โดย บัณรส บัวคลี่
การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับผลกระทบสุขภาพที่เรียกสั้นๆ ว่า EIA/EHIA เป็นกลไกคุ้มครองสังคม/ชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมขนาดใหญ่ การที่ EIA/EHIA มันเกิดมีขึ้นมาในโลกก็เพื่อเหนี่ยวรั้ง ถ่วงดุล ทำให้การดำเนินกิจการต่างๆ รอบคอบขึ้น แต่ในความเป็นจริงการทำ EIA/EHIA ของประเทศไทยไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนก็แค่พิธีกรรมตราประทับ ไม่ได้มีไว้เพื่อคุ้มครองอะไรได้สักอย่าง
กฎหมาย EIA/EHIA ของไทยล้าหลังเพราะเอื้อให้เจ้าของโครงการมากกว่าชุมชน-ผู้ถูกกระทำ ตัวอย่างมีมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามันช่างน่ารันทดหดหู่แค่ไหนกับพิธีกรรมเปลือกๆ สักแค่จ้างนักวิชาการมาสักกลุ่มเขียนรายงานพอให้เป็นเล่ม เขาบังคับให้ไปประชุมกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบก็จัดแบบลวกๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้เอารายละเอียดอะไรให้ชาวบ้านได้ดู
เวทีรับฟังความเห็นประชาชนจากการทำ EIA ล่าสุดที่ผมได้ไปสังเกตการณ์คือโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่จ้างบริษัทเทสโก้ซึ่งใกล้ชิดกับปลอดประสพ สุรัสวดี กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษา เชื่อไหมครับเขาบอกว่าการศึกษาแล้วเสร็จตามสัญญา แต่ทว่าไม่มีเอกสารรายงานผลการศึกษาให้คนเข้าร่วมได้เห็น อ้าว! แล้วมารับฟังความเห็นขั้นสุดท้ายทำผีอะไร? แล้วมันก็เป็นแบบนี้กันแทบทั้งนั้น ไม่ได้สนใจเงื่อนไขที่เขาต้องการให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้รับรู้ได้นำเสนอได้แสดงความเห็นต่อรายงานนั้นๆ
รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังร่าง ได้บรรจุเรื่องของขั้นตอนการทำEIA ใหม่นัยว่าปกป้องคุ้มครองสังคมให้รัดกุมขึ้น ไม่ทราบว่าขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขได้เปลี่ยนอะไรไปบ้างเพราะมีผู้ขอแปรญัตติอยู่ไม่น้อย นั่นเพราะนักการเมือง/นายทุนและระบบราชการไม่ชอบกระบวนการ EIA/EHIA ที่รัดกุม มันไปมัดมือมัดเท้าเขา
กระบวนการ EIA/EHIA เป็นเครื่องมือของประชาชน อย่างน้อยคือการเปิดเผยรายละเอียดโครงการออกสู่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง ลักษณะไหน... อย่างการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ฝ่ายต้านเขาก็ยกเรื่องที่กฟผ.ยังศึกษา EIA/EHIA ไม่เสร็จเลยทำไมเร่งประมูลหาผู้รับเหมาแล้ว ในที่สุดรัฐบาลก็ให้ชะลอด้วยเหตุผลข้อนี้
แต่ก็นั่นล่ะสังคมอำนาจนิยมที่ไม่เห็นหัวประชาชนแบบไทยๆ เรามันเป็นเพี้ยนมานาน เพี้ยนจนระบบราชการเองก็ลืมไปแล้วว่า EIA/EHIA มันมีไว้เพื่ออะไร จึงสักแต่ให้มีกระบวนการนี้ให้จบๆ แถมยังมองด้วยสายตาแบบอำมาตย์ราชการว่าการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นต่างๆ ต้องเป็นไปโดยเรียบร้อย แปลว่าห้ามมีเสียงคัดค้าน มันจึงเกิดคำสั่งบ้าๆ ของจังหวัดสงขลาขึ้นมาในระหว่างเวที ค.3 โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จริงอยู่ที่สงขลาเคยมีกรณีที่มวลชนเข้าไปล้มเวทีประชาพิจารณ์หรือฟังความเห็นลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งวิธีการแบบนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง แต่ก็นั่นล่ะ ฝ่ายต้านก็อ้างว่าที่ไปล้มเพราะมันเป็นเวทีปาหี่พิธีกรรมเพื่อจะสร้างให้ได้
กลายเป็นงูกินหาง เถียงกันว่าเป็นเพราะพวกมึงนั่นล่ะเป็นสาเหตุ ทำนองไข่เกิดก่อนไก่หรือไก่เกิดก่อนไปเสียฉิบ!
ระยะหลังๆ มานี้สังเกตเห็นได้ชัด ความไว้วางใจกันระหว่างฝ่ายผลักดันให้มีโครงการ/ผลักดันนโยบายสาธารณะ กับฝ่ายคัดค้านไม่เห็นด้วยแทบไม่เหลือแล้ว ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าสังคมไทยเราเหลือพื้นที่กลางๆ สำหรับการเจรจาต่อรองพิจารณาถกเถียงเพื่อตัดสินใจอะไรสักอย่างของสาธารณะน้อยลงเต็มที
ซึ่งมันน่ากลัวมาก เพราะต่อไปจะมีแต่ฝ่ายที่ดึงดันจะสร้างให้ได้แบบศรีธนนชัย กฎหมาย EIA/EHIA หรือประชาพิจารณ์อะไรที่มีไว้ก็แค่พิธีกรรมทำให้ผ่านๆ เขาให้จัดเวทีก็เกณฑ์พวกเดียวกันมาเอาตำรวจมาล้อมพูดๆ ให้จบๆ ไป ไม่ใช่เวทีหรือพื้นที่เพื่อศึกษา ทบทวน ถกแย้งอะไรของพวกโลกสวยอีกต่อไป ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะไม่เชื่ออะไรน้ำยาของรัฐอีก
ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศนี้ก็หมดแล้ว ไม่เหลือพื้นที่การต่อรองโดยสันติ การผลักดันนโยบายสาธารณะใดๆ ของประเทศนี้ จากนี้ไปคงมีแต่กูจะสร้างให้ได้ อย่างอื่นเป็นแค่พิธีกรรมการรับฟังความเห็นเอาแต่พวกเดียวกัน กับอีกฝ่าย มึงมากูล้มอย่างเดียว เอาม็อบเข้าว่าไม่เอาแล้วเวทีซื้อเวลาทั้งหลาย...เพราะกูไม่เชื่อมึงแล้ว
ผมไม่รู้ว่าข้อเสนอการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมรวมถึงรัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาเช่นไร แต่หากไม่มีการแก้ไข ปรับปรุงอะไรเลย ประเทศนี้จะอันตรายมากและอย่าหวังว่ามันจะเป็นสังคมประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้จริง
กรณีโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของคนกระบี่หรือสงขลา แต่มันเป็นอีกตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนว่าประเทศนี้แยแสใส่ใจกับกระบวนการคุ้มครองสิทธิความรับรู้ สิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ สิทธิของเสียงส่วนน้อย ตลอดถึงเจตนารมณ์ของกระบวนการตรวจสอบตามกฎหมายแค่พอเป็นพิธี...อย่างที่มันเป็นมายาวนาน
นี่เป็นเรื่องปกติของประเทศที่ปกครองโดยอำนาจนิยมที่มีกลไกราชการคอยตบกบาลประชาชนซ้ำ มันเป็นแบบนี้มายาวนานและกำลังเป็นอยู่ หากรัฐบาลนี้คิดหวังจะปฏิรูปปรับเปลี่ยนสังคมจริงๆ ต้องทำให้กระบวนการ EIA/EHIA และประชาพิจารณ์กลับมาศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่กลางของสังคมไทยได้จริงๆ ถ้าผู้ว่าฯคนไหนออกประกาศอะไรที่ขัดหรือแย้งกับหลักการข้อนี้ ท่านก็เขกกะโหลกท่านผู้ว่าฯสักโป๊ก!
ที่มา : ASTV ผู้จัดการ วันที่ 27 ก.ค. 2558