ประเทศไทยมีที่ดิน ๓๒๑ ล้านไร่ มากพอที่จะจัดสรรให้ราษฎรที่ยากจนครอบครัวละ ๒ – ๓ ไร่ โดยยังมีที่เหลือสำหรับอุตสาหกรรม
เศรษฐกิจของชาวนาติดลบอยู่แล้ว พอเจอฝนแล้งน้ำแห้งขอด ก็จอดพอดี
ชาวนาจะรอดตาย และรัฐบาลก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะปัญหาใหญ่มากและแก้ยาก
ภูมิปัญญาอาณานิคมทำให้ประเทศจนตรอก
เมื่อก่อนประเทศในเขตมรสุมอุดมสมบูรณ์ไม่มีใครอดตาย ชาวบ้านปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ สมุนไพร เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ มีป่าไม้ มีทะเล เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนมีอาหารกินเหลือเฟือ จึงชอบทำบุญทำทาน เมื่อมหาอำนาจตะวันตกมายึดครองประเทศต่างๆ เป็นอาณานิคม ก็ต้องการกอบโกยทรัพยากรของประเทศอาณานิคมไปสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง โดยตัดไม้ทำลายป่าและเปลี่ยนวิถีชีวิตการเกษตรของประเทศอาณานิคม เช่น ให้ศรีลังกาปลูกแต่ป่าไม่ต้องปลูกข้าวให้ไปเอาข้าวจากพม่ามากิน นั่นคือเปลี่ยนวิถีการเกษตรจากเกษตรผสมผสานหรือเกษตรยั่งยืน มาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นปลูกชาอย่างเดียว ปลูกข้าวอย่างเดียว เพื่อเจ้าอาณานิคมจะได้มีความสะดวกในการถ่ายเทไปขายเอากำไรเข้าตัวเอง
การเปลี่ยนวัฒนธรรมของเกษตรกรไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้เศรษฐกิจของเกษตรกรติดลบ เพราะมีการทำลายความเป็นป่าลง ดินจืด แมลงลง ต้องซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อเชื้อเพลิง เพราะป่าหมดไป อะไรที่เกษตรกรซื้อจะแพงอะไรที่ขายจะถูกเพราะถูกกดราคา ใครตกอยู่ในสภาพขายถูกซื้อแพงก็ต้องขาดทุน เกษตรกรจึงล้มละลายหมดเป็นหนี้เป็นสิน ต้องขายที่ ขายวัวขายควายแม้กระทั่งลูกสาว ป่าไม้ที่หมดไปก็ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เมื่ออพยพมาเป็นผู้ใช้แรงงานในเมือง ก็เจอปัญหาค่าแรงราคาถูกอีก ต้องเช่าบ้านอยู่ต้องซื้อข้าวกิน ค่าแรงวันละ ๓๐๐ บาท ก็ไม่พอยังชีพ จะขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมว่าทำให้เขาแข่งขันไม่ได้ เพราะต่างประเทศค่าแรงราคาถูกกว่าไทย
ประเทศมหาอำนาจทำกับเมืองขึ้นโดยทำลายฐานทรัพยากรและฐานวัฒนธรรม ของคนส่วนมากเปลี่ยนเป็นเงินของคนส่วนน้อยคือเจ้าอาณานิคม เมื่อคนไทยไปเรียนจากเขาแล้วไม่ดูให้ดีไปเอาวิชาการที่เขาทำกับเมืองขึ้น มาทำกับเกษตรกรของเราเอง จึงทำให้คนส่วนใหญ่จนลง คนส่วนน้อยรวยขึ้น ธรรมชาติเสียสมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำขนาดหนัก เป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองที่แก้ไม่ได้
ปัญหาความยากจนของเกษตรกรนั้นซับซ้อนและสาหัส แก้ไม่ได้ด้วยการทำโน่นนิดนี่หน่อย
กุญแจคือการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
สิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คือสิทธิที่จะมีชีวิต
การมีชีวิตต้องอาศัยปัจจัยดำรงชีวิต ในครั้งโบราณทุกคนมีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะใช้ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำในการดำรงชีวิต ต่อมาเมื่อมีรัฐและรัฐใช้อำนาจ ก็ถือว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น เป็นของรัฐไม่ใช่ของประชาชน สุดแต่รัฐจะให้ใครใช้หรือไม่ให้ใช้ ปรากฏว่ารัฐไม่สามารถจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ดังที่เกิดปรากฎการณ์เกษตรกรไม่มีที่ทำกิน ยากจนถ้วนหน้า และสูญเสียความเป็นป่าจนเกิดหายนะภัยทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง
ประเทศไทยมีที่ดิน ๓๒๑ ล้านไร่ มากพอที่จะจัดสรรให้ราษฎรที่ยากจนครอบครัวละ ๒ – ๓ ไร่ โดยยังมีที่เหลือสำหรับอุตสาหกรรม การที่แต่ละครอบครัวของราษฎรที่ยากจนมีที่ดิน ๒ – ๓ ไร่ จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ดังต่อไปนี้
(๑) คนจนมีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย ทำบ้านดินอยู่ในที่ของตนเองก็ได้
(๒) ทำสระน้ำประจำครอบครัวให้เก็บน้ำได้ทั้งปี สระน้ำประจำครอบครัวจะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถเลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้นในที่ของตน ผู้ใหญ่ผายกับพ่อคำเดื่อง ทำวิจัยไว้แล้วว่า ๑ ไร่ พอกินทั้งครอบครัวได้ สภาหอการค้าก็ไปทำการทดลองและอบรมเรื่อง ๑ ไร่/๑ แสนบาท
ฉะนั้นที่ดิน ๒ – ๓ ไร่ ต่อครอบครัวพอกินแน่นอน หลุดหนี้มีเงินออมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับที่ความเป็นป่ากลับคืนมา แก้ภัยแล้งและน้ำท่วม
การมีสระน้ำประจำครอบครัวทั่วประเทศจะเก็บน้ำได้มโหฬาร ไม่ต้องไปทะเลาะกันเรื่องสร้างเขื่อน ถึงมีเขื่อนก็ไม่เป็นประกันว่าชาวบ้านจะได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง แต่สระน้ำประจำครอบครัวชาวบ้านจัดการเองได้จึงเป็นการเข้าถึงน้ำอย่างทั่วถึง และการเก็บน้ำไว้ในต้นไม้จะป้องกันการที่เขื่อนปล่อยน้ำมาท่วมกรุงแบบปี ๒๕๕๔
(๓) บูรณาการระหว่างชุมชนเกษตรกับแรงงานอุตสาหกรรมจะลดความกดดันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ใช้แรงงานที่ต้องเช่าบ้านอยู่ ซื้อข้าวกิน ค่าแรงวันละ ๓๐๐ บาทก็ไม่พอกินพอใช้ แต่ถ้าเขาอยู่ในชุมชนเกษตรกรรม ที่มีที่อยู่มีข้าวกินได้ค่าจ้างเท่าไหร่ก็เป็นเงินเหลือ แถมยังได้อยู่กับครอบครัว และญาติพี่น้องในชุมชน เป็นความอบอุ่น ลดปัญหาความเครียดทางจิตใจและสังคม
(๔) หากเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลกัน ประเทศไทยก็จะเข้มแข็งทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรอย่างทั่วถึง เพื่อทำเกษตรยั่งยืน หรือเศรษฐกิจพอเพียง คือกุญแจแก้วิกฤตประเทศ ควรที่ทุกภาคส่วนจะทำความเข้าใจและช่วยกันผลักดันให้เป็นจริง
อนึ่งมีเทคนิคการปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลมาก เทคนิคนี้ค้นพบโดยชาวนาที่มาดาร์กาสการ์ ต่อมาเรียกว่าเทคนิค SRI ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย ใช้น้ำน้อย ไม่ใส่ปุ๋ยเลย ให้ผลผลิตข้าวต่อเอเคอร์มากกว่าเดิมหลายเท่า
หลักการมีดังนี้ หยอดเมล็ดพันธุ์ลงหลุมที่อยู่ห่างกันหลุมละไม่กี่เมล็ด เพื่อให้ต้นข้าวมีเสรีภาพที่จะเติบโตเต็มที่ ไม่เบียดเสียดแย่งปุ๋ยแย่งแสดแดดกันเองทำให้ลำต้นแคระแกรน ใช้น้ำน้อยไม่ให้ต้นข้าวแช่น้ำ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินกับออกซิเจนในอากาศทำปฏิกิริยากันสร้างปุ๋ยได้มาก ส่งให้ต้นข้าวลำต้นใหญ่ออกรวงใหญ่ผลิตเมล็ดข้าวได้มาก
การให้ต้นข้าวแช่น้ำน้ำจะป้องกันปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในดินกับออกซิเจนในอากาศ ทำให้ต้นข้าวได้รับปุ๋ยไม่มาก ต้นจึงเล็กและรวงน้อย
เทคนิคที่ชาวนาที่มาดาร์กาสการ์ค้นพบนี้ให้ปริมาณข้าวกว่า ๑๐ ตันต่อเอเคอร์ เบื้องต้นไม่มีนักวิชาการเชื่อ แต่ ดร.นอร์แมน อัพฮอฟฟ์ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ไปดูมาแล้วยืนยันกว่า เป็นความจริง เทคนิคเอสอาร์ไอนี้ได้แพร่กระจายจากมาดาร์กาสการ์สู่ศรีลังกา เขมร และจีน
ควรที่กรมวิชาการจะตรวจสอบดู ถ้าได้ผลดีจริง และนำมาเป็นนโยบายจะกระทบต่อนโยบายการจัดการน้ำอย่างมโหฬาร และเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างมหาศาลรวมทั้งตัดการต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีลงไปด้วย
นักวิชาการของเราต้องมีความไวต่อความรู้ที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลก รวมทั้งที่สร้างโดยชาวบ้านในประเทศของเราเองด้วย เพื่อนำมาพัฒนานโยบายให้เกิดสัมมาพัฒนา เพื่อแก้ไขความยากจนและสร้างความเป็นธรรม การทำเพื่อคนจน และเพื่อความเป็นธรรม จะเป็นจุดร่วมของคนไทยทุกภาคส่วน เกิดความสามัคคีของคนทั้งชาติ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 20 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.