คอลัมน์สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
กระแสข่าวการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าดูเหมือนซา ๆ ลง เช่นเดียวกับการตรวจสอบพบกลุ่มทุน ผู้มีอิทธิพล ถือครองที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มักปรากฏเป็นข่าวทางสื่อเป็นพัก ๆ ก่อนจะเงียบหาย
หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า ขนาดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับไม้ต่อจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้ามาตรการป้องกันรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อม ๆ ประกาศยุทธศาสตร์ยึดคืนผืนป่า ไล่ทวงที่ดินป่าไม้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ถูกบุกรุกถือครอง โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายผ่อนปรนกับชาวบ้านและผู้ยากไร้ที่รุกที่ดินรัฐเข้าไปทำกิน ระยะเวลาปีเศษจากเดือน พ.ค. 2557 ช่วงที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจจนถึงขณะนี้ การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าก็ยังมีให้เห็น ทั้ง ๆ ที่ยุคนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะบูรณาการทำงานเข้มข้น เพื่อปกป้องและทวงคืนผืนป่ากลับมาฟื้นฟูใหม่
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 ถึง มิ.ย. 2558 พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ (ไม่รวมอุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเล) รวม 2,300 คดี คิดเป็นเนื้อที่ 7.2 หมื่นไร่ จับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้รวม 580 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีการบุกรุกป่ามากที่สุด ได้แก่ จ.เลย มีพื้นที่ถูกบุกรุก 4.9 พันไร่ จ.นครพนม 4.8 ไร่ จ.ตาก 4.5 พันไร่ จ.กระบี่ 3.1 พันไร่ จ.อุดรธานี 2.5 พันไร่ รองลงไปคือ จ.กำแพงเพชร อำนาจเจริญ สุโขทัย เชียงใหม่ และพิษณุโลก
ส่วน 10 จังหวัดที่มีการลักลอบทำไม้มากที่สุด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี 274 คดี ลำปาง 204 คดี ศรีสะเกษ 188 คดี มุกดาหาร 140 คดี แพร่ 133 คดี รองลงไปคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ตาก และอำนาจเจริญ
ชี้ให้เห็นว่าการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าแม้จะคลี่คลายลงบ้าง เนื่องจากทางการนำมาตรการป้องกันและปราบปรามดำเนินการอย่างเข้มงวดเฉียบขาด แต่สถานการณ์โดยรวมยังอยู่ในขั้นวิกฤต จำเป็นต้องเดินหน้าปฏิบัติการในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยึดคืนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ป่าถูกบุกรุกทำลายในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากจำนวนพื้นที่ป่าและอุทยานแห่งชาติที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราทั่วประเทศรวม 5.5 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ป่า 4.4 ล้านไร่ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 1 ล้านไร่เศษ รัฐบาลมีนโยบายที่จะยึดคืนภายใน 2 ปี จากปี 2558-2559 รวม 1.5 ล้านไร่ แยกเป็นยึดคืนพื้นที่ป่าไม้ 1 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 5 แสนไร่ โดยปี 2558 จะยึดคืนพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ป่าไม้ 4 แสนไร่ และในอุทยานแห่งชาติ 2 แสนไร่ ส่วนปี 2559 จะยึดคืนพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ป่าไม้ 6 แสนไร่ และในอุทยานแห่งชาติ 3 แสนไร่
ในการดำเนินการจะใช้มาตรการทั้งทางกฎหมายและทางรัฐศาสตร์ จะมีการตัดฟันยางพาราบางส่วนที่บุกรุกที่ดินรัฐ จัดทำแนวเขตพื้นที่ป่าและอุทยานแห่งชาติให้ชัดเจน พร้อมกำหนดแนวกันชน จากนั้นจะฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนมา
ขณะเดียวกันจะเร่งฟื้นฟูป่าภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพบนที่สูงชัน หรือเขาหัวโล้น ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 60% ของพื้นที่ป่าต้นน้ำบนที่สูงชันที่ถูกบุกรุกภายใน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2578 เป้าหมายเพื่อใช้เป็นที่ดูดซับน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละลุ่มน้ำ โดยระยะเร่งด่วนปี 2558-2559 จะดำเนินการใน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ และน่าน ระยะกลางปี 2560-2569 ดำเนินการในพื้นที่อีก 13 จังหวัด หรือ 40% ของพื้นที่เป้าหมาย และระยะยาวปี 2570-2578 ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายที่เหลือทั้งหมด
ใช้กฎเข้มทั้งยึดคืน ทั้งสกัดการบุกรุกป่าเพิ่ม ก็ยังมีพวกที่กล้าฝ่าฝืน น่าจะงัดมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวลงดาบเสียให้เข็ด
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.