. หนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดเพื่อใช้ประเมินและคำนวณค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติให้ทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ส่วนการกำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าใด ขึ้นอยู่กับการนำสืบต่อศาล จึงยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คนอันจะถือได้ว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
2. ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งของผู้กระทำหรืองดเว้นกระทำด้วยประการใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน กรณีมิใช่เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน อ้างสิทธิการมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อใช้สิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ที่มา : ไทยพีบีเอส วันที่ 15 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.