โดย...ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
สังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความพลวัตอย่างสูง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชั่วทุกขณะ ซึ่งมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคข่าวสารข้อมูล การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงในการผลิตทางเศรษฐกิจ รูปแบบของสินค้าจากหัตถกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมมากลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเหนือกว่า นั่นคือ ข่าวสารข้อมูล การสื่อสาร โซเซียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ (the creative economy) ซึ่งทำให้เกิดความพลวัตของการประกอบธุรกิจและนำไปสู่ความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การหมุนเวียนของเงินตรา การค้าขายในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ จนมีคำกล่าวว่า เงินหาได้ด้วยการเสกกระดาษให้เป็นเงิน หรือกล่าวง่ายๆ คือ เป็นการใช้ข้อมูลความรู้และความคิด นำไปสู่การค้ากำไร ซื้อหุ้นขายหุ้น ซื้อธุรกิจขายธุรกิจ ฯลฯ
ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมส่งผลต่อวัฒนธรรมสังคมและวัฒนธรรมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับอำนาจรัฐ มนุษย์กับการปกครองบริหาร และในระหว่างประเทศก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศ ประเทศกับภูมิภาค ภูมิภาคกับภูมิภาค ประเทศเล็กกับประเทศใหญ่ ประเทศเล็กกับมหาอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจและมหาอำนาจด้วยกันเอง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างพลวัต ซึ่งถ้ามองให้ดีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากความอิสระในทางความคิดของมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม จนนำไปสู่การค้นพบสัจธรรมและกฎเกณฑ์แห่งวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้อย่างมีเหตุมีผล จนนำไปสู่การนำความรู้มาประยุกต์กลายเป็นวิทยาการเพื่อสร้างอรรถประโยชน์ หรือที่เรียกว่าเทคโนโลยี มองในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงในแง่ความอิสระในแง่ความคิด ซึ่งเมื่อความคิดเป็นอิสระแล้วก็ย่อมนำไปสู่ความคิดที่สร้างสรรค์ในหลายแง่หลายมุมจนส่งผลกระทบในทางบวกดังที่เห็นอยู่ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
จากสภาพดังกล่าวข้างต้นนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลวัตในบริบทโลกที่เป็นสากล และย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น รวมทั้งประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ที่สำคัญ 3 ปรากฏการณ์ ได้แก่
1) โลกาภิวัตน์ เป็นยุคใหม่แห่งการพัฒนาของสังคมโลก อันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงตามคลื่นอารยธรรมของมนุษยชาติตามที่นักวิชาการตะวันตกได้กล่าวไว้ คือ การเปลี่ยนแปลงจากคลื่นลูกที่หนึ่งได้แก่สังคมเกษตร มาสู่สังคมคลื่นลูกที่สองคืออุตสาหกรรมหลังมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมาคลื่นลูกที่สามคือสังคมข่าวสารข้อมูล หรือที่เรียกว่า information technology อารยธรรมคลื่นลูกที่สามนี้มีอิทธิพลอย่างแข็งแกร่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติอย่างมหาศาล ที่สำคัญที่สุดคือการกระจายของข่าวสารข้อมูล ทำให้คนในสังคมโลกมีความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลทันท่วงเวลา และที่สำคัญนำไปสู่ความคิดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ผลสุดท้ายนำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมืองและปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในระบบการเมืองซึ่งเป็นระบบที่ปกครองบริหารตนมาตลอด มีการเรียกร้องให้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิขั้นมูลฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมในสังคม สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แผ่ไปทั่วที่ออกมาเป็นรูปธรรม คือการปฏิวัติดอกมะลิในประเทศตูนิเซีย ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบบเผด็จการไร้สิทธิเสรีภาพไปสู่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เรียกว่า the Arab Spring และยังตามมาด้วยการเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างคนรวยซึ่งไม่พอใจที่มีคนรวยๆ กว่า ที่เรียกว่า Occupy Wall Street การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เป็นลักษณะของโลกาภิวัตน์ซึ่งโลกกลายเป็นหมู่บ้านโลก (global village) มีการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร การเดินทางข้ามประเทศอย่างดาษดื่น ข้อมูลและความคิดที่เปิดกว้างทำให้ได้รับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั่วๆ ไป จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้หยุดยั้งไม่ได้ และนับวันจะทวีคูณความเข้มข้นยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองก็เผชิญกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้และไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติการเผชิญปัญหาและการปรับตัว
2) การผงาดขึ้นมาของเอเชีย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของข้อหนึ่งในระดับหนึ่ง ตะวันตกซึ่งเคยเป็นแหล่งของความเจริญทางเศรษฐกิจ ค่านิยมทางสังคม การปกครองบริหาร การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนนำไปสู่ลัทธิล่าอาณานิคม และสิ่งที่เกี่ยวพันอื่นๆ แต่มาปัจจุบันความเจริญดังกล่าวเริ่มขยับเปลี่ยนจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก อันเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศจีนและอินเดีย รวมทั้งประเทศรัสเซีย โดยรัสเซียซึ่งเป็นครึ่งเอเชียครึ่งยุโรปก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของทางเอเชียด้วยปริยาย จีนประกอบด้วยประชากร 1,350 ล้านคน อินเดียประกอบด้วยประชากร 1,150 บ้านคน บางกระแสบอกว่ามีถึง 1,400 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจีน ส่วนรัสเซีย ประกอบด้วยประชากร 130 ล้านคน เป็นประเทศที่พัฒนามีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ อีกสองประเทศซึ่งไม่ใช่ประเทศเอเชียแต่มีความเกี่ยวพันเพราะรวมเป็นกลุ่ม 5 ประเทศ ที่เรียกว่า BRICS (Brazil, Russia, Indian, China and South Africa) มีประชากร 190 ล้านคน ในทางแอฟริกาก็มีประเทศแอฟริกาใต้มีประชากร 50 ล้านคน การรวมกลุ่มดังกล่าวนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเดิมจะต้องมีหลักแหล่งใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากความจำเริญทางเทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่ง ภูมิรัฐศาสตร์จึงเปลี่ยนไปตราบเท่าที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกันได้ด้วยการขนส่งและการสื่อสารสมัยใหม่ ก็สามารถลดช่องว่างของความห่างของระยะทางเพื่อการติดต่อ BRICS จึงเป็นหน่วยเศรษฐกิจใหม่ที่สะท้อนถึงการผงาดขึ้นมาของเอเชียนำโดยจีน อินเดียและรัสเซีย ส่วนบราซิลและแอฟริกาใต้มาเป็นส่วนเสริมเพื่อให้สมบูรณ์ 3 ทวีป อันได้แก่ เอเชีย ลาตินอเมริกาและแอฟริกา 5 ประเทศนี้เป็นกลุ่มประเทศใหม่มีอำนาจในทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ประกอบด้วยประชากรที่มีจำนวนมหาศาล เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการตั้งธนาคารที่เรียกว่า Asian Infrastructure Investment Bank ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมกว่า 50 ประเทศเพื่อเป็นคู่แข่งของ World Bank และยังมีข้อตกลงอื่นๆ ในเรื่องการใช้เงินรูเบิลของรัสเซียและเงินหยวนของจีนเพื่อการค้าขาย สิงคโปร์ก็ตกลงจะร่วมด้วย การเติบโตของเอเชียเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้ เพราะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และดุลแห่งอำนาจในเวทีระหว่างประเทศ
3) สมาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นปรากฏการณ์ที่สามที่ 10 ประเทศในอุษาคเนย์จะรวมกันเป็นความร่วมมือทางภูมิภาค ประเทศสิบประเทศนี้ประกอบด้วยประชากรประมาณ 600 กว่าล้านคน หรือมากกว่าประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศจีน เป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมาก หลากหลายด้วยทรัพยากร เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ รวมตลอดทั้งลัทธิการเมืองการปกครองบริหาร แต่ก็สามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวและประเทศไทยก็อยู่ใน AEC ด้วย ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่ประเทศไทยต้องถามตัวเองว่าจะวางจุดยืนของตนอย่างไรในความร่วมมือภูมิภาคดังกล่าวนี้ โดยต้องคำนึงถึงตัวแปรที่กล่าวมาอีกสองตัวคือ โลกาภิวัตน์และการผงาดขึ้นมาของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่ง BRICS
ประเทศไทยจะต้องสำรวจสภาวะความเป็นจริงของปรากฏการณ์ทั้งสาม และต้องสำรวจถึงจุดแข็งจุดอ่อนของตนว่าจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและปรับปรุงจุดอ่อนได้อย่างไร เพื่อจะใช้สภาวะที่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นโอกาสที่เป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่คุกคามหรือผลในทางลบที่อาจจะขัดขวางไม่ให้มีการดำเนินตามนโยบายหรือจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ SWOT Analysis (Strengths, Weaknesses, Opportunities, Threats) ที่สามารถใช้เป็นกรอบของการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อที่จะหาทางกำหนดนโยบายในการพัฒนาตนเอง เพื่อเผชิญกับการท้าทายที่เกิดขึ้นของสามปรากฏการณ์ที่กล่าวมาเบื้องต้น ในส่วนนี้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและการปฏิบัติในหลายๆ ส่วน ทั้งในทางการเมือง การบริหาร ค่านิยม ปทัสถาน การศึกษา และบางส่วนของวัฒนธรรม การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การติดตามข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างสม่ำเสมอ
ที่สำคัญที่สุดจำเป็นต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถเผชิญกับการท้าทายที่เกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องแสดงศักยภาพของการเผชิญกับปัญหาต่างๆ อันเนื่องมาจากความพลวัตของการเปลี่ยนแปลงตามที่กล่าวมาเบื้องต้น
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 29 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.