โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์, พิมพ์ชนก พุกสุข
กลายเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์น่าหวาดหวั่นอันงวดใกล้ตัวเข้ามาทุกที สำหรับปัญหาภัยแล้ง
นับตั้งแต่นาทีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีประกาศให้ อ.ธัญบุรี อ.หนองเสือ และ อ.ลำลูกกา เป็นพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้ง หลังจากสถานีผลิตน้ำประปา สาขาธัญบุรี คลอง 13 เขตอำเภอหนองเสือ ไม่สามารถจ่ายน้ำได้อีก
อาการตื่นตระหนกของผู้คนเมื่อได้รับข่าวนี้จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใดเมื่อถึงอย่างไร ผู้คนก็ต้องกินต้องใช้ อุปโภคบริโภคกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
กับปัญหาและภาวะเหล่านี้ "ดร.เดชรัต สุขกำเนิด" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำตอบและแง่มุมหนึ่งที่ดึงรั้งให้สังคมได้หยุดคิด ถึงที่มาที่ไปของภัยแล้งและสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อพบเจอสภาวะเช่นนี้
ดร.เดชรัต เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2511 เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพิมลวิทย์ แขวงบางพลัด และชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ
"ตอนเด็กๆ ไม่ได้สนใจเรื่องการเกษตรเป็นพิเศษ แต่คุ้นเคยอยู่เพราะที่บ้านทำการเกษตรอยู่บ้าง"
ความสนใจของ ดร.เดชรัตนั้นเริ่มจากที่ว่า จะแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างไรมากกว่า นั่นจึงนำพาเขาไปสู่คณะอุตสาหกรรมเกษตร
"ก็เลยทำให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดของประเด็นนี้น่าจะอยู่ที่การจัดการ จึงมาเรียนด้านนี้"
ซึ่งหลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรในระดับปริญญาตรี และเศรษฐศาสตร์เกษตรในระดับปริญญาโท จากรั้วเกษตรศาสตร์ ล้วนตอบโจทย์ของเขาได้ครบถ้วน จากนั้นเขาจึงไปศึกษาปริญญาโทใบที่สองยังสถาบัน International Institute of Social Studies ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในสาขาการเกษตรและการพัฒนาชนบท และคว้าปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออลบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก สาขาการวางแผนและการพัฒนา
ประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการใช้ชีวิตที่เดนมาร์ก ประเทศที่ได้ชื่อว่า "มีความสุขที่สุดในโลก" ได้ถ่ายทอดมาอยู่ใน "บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม" บ้านโลว์คาร์บอนแสนอบอุ่น เต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า ปลูกผักเลี้ยงปลาแบบเรียบง่าย แต่เป็นสวรรค์เล็กของครอบครัวสุขกำเนิด กับคู่ชีวิต "แม่ทิพย์" รุ่งทิพย์ และทายาทอีก 2 คน น้องกระติ๊บ-วริษา และน้องแดนไท สุขกำเนิด
กระนั้น ในชีวิตการทำงาน ความสนใจของ ดร.เดชรัตก็ยังวนเวียนอยู่กับเศรษฐศาสตร์การเกษตร ทั้งการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความสนใจด้านพลังงานอันจะเห็นได้จากการที่ชื่อเขาไปปรากฏอยู่ในหัวข้อที่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ
กับเรื่องภัยแล้งและการจัดการทรัพยากรในประเทศก็อยู่ในความสนใจของเขาเช่นกัน
ที่มาของปัญหาและทางออกที่เขาเห็นและแนะนำอยู่ในบรรทัดต่อไป
- สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันกับการเกษตร
ภัยแล้งส่งผลกระทบมากเลยทีเดียว ในแง่ผลผลิตในตอนนี้ข้าวหายไปราว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในที่นี้เป็นการพูดในภาพรวมของประเทศ แต่สำหรับบางครัวเรือนนั้นหมายถึงหายไปครึ่งหนึ่งเลย แทนที่จะได้ปลูก 2 รอบต่อปีก็ปลูกได้เพียงแค่รอบเดียว ในส่วนที่เป็นพื้นที่ชลประทานปีนี้คงจะหายไปอย่างน้อย 1 รอบการเพาะปลูกแน่ๆ ส่วนสถานการณ์นอกเขตชลประทานก็ต้องดูว่าฝนจะมาปกติหรือไม่ คือถ้าฝนเริ่มมาในภาคอีสาน ณ ตอนนี้ยังปลูกทัน อาทิ ข้าวหอมมะลิ อาจจะยังปลูกได้ถ้าฝนมาตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป เพราะพวกเขาไม่ได้พึ่งน้ำในเขื่อนอยู่แล้ว
- สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
คงต้องพูดตรงๆ ว่า รัฐตื่นตัวช้าเกินไป คือไม่เชิงว่าไม่ทราบ ทราบแล้วแต่ว่าการปลุกกระแส หรือเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ นั้นมาไม่ทันการณ์ คือมาในช่วงที่เป็นวิกฤตไปแล้ว หรือช่วงเวลาที่ไม่สามารถที่จะมีทางเลือกอื่นได้เพียงพอ ถามว่าปีนี้ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญเรารู้ตั้งแต่เมื่อไร คำตอบก็คือเรารู้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาก็บอก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีความคิดที่ลดพื้นที่ปลูกข้าวอยู่แล้ว แต่กลไกที่จะช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวจริงๆ อันเป็นกลไกที่เป็นชิ้นเป็นอันนั้นเรากลับไม่มี ในรอบนาปรังเกษตรกรบางรายจึงไม่ได้ปลูกข้าว และไม่ได้ปลูกอะไรอย่างอื่นด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรายได้ มันก็เลยเข้าสู่ภาวะการภาวนาอย่างที่เราเห็นอยู่
- เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้วยหรือไม่?
ส่วนหนึ่งรัฐบาลคงไม่ได้คิดว่าจะเลวร้ายขนาดนี้เพราะฉะนั้นในช่วงก่อนหน้านี้จึงมีการนำน้ำในฝั่งตะวันตก จากเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ มาดันน้ำเค็ม ดันอย่างเต็มที่ แต่พอดันไปแล้วถึงจุดหนึ่งมันไม่พอแล้ว ดังนั้น การบริหารจัดการโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมนั้นไม่จริงจังพอ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เราสามารถจะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเอลนิโญเกิดขึ้น หากย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่เราไม่รู้จักเอลนิโญจะไม่ว่ากัน แต่ว่าตอนนี้เรารู้ว่าอาจจะเกิดเอลนิโญ แต่การเตรียมการกลับไม่ขึงขัง จะมาขึงขังก็ต่อเมื่อมันเข้าวิกฤตจริงๆ แล้ว
- ภัยแล้งในวันนี้เป็น "บทเรียน" สำหรับวันหน้า
ผมมองว่าถ้ารัฐบาลเอาแพทเทิร์นของน้ำมามองย้อนไปสัก 50 ปี จะเห็นว่า แต่ก่อนช่วงเวลาของน้ำมากสุด กับน้ำแล้งสุดจะมีช่วงเวลาราว 9 ปีต่อหนึ่งรอบ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ปี อย่างในปี 2554 เรามีน้ำมามากสุดสุด พอมาปี 2558 เราเจอปัญหาน้ำแล้งสุดสุด ซึ่งในระหว่างนั้นเราจะพบว่าหลังจากปี 2554 ก็มีปัญหาน้ำมากแต่ก็ไม่เทียบเท่า ส่วนปีที่แล้วก็มีเรื่องน้ำแล้งแต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด
ฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำก็จะต้องปรับใหม่ ต้องจัดการไปข้างหน้า ไม่ใช่จัดการแบบย้อนหลัง อย่างในปี 2553 เราพบว่ามีปัญหาน้ำแล้งเล็กน้อย มาปี 2554 เราจึงตัดสินใจที่จะเก็บน้ำ สุดท้ายน้ำก็ท่วม พอมาปี 2555 เราก็กลัวว่าน้ำจะท่วมก็ระบาย พอมาปี 2556 ก็พบกับภัยแล้ง คือเราจัดการโดยที่ไม่ได้ดูวงจรตรงนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ให้ข้อสรุปว่าวงจรมันสั้นลง ดังนั้น เราจึงไม่ควรทำแบบปีต่อปีและใช้ข้อมูลในอดีต ทั้งที่ความจริงเราต้องใช้ข้อมูลในอนาคตในการตัดสินใจ
- เกษตรกรจะต้องปรับตัวอย่างไร
ในระยะสั้นตอนนี้เราคงมีตัวเลือกไม่มาก เพราะการเตรียมพร้อมก่อนหน้านี้ไม่ค่อยดีนัก แต่ในเบื้องต้นตอนนี้เกษตรกรในหลายพื้นที่ก็รู้ ถ้าไม่มีฝนมาพวกเขาก็จะไม่เสี่ยงจึงได้ชะลอการปลูกไปก่อน รวมถึงการเปลี่่ยนสายพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อย หรือระยะเวลาปลูกสั้นลง นี่เป็นการปรับตัวระยะสั้น
ส่วนในระยะยาวนั้น ต้องตั้งโจทย์ว่าจะพึ่งตัวเองในเรื่องของน้ำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทานบางที่ เขาก็ทำใจไว้แล้วว่าพวกเขาไม่มีชลประทานจึงได้มีการขุดบ่อในพื้นที่ ทำระบบจัดการน้ำ ผมเองเคยมีโอกาสไปดูงานที่จังหวัดยโสธร เห็นเกษตรกรที่นั่นมีการขุดบ่อไว้ เพื่อที่อย่างน้อยจะมีน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกตามแผนที่กำหนด
แต่ว่าสิ่งนี้เกษตรกรไทยยังไม่คุ้นเคย เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องของการเสียที่ดิน เดิมเรามี 10 ไร่ ขุดไป 1 ไร่ ก็จะเหลือ 9 ไร่ แต่ความเป็นจริงแล้ว 1 ไร่ ที่ว่าจะทำให้อีก 9 ไร่ สามารถอยู่ได้โดยไม่พึ่งฝน ที่สำคัญคือเพิ่มรายได้ด้วยการเลี้ยงปลา ปลูกผัก ซึ่งจะต้องมีเปลี่ยนความคิดโดยเฉพาะในเขตชลประทาน เพราะเป็นพื้นที่ที่ง่าย เวลามีน้ำชลประทานก็สามารถนำน้ำมาใส่บ่อไว้ได้เลย
- การแนะนำให้ปลูก "หมามุ่ย" แทนข้าว
ความจริงแล้วไม่ควรไปแนะนำให้ปลูกพืชอะไรหรอก รัฐบาลมีสิ่งที่ควรจะทำอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ ลดข้อจำกัดของเกษตรกรลง แต่ก่อนพวกเขาอาจจะต้องพึ่งน้ำจากชลประทาน หรือว่าฟ้าฝน ก็ทำให้พวกเขาไม่ต้องพึ่ง เขาจะปลูกอะไรก็เรื่องของเขา อาทิ การขุดบ่อ ขุดสระอย่างที่กล่าวไป
รวมไปถึงเรื่องตลาดเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียม หากเราจะแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกหมามุ่ย หรือถั่วเหลือง กลไกการตลาดตรงนี้มีจริงหรือไม่ การรับซื้อ-รับซื้อเท่าไร หมายถึงว่า หากบอกว่าราคาดี แล้วถ้าปลูกกันเยอะๆ ราคาจะดีเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะว่าเราเคยเจออย่างแต่ก่อนสบู่ดำก็ราคาดี แต่ตอนนี้ไม่มีคนรับซื้อ
ถ้ามั่นใจว่าหมามุ่ยมันไปได้ ก็ทำตลาดให้ชัดไปเลย ทำประกันราคารับซื้อ ถ้าทำอย่างนั้นได้จริงก็ไม่จำเป็นต้องแนะนำ เกษตรกรเห็นพวกเขาก็จะไปตามแรงจูงใจทางการตลาดของพวกเขาเอง
- สร้างเขื่อนเพิ่ม?
อย่างที่เห็นเขื่อนที่มีในตอนนี้ก็ไม่มีน้ำ คือความจริงแล้วแต่ละเขื่อนจะมี ?เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ" (Rule Curve) ในแต่ละเดือนว่า หากมีน้ำมากกว่าที่กำหนดก็จะต้องระบายน้ำ หรือหากน้ำน้อยกว่าที่กำหนดก็ไม่สามารถที่จะระบายน้ำออกได้ ซึ่งเราต้องตอบให้ชัดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมามีการทำอะไรที่นอกเหนือไปจากเกณฑ์นี้หรือไม่ เพราะบางครั้งถึงเวลาที่จะต้องปล่อยแล้วเรากลับไม่ระบายน้ำ รอลุ้นฝนต่ออีกสักนิด หรือไม่ควรที่จะระบายน้ำ ก็ระบายออกเพื่อความสบายใจ เพราะกลัวน้ำท่วม เราต้องตอบให้ชัดๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากการแทรกแซงอะไร ต้องพูด ไม่อย่างนั้นสังคมไทยไม่สามารถที่จะสรุปบทเรียนได้
อีกทั้ง กณฑ์เหล่านี้ทำมาจากในอดีต ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวงจรน้ำแล้ง-น้ำมากสุด ที่สั้นลง รวมถึงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนน้อยลงกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหม่ที่รัฐบาลจะต้องทบทวน เรื่องเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำมากกว่าที่จะสร้างเขื่อนใหม่
- สถานการณ์ปัจจุบันคนกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด
ผมว่าเกษตรกรกำลังจะเดือดร้อนมากแล้วตัวเลขระหว่างปี 2554 ราคาดีมาก ปี 2556 ราคาก็ยังดีอยู่ แต่จำนวนเกษตรกรที่ยากจนเพิ่มขึ้น 300,000 คน หากเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาก็ตก ผลผลิตก็ตก ความยากจนจะเพิ่มขึ้นเท่าไร คำถามอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะพยุงหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่พยุงก็จะลำบากและนำไปสู่จิ๊กซอว์ต่อไป ที่กำลังซื้อของคนในชนบทก็จะลดลง
จริงๆ มีวิธีช่วยอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ยั่งยืนกว่านี้ คือการประกันภัยพืชผล คือถ้าน้ำท่วมก็จ่าย ฝนแล้งก็จ่าย โดยชาวนาต้องซื้อประกันระดับหนึ่ง รัฐบาลช่วยระดับหนึ่ง เหมือนเราซื้อประกันรถยนต์ ถ้าไม่ได้ชนอะไรเราก็เสียเบี้ยประกันไป แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดชนหรือเกิดน้ำท่วมขึ้นมา เราก็ได้เงินชดเชยเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น แบบนี้รัฐบาลก็สามารถจัดการได้เพราะเราจ่ายเบี้ยประกันเต็ม เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลควรจะเริ่มต้นทำอย่างเอาจริงเอาจัง
- การบริหารจัดการน้ำในเมืองใหญ่ ถ้าเกิดภัยแล้งควรทำยังไง
ควรเตรียมตัวพร้อมตั้งแต่ในช่วงนาปรัง ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมไปประชุมกับชาวบ้านที่กาญจนบุรี พวกเขาไม่ได้ทำนาปรังเพราะน้ำทั้งหมดต้องส่งมาดันน้ำเค็มที่กรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้สนใจ ผมโทษรัฐบาลนะ คิดว่ารัฐบาลไม่ส่งสัญญาณอย่างที่ควร รัฐบาลควรจะพูดว่าที่คนกรุงเทพฯอยู่สุขสบาย ณ วันนั้น เป็นเพราะคนเมืองกาญจน์ เขายอมงดทำนาปรังแล้วมาจ่ายน้ำ แต่เราไม่พูดก็เลยไม่รู้ แล้วตอนนี้มาตื่นตัวเพราะอะไร เพราะที่ปทุมฯไม่มีน้ำใช้ ผมคิดว่าการที่รัฐบาลส่งสัญญาณให้คนโดยที่จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่มันเป็นการทำให้บ้านเมืองเกิดความตึงเครียดในระยะยาว
- ตึงเครียดในลักษณะไหน?
คือไม่ได้รู้เรื่องอะไร อย่างกรณีคนเมืองกาญจน์ เลย แล้วพอมาถึงจังหวะที่ตัวเองกำลังเดือดร้อนก็เตรียมป้องกันโน่นป้องกันนี่ คนเมืองกาญจน์ เขาจะรู้สึกยังไง รัฐบาลไม่ได้ทำให้คนกรุงเทพฯรู้ว่าคนอื่นเขาลำบากมาก่อน พอมาถึงตอนนี้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองจะลำบาก แล้วมันก็รู้สึกแค่ตัวเองลำบาก แต่ไม่ได้ขยายความคำว่าลำบากไปตรงจุดอื่น ไม่มีใครเรียกร้องว่ารัฐบาลช่วยเกษตรกรหน่อยไม่มีใครพูดอย่างนี้
- ผลกระทบในกรุงเทพฯ
ผมว่าพอท่าทีรัฐบาลออกมาชัดเจนว่าอย่างไรก็จะรักษาคนกรุงเทพฯให้ได้ เลยเป็นแบบนี้ ผมคิดว่ามันก็ขึ้นอยู่กับฝนด้วยว่าถ้าไม่มาจริงๆ อาจจะกระทบได้ในที่สุด แต่ไม่ใช่ไม่มีน้ำ แต่อาจมีความเค็มเพิ่มมากขึ้น
- การจัดการของผู้ว่าฯกทม.ควรทำอย่างไร?
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบตัวแหล่งที่มาของน้ำประปา ดังนั้น เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ผมก็เห็นใจว่ามันอยู่นอกเหนืออำนาจเขา แต่ว่าสิ่งที่เขาอาจจะพูด พอออกมาเป็นข่าว ก็เลยออกมาเหมือนกับเป็นห่วงตัวเอง ห่วงคนกรุงเทพฯ ไม่รู้จะทำยังไงเลยขอภาวนา ข่าวมันเลยออกมาในลักษณะนั้น
การจัดการน้ำมันอยู่ที่ส่วนกลาง และการที่เราอยู่มาถึงทุกวันนี้เพราะเราใช้อำนาจส่วนกลางไปเอาน้ำจากกาญจนบุรีมายันไว้ ผมถึงไม่โทษตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเท่าไหร่นัก แต่ถ้าจะโทษคือน่าจะชวนคนกรุงเทพฯไปให้ความเห็นใจหรือเข้าใจสถานการณ์เร็วกว่านี้ ไม่ใช่มาเข้าใจด้วยเหตุผลที่ตัวเองกำลังเดือดร้อน แต่ควรจะเข้าใจเมื่อตอนที่คนอื่นเดือดร้อนเพื่อตัวเรา
- ทิ้งท้ายกับปัญหา "ภัยแล้ง"
ปัญหาเรื่องภัยแล้งมันบอกเราอยู่ 3 เรื่อง หนึ่ง คือเราไม่ได้เตรียมตัวกับมันดีพอ ไม่ได้บอกให้ทุกคนทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะจริงๆ แล้วมีรายงานเรื่องเอลนิโญทุกเดือน อัพเดตว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รุนแรงขึ้นหรือเปล่า แต่เรื่องพวกนี้ไม่เคยเอามาสู่การเตรียมตัวมากพอเลย
สอง เกษตรกรเป็นผู้เดือดร้อนมากที่สุด เราต้องมีสิ่งที่เอามาช่วย ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้มีสิ่งที่เอามาช่วยเกษตรกรอย่างมากพอและเป็นระบบ ผมเสนอสองเรื่อง หนึ่งในแง่การเตรียมการ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีกองทุนอะไรบางอย่างให้เกษตรกรกู้ แต่ว่าต้องไปทำความเข้าใจกับเขาก่อน เช่น การกู้มาขุดบ่อหรือสระ เพราะเขาเป็นคนกู้และแบกรับความเสี่ยง อีกเรื่องประกันภัยพืชผล ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องมาช่วยในส่วนนี้
ส่วนสุดท้าย ผมเชื่อว่าคนเมืองต้องเข้าใจว่าตัวเองเสียประโยชน์น้อยสุดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เรากลับไม่มีกลไกที่จะช่วยเหลือผู้ที่อยู่ภายนอกเท่าที่ควร
ที่มา : มติชน วันที่ 19 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.