โดย...ใบตองแห้ง
พ.ศ.2558 เรากลับมาอยู่ในยุคผู้ใหญ่ลี? ที่ทางการสั่งให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร เพราะชาวบ้านโง่ ไม่รู้จักเลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกหมามุ่ย เอาแต่ปลูกข้าวขายไม่ได้ราคา หรือได้กำไรเพียงไม่กี่บาท แต่ต้องใช้ที่ดินใช้น้ำจำนวนมาก
อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด แย้งไว้แล้วนะครับ การด่วนสรุป "ชาวบ้านโง่" มาจากความไม่เข้าใจเงื่อนไขข้อจำกัดของเกษตรกร อย่าใช้เศรษฐศาสตร์ "ตาโต" เห็นไอ้นั่นดีไอ้นี่ดีแล้วแห่ปลูกจะพาชาวบ้านเจ๊งซะเปล่าๆ
ชาวบ้านตัดสินใจอย่างฉลาดที่สุดบนเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขาแล้ว มีแต่คนกรุงไม่เคยจับจอบเสียม ได้แต่ขับรถ SUV ชมชนบทเขียวขจีด่าอีปูจำนำข้าวนี่แหละที่เห็นว่า "ชาวบ้านโง่"
แน่จริง ลองไปซื้อที่ปลูกหมามุ่ยซัก 100 ไร่สิครับ ฝันหวานกิโลละ 800 คำนวณหรือยังตอนเก็บเกี่ยวใช้ค่าแรงเท่าไหร่ วันละ 300 พอไหม คันตายชัก แล้วอย่าลืมซื้อปืนไว้ป้องกันตัวเวลาลมพัดไปข้างบ้านด้วยล่ะ
ผมเนี่ยหมั่นไส้ทุกทีเวลามีสื่อประโคมข่าวลูกเศรษฐีมีสตางค์ทำนาทำสวนเกษตรอินทรีย์ "ถ้าพ่อไม่รวย จะทำงี้ได้เรอะ"
จริงๆ ไม่ได้หมั่นไส้คนที่เขาเหนื่อยยากไปทำหรอก หมั่นไส้สื่อเสียมากกว่า เพราะให้ภาพราวกับใครก็ทำได้ ของง่ายๆ ทำไมไม่ทำ นั่นไง ชาวนามันโง่ ขี้เกียจ ขี้โกง เอาแต่แบมือรอจำนำ ประกัน หรือไร่ละพัน มันถึงได้จน
เข้าใจเงื่อนไขกันบ้างหรือเปล่า ทำไมชาวนาต้อง "ดักดาน" ปลูกข้าวขายโรงสีทั้งที่ได้ราคาต่ำ ทำไมไม่ปลูกข้าวผูกโบขึ้นห้างติดป้าย "อินทรีย์" อัพเกรดขายคนชั้นกลาง
ข้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกในบ้าน เราวันนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานภาคกลาง เป็นข้าวพันธุ์ กข ซึ่งปลูกเพื่อส่งออก ใช้เวลาปลูกแค่ 90 วัน ที่เรียกๆ ว่าข้าวนาปรัง แต่ความจริงวันนี้ไม่มีนาปีเพราะปลูกปีละ 3-4 ครั้ง ไม่เหมือนข้าวหอมที่ปลูกมากภาคอีสานใช้เวลา 5-6 เดือน ได้ผลผลิตต่ำกว่าร่วมครึ่ง
การปลูกข้าววันนี้แทบจะลบคำว่า "เอาหลังสู้ฟ้าเอาหน้าสู้ดิน" ออกจากพจนานุกรม เพราะเป็นนาหว่านน้ำตม ไม่ต้องก้มดำนา แล้วชาวนาส่วนใหญ่ก็ก้มๆ เงยๆ ไม่ไหว เพราะอยู่ในวัยกลางคนไปจนสูงวัย หนุ่มๆ สาวๆ หายเข้าเมืองหมด เราจึงได้ยินคำว่า "ผู้จัดการนา" หรือ "ชาวนามือถือ" โทร.เรียกรถไถ จ้างหว่าน จ้างฉีดยา จ้างรถเกี่ยว แล้วก็เข้าโรงสี ซึ่งใหญ่โตมหึมามีไซโลอบข้าวควบคุมเครื่องสีด้วยคอมพิวเตอร์ออกมาเม็ดเท่า กันเป๊ะ
ทำไมไม่ปลูกหอมนิลเกษตรอินทรีย์ ทำไมไม่ทำ 1 ไร่ 1 แสน ปลูกข้าวปลูกผักเลี้ยงเป็ดเลี้ยงปลา 1 ไร่ 1 แสนจริงครับ แต่ไม่ใช่ 20 ไร่ 2 ล้านเพราะไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ มันใช้แรงคน ทำสองคนผัวเมียได้ 5 ไร่ 5 แสนก็ซูเปอร์แมนแล้ว
"ปราชญ์ชาวบ้าน" ทั้งหลายที่ว่าแน่ๆ ส่วนใหญ่ก็ทำเองไม่เกิน 5 ไร่ บอกแล้วไงเกษตรอินทรีย์มันเหนื่อยโคตร
นาข้าวอินทรีย์ต้องแหกวิถีอุตสาหกรรม ทำได้แค่จ้างไถ จากนั้นต้องเพาะกล้า แล้วทำนาดำหรือนาโยน ซึ่งต้นข้าวขึ้นห่าง แดดส่องถึงพื้น โอกาสเกิดโรคน้อย กำจัดหญ้าได้โดยไม่ต้องใช้ยา ทั้งหมดนี้ต้องใช้แรงงานถ้าทำไม่ไหวต้องจ้าง เช่น จ้างรถดำไร่ละเกือบ 2 พัน จ้างถอนหญ้าไร่ละ 2 พัน ขณะที่ยาฆ่าหญ้าขวดละ 360 บาท ใช้ได้ 5 ไร่ พอเกี่ยวข้าวได้ก็ต้องหาที่ตาก เพื่อสีข้าวเอง ด้วยโรงสีไทยประดิษฐ์ (ราคาราว 4 แสน)
บอกไว้เลยกินข้าวชุมชนต้องทำใจ ซาวข้าวให้ดี เผลอๆ มีกรวด นั่นขนาดชาวนาต้องมาก้มๆ คัดแยกกันเยอะแล้ว
ข้าวอินทรีย์จึงไม่ใช่ทำได้คนเดียว ต้องมีกลุ่ม มีผู้สนับ สนุน มีสปอนเซอร์ ไอ้ที่สื่อไปทำข่าวโปรโมตๆ กัน 90 ใน 100 ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากรัฐ จาก NGO ก็เป็นงบ CSR ของเอกชน นี่ไม่ได้ว่ากัน เป็นเรื่องดี แต่อย่าสร้างมายาคติแบบทำเองได้ง่ายนิดเดียวทำไมโง่ไม่ทำ
การตลาดก็มีปัญหาอีกต่างหาก ใครว่าขายง่ายขายดี จริงๆ ขายยาก เวลามีคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์มักคุยว่าขายได้ขายดี ที่จริงก็ไปแย่งตลาดคนอื่นไม่ได้เพิ่มคนกิน
ย้ำว่าเกษตร อินทรีย์เป็นเรื่องดีครับ แต่ทุกวันนี้ประเทศ ไทยปลูกข้าว 30 ล้านตัน ข้าวอินทรีย์ยังไม่ถึงแสนตัน ฉะนั้นยังไงก็ทดแทนไม่ได้ อะไรก็ทดแทนไม่ได้ มีแต่ต้องศึกษาหาทางเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนในกระบวนการที่ชาวบ้านทำอยู่ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านโง่
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 17 ก.ค. 2558