"...Earmarked tax ทำให้หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย(Polluter Pays Principle) ถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือการทำให้ภาษีประเภทต่างๆถูกใช้ในการแก้ปัญหาตรงกับสาเหตุของปัญหาไม่ถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ .."
การเก็บภาษีเพื่อใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked tax) เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการคลังเพื่อสังคมที่สำคัญมากโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาของ OECD เรื่อง The Political Economy of Environmentally Related Taxes เมื่อปี 2007 พบว่ามีมาตรการทางภาษีสิ่งแวดล้อม(Eco-tax)ที่ใช้ในกลุ่มประเทศเหล่านี้มากถึง 375 รายการ เช่น การเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ ขยะและของเสีย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ
โดยในจำนวนภาษีที่เก็บนี้เป็นประเภทภาษีที่ใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์เฉพาะ มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 และการเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
Earmarked tax ทำให้หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย(Polluter Pays Principle) ถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือการทำให้ภาษีประเภทต่างๆถูกใช้ในการแก้ปัญหาตรงกับสาเหตุของปัญหาไม่ถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น ทำให้อุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดสารพิษและปล่อยแกสเรือนกระจกมีจำนวนลดลงหรือปล่อยสารพิษลดลง และกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ในกรณีการเก็บภาษีสินค้าที่กระทบต่อสุขภาพ
ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องโดยองค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control) ให้มีการเก็บภาษีบุหรี่เพื่อลดการสูบบุหรี่และการส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น
การดำเนินการเกี่ยวกับภาษีประเภทนี้ดำเนินการซึ่งต้องผ่านกลไกของสภาซึ่งเป็นกระบวนการในระบบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกามีการดำเนินการในสองลักษณะ
กล่าวคือ หนึ่ง เป็นการออกกฎหมายมารองรับการใช้ภาษี (Hardmarks) ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็คือ การ มีพ.ร.บ.ในการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และไทยพีบีเอสซึ่งได้มาจากภาษีสุราและยาสูบ และสอง การใช้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะโดยไม่ต้องออกกฎหมายบังคับ (Softmarks) โดยผ่านการอนุมัติของสภาซึ่งเป็นการทำงานของกรรมาธิการเพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มและกิจกรรมในรัฐต่างๆ เป็นต้น
กลุ่มประเทศที่ใช้มาตรการทางภาษีดังกล่าวและทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูปในการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนมาก เช่น เฉพาะเดนมาร์กมีภาษีด้านสิ่งแวดล้อม 16 รายการ เบลเยี่ยม 8 รายการ ฮังการี 8 รายการ นอรเวย์ 6 รายการ เนเธอร์แลนด์ 5 รายการ
ในประเทศเดนมาร์กมีการเก็บภาษี Earmarked tax ในสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอัตรา 25-35% ของราคาขายปลีก โดยรายได้ดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการเกษตรโดยตรง ผลการดำเนินการดังกล่าวมีผลให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลงเป็นลำดับ
ในขณะที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานก็ลดลงเหลือระดับเพียง 3-4% ของจำนวนการสุ่มตรวจเท่านั้น (Economic Instrument in Chemical Policy, 2009)
ในขณะที่ในประเทศไทยจากการสุ่มตรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นมีระดับการตกค้างสูงกว่าค่ามาตรฐานโดยเฉลี่ยถึง 25-35%
การตัดการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะโดยตราไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดๆเป็นความผิดพลาด การขาดความรู้ และการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ซึ่งผลการกระทำนี้จะกระทบต่อการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 8 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.