วิกฤตการณ์ภัยแล้งที่ประเทศไทยเรากำลังเผชิญกันอยู่ แม้จะเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการแก้ไข แต่ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า
นั่นก็คือ ปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ “ชาวนา” ผู้เป็นกระดูกสันหลังของประเทศชาติที่กำลังประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงนาข้าว ไม่เฉพาะในแต่พื้นที่นอกเขตชลประทานเท่านั้น หากแต่ยังเกิดปัญหาขึ้นในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
แต่จนถึงวันนี้ เรายังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวนาได้อย่างชัดเจน นอกจากเห็นข้อมูลเป็นทางการ จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าผลผลิตข้าวจะลดลงประมาณ 11%
ประกอบกับรายงานจากสถานการณ์ภัยพิบัติด้านเกษตร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวเสียหาย 1.19 ล้านไร่ ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 และเสียหาย 78.25 ไร่ ในช่วงเดือนมกราคม-9 กรกฎาคม 2558 จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 62 ล้านไร่
ส่วนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 เสียหาย 68,000 ล้านบาท พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย 10—12 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 61 ล้านไร่
ทั่วประเทศ และมีผลผลิตเสียหายราว 4.6 ล้านตัน ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกับชาวนาโดยเฉพาะนั้นจะมีมากน้อยเพียงใด
ข้อความข้างต้น คือ สิ่งที่ ทีมเศรษฐกิจ พยายามจะบอกกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ถ้าเรายังคงหมกมุ่นกับปัญหาในอดีต วนเวียนอยู่กับความพยายามจะจำกัดความคิดให้อยู่ภายใต้กรอบที่เข้มงวด ที่สุดประเทศไทยเราจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีได้
ฉันใด ก็ฉันนั้น การไม่ให้โอกาสตนคิดนอกกรอบ ก็เท่ากับการปิดโอกาสตนที่จะช่วยเหลือชาวนาไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาล
กรณีนี้ทำให้เราพบความจริงที่สำคัญว่า การเพาะปลูกข้าวของไทยซึ่งแม้จะเป็นประเทศส่งออกสำคัญของโลก แต่ก็มีผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ “ต่ำมาก” หรือเพียงประมาณ 480 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น เพราะกระบวนการเพาะปลูกข้าวทั้งประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพียง 20% ของประเทศเท่านั้นที่มีโอกาสได้อาศัยระบบชลประทาน ซึ่งถือว่าเกือบต่ำสุดในโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของพื้นที่ชลประทานในการเพาะปลูกข้าวของโลกควรจะอยู่ที่ 50%
นั่นแสดงให้เห็นว่า การเพาะปลูกข้าวของไทย ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพา ลม น้ำ อากาศ ที่เรียกว่า นาน้ำฝน (Rain Rice) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้ผลผลิตต่ำ ตราบเท่าที่ไม่มีน้ำฝนตกลงในพื้นที่
ยังไม่นับรวมกับปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามากระทบชาวนา ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงจนไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างยั่งยืน ทั้งจากราคาปุ๋ยภายในประเทศที่มีราคาสูง และจากการที่รัฐบาลเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยสูงถึง 30% ขณะที่เกษตรกรยังต้องจ่ายทั้งค่าเช่าที่ดินทำนา และค่าจ้างแรงงานด้วย เป็นต้น
ความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับปัญหาในอดีต และการสร้างข้อจำกัดทางความคิดให้กับตนเองจนเกินไป เช่นการปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือที่รัฐพึงมีให้ทั้งในรูปนโยบายและงบประมาณ ที่เรียกรวมๆกันว่า ประชานิยม ทำให้การประกันราคาข้าวในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนถึงการรับจำนำข้าว หรือพยุงราคาข้าว ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการช่วยเหลือชาวนาได้อย่าง “ครบวงจร” และยั่งยืน นั่นจึงทำให้ชาวนาต้องเผชิญปัญหามากมายหลายด้านด้วยกัน
เริ่มต้นจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การไม่ขายข้าวคุณภาพต่ำในโกดังรัฐออกไป หรือขายข้าวดีกับข้าวไม่ดีและคุณภาพต่ำเกลี่ยรวมกันไปในราคาเท่าๆกัน ทำให้ราคาข้าวขึ้นไม่ได้
ปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าทั้งจากการถูกปฏิวัติรัฐประหาร และการเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนถึงการที่ราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำลงพร้อมๆกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ
ขณะที่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลังชาวนาหักคือ การป่าวประกาศห้ามชาวนาปลูกข้าวเนื่องเพราะน้ำหมดเขื่อน และฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ปัญหาต่างๆที่ว่ามาข้างต้นนี้ จะต้องมีการแก้ไข เมื่อมองภาพใหญ่ ในเชิงนโยบายของประเทศที่มีต่อภาคเกษตรของไทยระยะยาว ไม่เฉพาะเรื่องของข้าว หากแต่จะต้องยอมรับว่า รัฐบาลของประเทศไทยไม่เคยให้การสนับสนุนภาคเกษตรอย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้ภาคเกษตรเติบโตได้ยาก และมีความเสี่ยงสูงกว่าภาคการผลิตอื่นๆ
เพราะภาคเกษตรขึ้นอยู่กับลม ฟ้า อากาศ บางครั้งน้ำท่วม บางครั้งฝนแล้ง ยังมีปัญหาแมลงศัตรูพืชผสมเข้ามาด้วย ชาวนาจึงนับเป็นอาชีพหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงที่สุดในโลก
ขณะที่ภาคการผลิตอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม กลับได้รับการสนับสนุนและเงินอุดหนุนจากทุกรัฐบาลอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 5 ทศวรรษ เช่น การส่งเสริมการลงทุน การคุ้มครองด้านภาษีนำเข้า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ และการมีผู้แทนของภาคอุตสาหกรรม และการค้า เข้าไปร่วมเป็นกรรมการต่างๆที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจประเทศ
ตรงนี้จึงมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตขยายตัว โดยมีส่วนแบ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึง 34% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท (ปี 2557) และมีแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 15% ของแรงงานทั้งประเทศ
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนใน GDP เพียง 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท แต่มีจำนวนแรงงานในภาคนี้สูงถึง 39% และยังเป็นภาคที่มีการเจริญเติบโตต่ำอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สัดส่วนใน GDP ภาคเกษตรลดลง จนเป็นภาคที่มีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
เมื่อลองพิจารณาดูนโยบายของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าพวกเขาดูแลภาคเกษตรกันอย่างไร และทราบชัดว่า ประเทศกลุ่มนี้เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการผลิตและค้าขายสินค้าเกษตรหลายชนิด ตั้งแต่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล เป็นต้น
อย่างสหรัฐอเมริกา มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่เรียกว่า Agricultural Act หรือ Farm Bill ซึ่งประกอบไปด้วยหลายมาตรการ เช่น การอุดหนุน (Subsidies) การประกันราคา การประกันรายได้ รวม 10 มาตรการ รวมทั้งการกำหนดมาตรการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers : NTBs) เพื่อกีดกันการนำเข้า โดยในกฎหมาย Farm Bill ฉบับล่าสุด (Agricultural Act of 2014—2023) ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา คาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนภาคการเกษตรสูงถึง 956,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป หรืออียู ก็มีนโยบายในการช่วยเหลือภาคเกษตรกรของพวกเขาเช่นกัน โดยเรียกมาตรการช่วยเหลือนี้ว่า Common Agricultural Policy หรือ CAP และใช้เงินมหาศาลในการช่วยเหลือเกษตรกรของเขา
นโยบายเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเกษตรกรของประเทศแล้ว ยังส่งผลให้เกิดสินค้าเกษตรในโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก และทำให้การแข่งขันด้านราคามีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่อาจถูกบังคับไปในตัวให้ต้องขายสินค้าเกษตรในตลาดโลกต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศที่เป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิ (Net Food Exporter) ที่กำลังประสบกับปัญหารุมเร้าหลายด้าน รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรง การมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทุกวัน จนกระทั่งถูกแย่งชิงตำแหน่งประเทศชั้นนำการส่งออกสินค้าเกษตรไป เนื่องจากรัฐบาลขาดนโยบายและการสนับสนุนอย่างจริงจังเพียงเพราะกับดักที่อาจสร้างขึ้นเองโดยที่ภาครัฐก็ไม่รู้ตัว
ปัญหานี้ทำให้มองเห็นว่า ปัจจุบันนี้ภาคการเกษตรของไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เราจะปล่อยให้เกษตรกรไทยต้องไปผจญกับประเทศคู่แข่งที่มีความเพียบพร้อมในทุกด้าน หรือจะช่วยให้พวกเขาลุกขึ้นมายืนบนลำแข้งตนเพื่อต่อสู้บนเวทีโลกได้ เพื่อให้ได้น้ำมาหล่อเลี้ยงพืชเกษตร หรือความแปรปรวนจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนโดยลำพังไม่ได้
จากวิกฤตการณ์น้ำแล้งที่เกิดขึ้นมานี้ ทีมเศรษฐกิจยังเชื่อว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ และนี่น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุดของรัฐบาลปัจจุบันที่จะหยิบยกเรื่องของภาคเกษตรทั้งหมดขึ้นมาจัดทำเป็นนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาให้รอบด้าน โดยเฉพาะการวางรากฐานระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์ และแผนการสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตเพื่อการแข่งขันบนเวทีโลกให้ได้
แม้ว่าที่สุด รัฐจำเป็นจะต้องให้การอุดหนุนในรูปแบบต่างๆแก่เกษตรกรไทย ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการตลาดอย่างจริงจังก็ตาม
ผลของการส่งเสริมให้มีการส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจังนี้ นอกจากจะยกระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ภาคเกษตรอยู่คู่กับประเทศไทยอย่างแข็งแรงแล้ว
สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยในประเทศที่ยิ่งนับวันความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งสูงขึ้นไปตามลำดับด้วย
อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้น บางทีข้อจำกัดทางความคิดที่เข้มงวด กับการคิดวนเวียนอยู่แต่ปัญหาในอดีต เช่น นโยบายรัฐบาล หรือพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับการประกันราคาข้าวก็ดี การรับจำนำข้าว หรือการพยุงราคาข้าวมากเกินไปก็ดี ท้ายที่สุดมันอาจเป็นกับดักที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถให้การช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรในสภาวการณ์ที่ยากลำบากเช่นว่านี้ได้เลย
ทีมเศรษฐกิจ อยากแนะนำให้รัฐบาล “ลุงตู่” เร่งหามาตรการเยียวยาชาวนาและเกษตรกรไทยอย่างจริงจังด้วยการเปิดใจรับทุกข้อเสนอที่มีเข้ามา โดยเฉพาะในมาตรการเก่าๆที่ดีอยู่แล้ว และสามารถกระทำได้ทันทีเพียงแต่ต่อยอดเข้าไปเท่านั้น
ระบุผลสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 ว่า ประเทศไทยจะเสียหายกว่า 68,000 ล้านบาท โดยสำรวจจากเกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค.2558 พบว่า ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว 68,144.97 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.52% ของจีดีพี มีพื้นที่เพาะปลูกเสียหายแล้ว 10-12 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 61 ล้านไร่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 4.6 ล้านตัน มูลค่า 35,600 ล้านบาท และยังมีความเสียหายจากการผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงราว 32,512.44 ล้านบาทด้วย
ปัญหาภัยแล้งนี้อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 3% และหากรัฐบาลต้องการพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้มากกว่า 3%จะต้องใส่เงินเข้าระบบเศรษฐกิจราว 70,000-100,000 ล้านบาท ผ่านการให้เงินชดเชยแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าว โดยอาจจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท และเพิ่มความช่วยเหลือจากรายละ 15 ไร่ เป็น 20 ไร่ รวมถึงจ่ายเงินชดเชยราคาพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เร่งรัดโครงการขุดบ่อบาดาลเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังระบุด้วยว่า ปี 2558 นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดที่ต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจจึงทำให้จีดีพีอาจขยายตัวเพียง 2.75-3.25% เท่านั้น.
ทีมเศรษฐกิจ
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 3 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.