โดย อาจารย์วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ภัยแล้งที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จากตัวเลขจะระบุว่าสัดส่วนของของภาคเกษตร (Output from agricultural product) จะอยู่เพียง 10% ของ GDP แต่สินค้าเกษตรได้เป็นวัตถุดิบขั้นต้น (Primary input) เพื่อส่งโรงงานแปรรูปและกลายมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม
กอปรกับข้อมูลที่ระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ (35% ของแรงงาน หรือกว่า 14 ล้านคน) ยังคงอยู่ในภาคการเกษตร ดังนั้น ไม่ว่าสัดส่วนอุตสาหกรรมและบริการของไทยจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน แต่เราไม่อาจทิ้งภาคเกษตรกรรมไปได้เพราะเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ไทยเป็นประเทศที่ใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Export-led growth nation) ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้แล้วประสบความสำเร็จ (กลุ่ม NICs ประกอบด้วยเกาหลีใต้ ฮ่องกงไต้หวัน สิงคโปร์)
อย่างไรก็ตาม การใช้โมเดลนี้มีความเสี่ยงตรงที่เราฝากการพัฒนาของประเทศไว้กับอุปสงค์ของคนอื่น กล่าวคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยอดสั่งซื้อสินค้าลด หรือมีสินค้าจากชาติอื่นที่ดีกว่าแต่ขายในราคาถูกกว่า สินค้าไทยย่อมอยู่ในสภาวะขายไม่ออก ไม่มีคำสั่งซื้อ
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ก็พบว่า 5 เดือนแรกในปี 2558 นี้ การส่งออกของเราลดลงกว่า 4.20% แม้จะมีการเติบโตในรายได้จากการท่องเที่ยว 28% แต่มันไม่สามารถชดเชยกันได้ทั้งหมด เพราะห่วงโซ่มูลค่าของการท่องเที่ยวมีการกระจุกตัวของกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จริงๆ มากกว่าการผลิต (Real sector) ดังนั้น สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จนถึงปีหน้า…เรียกได้ว่าน่าเป็นห่วง
มีตัวเลขที่น่าสนใจคือ รายได้ที่เป็นเงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตรทั่วประเทศโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 140,844 บาทต่อครัวเรือนเป็น 157,270 ต่อครัวเรือน (เพิ่มขึ้น 12%) แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้นอกภาคเกษตร (ที่เติบโตกว่า 20%) ซึ่งมาชดเชยรายได้จากภาคเกษตรที่ลดลง 0.68% ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรมีรายได้จากสิ่งที่ตนเองถนัด…ลดลง
สำหรับข้อมูลทรัพย์สินปลายปีของเกษตรกร ข้อมูลในช่วงปี 2551-2555 พบว่า เกษตรกรในภาคกลางและภาคใต้มีทรัพย์สินลดน้อยลง 3% และ 2.06% ตามลำดับ ซึ่งนับว่าไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกร ถึงกระนั้น พบว่าครัวเรือนเกษตรภาคกลางยังคงมีทรัพย์สินสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ โดยมีทรัพย์สินเฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 2.53 ล้านบาท
ในด้านหนี้สินปลายปี พบว่าครัวเรือนเกษตรทุกภาคมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนี้สินของครัวเรือนเกษตรในภาคกลางเพิ่มขึ้นถึง 60.15% ในช่วงปี 2551-2555 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีนัยยะที่น่าสนใจคือ เมื่อปี 2551 ครัวเรือนเกษตรที่มีหนี้สินสูงที่สุดอาศัยในภาคเหนือ แต่ 5 ปีต่อมา พบว่ากลายเป็นครัวเรือนเกษตรในภาคกลางที่มีมูลค่าของหนี้สินสูงที่สุดแซงหน้าภาคเหนือ ดังนั้น ครัวเรือนเกษตรในภาคกลางจึงเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินและหนี้สินสูงที่สุดในประเทศ
ทั้งนี้ ได้มีเครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์/นักวิเคราะห์ทางการเงินใช้วิเคราะห์เพื่อพิจารณาความเสี่ยงจากการให้กู้หรือสภาวะความเสี่ยงของผู้กู้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวคือ Debt/Equity (D/E) Ratio ซึ่งต้องการค่าที่ต่ำอยู่เสมอ
โดยจากการใช้อัตราส่วนทางการเงินดังกล่าววิเคราะห์ พบแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีสำหรับเกษตรกรไทยคือ D/E Ratio มีการสูงขึ้นในทุกภาค โดยภาพรวมพบว่า D/E Ratio ขยับตัวสูงขึ้นกว่า 40.60% ซึ่งถือว่าสูงมาก
โดยครัวเรือนเกษตรในภาคกลางมีค่า D/E Ratio เพิ่มขึ้นกว่า 67.43% ในช่วง 2551-2555 ซึ่งเป็นภัยเงียบที่นำไปสู่ความล้มเหลวของเสถียรภาพทางการเงินในกลุ่มเกษตรกรไทย
รองลงมาคือภาคอีสานและภาคใต้ที่มีการเปลี่ยนแปลงใน D/E Ratio ใกล้เคียงกัน ประมาณ 40%
ขณะที่ครัวเรือนเกษตรในภาคเหนือมีการเปลี่ยนแปลงของ D/E Ratio น้อยที่สุด ประมาณ 20% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของเกราะคุ้มกันทางการเงินของครัวเรือนเกษตรที่ลดต่ำลงในทุกภาค
เกษตรกรต้องแบกรับภาระหนี้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่แทรกแซงตลาดอย่างไม่สิ้นสุด เกษตรกรเกิดความเคยชินกับการประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร รับซื้อ หรือสนับสนุนด้วยเงิน
หากพิจารณาแล้วจะพบว่านโยบายถูกปรับใช้เหมือนๆ กันในแต่ละภาค (เช่น ชาวนาในภาคเหนือได้รับสิทธิเหมือนชาวนาในภาคกลาง) ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรในแต่ละภาคมีลักษณะหรือสภาพ (Condition) ที่แตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น ภาระหนี้สิน ผลตอบแทนเมื่อวัดจากราคาหน้าฟาร์ม รวมถึงความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นไม่ได้สะท้อนปัญหาสังคมที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ “หนี้นอกระบบ” สาเหตุสำคัญที่สุดของหนี้นอกระบบคือระดับความยากจนของเกษตรกร ทำให้ไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องทนจ่ายดอกเบี้ยที่สูงและการทวงเงินที่รุนแรงจากบรรดาเจ้าหนี้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีโครงการ “นาโนไฟแนนซ์” (Nano-Finance) ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นคนต้นคิด มีหลักการมาจาก “ไมโครไฟแนนซ์” ในต่างประเทศหรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ของบังคลาเทศ
ลักษณะของนาโนไฟแนนซ์ก็คือการให้สินเชื่อแก่ประชาชนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่สามารถกู้ได้ วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยและค่าปรับอื่นๆ ไม่เกิน 36% ต่อปี
ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปแล้วทั้งสิ้น 9 ราย เช่น บจก. ซีเอฟจี เซอร์วิส (ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ) บจก. เมืองไทยลิสซิ่ง และ บมจ. แมคคาเล กรุ๊พ เป็นต้น ซึ่งเปิดบริการให้กู้แล้ว 2 ราย (บจก. เงินสดทันใจ และ บจก. ไทยเอซ แคปปิตอล) โดยให้สินเชื่อไปแล้ว 50 ราย วงเงินรวม 6.2 แสนบาท
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตอนนี้บริษัทเหล่านี้ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อในหลายจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จากการสอบถามเบื้องต้นยังพบว่าประชาชนไม่รู้จักนาโนไฟแนนซ์ ภาครัฐจึงต้องประชาสัมพันธ์โครงการให้มากกว่านี้ มิเช่นนั้น อาจเป็นโครงการที่ดีแต่สูญเปล่าเพราะคนที่รู้จักและใช้ประโยชน์มีอยู่ในวงจำกัด
ทั้งนี้ ประเด็นที่ขอเสนอต่อคือ
ที่มา : Siam Intelligence วันที่ 25 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.