โดย ประสาท มีแต้ม
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว (10 กรกฎาคม 2528) กลุ่มคนธรรมดาจำนวนไม่กี่คนได้นำเรือ “นักรบสายรุ้ง” ของกลุ่มกรีนพีซไปต่อต้านเพื่อให้รัฐบาลฝรั่งเศสหยุดการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ แต่แทนที่จะมีการรับฟังกันโดยดีหน่วยงานลับของฝรั่งเศสก็จมเรือดังกล่าวด้วยระเบิด แม้เรือนักรบสายรุ้งจะถูกจมไปแล้วพร้อมด้วยการเสียชีวิตของช่างภาพชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง แต่อุดมการณ์เพื่อการรักษาสันติภาพของโลกยังไม่จม กลับเติบใหญ่และกระจายไปอยู่ในจิตสำนึกของประชาชนทั่วโลก จากรุ่นนี้สู่รุ่นโน้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สะท้อนเป็นหลักการทั่วไปอย่างหนึ่งว่า ประชาชนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากคนจำนวนหยิบมือเดียวเท่านั้น แต่สามารถเติบใหญ่ไปทั่วโลกได้
การต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์รวมทั้งการต่อต้านสงครามเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของมนุษยชาติ เพราะสงครามจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่ชาวญี่ปุ่นได้ประสบมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ภัยพิบัติชนิดใหม่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและรุนแรงกว่าภัยจากสงครามที่เรารู้จักกัน นั่นคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพร้อมมีงานวิจัยนับพันๆชิ้นยืนยันว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยที่มีสาเหตุใหญ่ที่สุดคือร้อยละ 72 เป็นเพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในจำนวนนี้เกิดจากภาคกิจการโรงไฟฟ้ามากที่สุด (21%) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม (17%) และการขนส่ง (14%)
นับจากต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ร้อยละ 41 ของภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย โดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 7 แสนคน ในจำนวนนี้ยังไม่นับกรณีแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลเกือบหนึ่งหมื่นคน และคลื่นความร้อนในประเทศอินเดียและประเทศปากีสถานอีกกว่าสองพันคน
ในขณะที่ผมนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เสียงจากโทรทัศน์กำลังรายงานสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงถึงขั้นที่ว่ามีการแย่งน้ำกันระหว่างชาวนาเพื่อเอาน้ำทำนากับผู้ใช้น้ำเพื่อเอาน้ำอุปโภคบริโภค ไม่ใช่ระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรอย่างที่เคยเป็นมา บางสำนักข่าวถึงกับบอกว่าเป็นการแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี
ด้วยเหตุที่ข้อมูลของประเทศไทยเราค่อนข้างจะหาได้ยาก ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกามาให้พิจารณา พบว่าประมาณครึ่งของพื้นที่ประเทศต้องประสบกับสภาพอากาศร้อนมากถึงมากที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกไว้
เฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียมีอากาศร้อนจัดติดต่อกัน 4 ปีแล้ว มีผู้เปรียบเทียบด้วยการถ่ายรูประดับน้ำในทะเลสาบแห่งหนึ่งในปี 2554 กับปี 2557 ผมนำมาแสดงด้วยเพราะมันดูแล้วเข้าใจง่ายดีครับ
ในด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากการเก็บข้อมูลของศูนย์วิจัยด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติแห่งหนึ่งในประเทศเบลเยียม พบว่าในช่วงปี 2537 ถึง 2556 ประเทศไทยเรามีความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ทางรัฐบาลบอกว่า “เอาอยู่ๆ”
จากรายงานชิ้นเดียวกันนี้ยังระบุอีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) พบว่า ประเทศเกาหลีเหนือมีความสูญเสียถึง 39% และมองโกเลีย 34% ซึ่งถือว่าสูงมาก ในขณะที่เมื่อปี 2554 ประเทศไทยสูญเสียประมาณ 6% ของจีดีพี
ผมได้พูดถึงสาเหตุและขนาดความรุนแรงของ “สงครามแบบใหม่” มาค่อนข้างเยอะก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เกิดความเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่เรามักจะเข้าใจแบบดูถูกตนเองว่า “คนเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรได้”
นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงการอพยพลี้ภัยจากกรณีโลกร้อนซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในบริเวณชายฝั่งทะเลหลายพื้นที่ของโลก ในอนาคตอันใกล้มันคงจะรุนแรงมากกว่าการลี้ภัยทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยในหลายประเทศที่เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ในตอนต่อไปนี้ ผมจะกล่าวถึงกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มเล็กๆ ที่กำลังจะหยุดยั้ง “สงครามแบบใหม่” ที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก ไม่ว่าจะประกาศสงครามอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม กลุ่มเหล่านี้กำลังเติบใหญ่และกระจายตัวไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเราด้วย
หลักคิดของกลุ่มดังกล่าวอยู่ในประโยคสั้นๆ ที่ว่า “ถ้าการทำลายโลกเป็นความชั่ว ดังนั้น การหากำไรจากซากปรักหักพังก็เป็นความชั่วด้วย” ดังนั้น พวกเขาจึงได้รวมตัวกันแล้วเคลื่อนไหวทำงานทางความคิดอย่างเป็นระบบ โดยเน้นไปที่สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและศาสนจักรเพราะเชื่อว่าเป็นสถาบันที่เป็นผู้นำทางวิชาการและคุณธรรมของประเทศและของโลก เพื่อเรียกร้องให้สถาบันเหล่านั้นถอนการลงทุนจากธุรกิจพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ข้อมูลที่ทางกลุ่มเคลื่อนไหวนำมาเป็นเหตุผลมี 3 ตัวเลขเท่านั้น คือ
(1) ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า ให้รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
(2) ถ้าให้เป็นไปตามคำแนะนำในข้อ (1) มนุษย์จะสามารถใช้พลังงานฟอสซิลได้อีกไม่เกิน 565 กิ๊กกะตัน (คาร์บอนไดออกไซด์) เท่านั้น นั่นหมายความว่า หรือถ้าใช้ในอัตราปัจจุบันจะต้องหยุดการใช้ภายใน 16 ปี
(3) แต่บริษัทพลังงานฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 200 บริษัทมีปริมาณสำรองที่พบแล้วมากกว่าระดับที่นักวิทยาศาสตร์กำหนดให้ใช้ได้ถึง 5 เท่า ในจำนวนนี้มีบริษัทสัญชาติไทย 2 บริษัทที่ทำธุรกิจถ่านหิน คือ บ้านปู และ ปตท. จำกัด (ซึ่งทำทั้งถ่านหินและปิโตรเลียม)
ข้อเสนอของกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวก็คือ ให้เก็บพลังงานฟอสซิลที่เหลือประมาณร้อยละ 80 เอาไว้ใต้ดินก่อน (หมายเหตุ ในความเข้าใจของผม สามารถนำขึ้นมาใช้ได้อีกเมื่อโลกกลับมาสู่สภาพสมดุลและความเสถียรแล้ว) แล้วให้เปลี่ยนมาเป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล เป็นต้น
เท่าที่ผมได้ติดตามดู (http://gofossilfree.org/) พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ผมขอนำมาเล่าเป็นบางรายดังนี้
เมษายน 2557 มหาวิทยาลัย Harvard เป็นมหาวิทยาลัยแรกของอเมริกันที่ลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหประชาชาติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อการลงทุน และในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยก็ถอนการลงทุน พร้อมกับมีแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 30% ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2559
มหาวิทยาลัย Glasgow ซึ่งก่อตั้งในกลางศตวรรษที่ 15 ได้ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล 18 ล้านปอนด์ (จากเงินบริจาครวม 128 ล้านปอนด์) หลังการรณรงค์นาน 12 เดือน มีคนลงชื่อกว่า 1,300 คน โดยสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติเมื่อเดือนตุลาคม 2557 นับเป็นมหาวิทยาลัยแรกของยุโรป
พฤษภาคม 2558 มหาวิทยาลัย Oxford ได้ประกาศถอนการลงทุนเฉพาะในธุรกิจถ่านหินและ Tar Sands แต่ยังคงลงทุนในพลังงานฟอสซิลตัวอื่นๆ ต่อไป แต่กลุ่มผู้รณรงค์ก็คงยืนหยัดต่อไป จนกว่าจะถอนทั้งหมดจากพลังงานฟอสซิล
วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 สภามหาวิทยาลัย Warwick ประกาศถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล หลังจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและคณาจารย์นานกว่า 2 ปี
พฤษภาคม 2558 กลุ่ม AXA ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินและประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ประกาศจะถอนการลงทุนจากถ่านหินซึ่งมีมูลค่า 500 ล้านยูโร ทั้งหมดภายในสิ้นปี 2558 นี้ แต่เฉพาะถ่านหิน
5 มิถุนายน 2558 กองทุนบำนาญแห่งชาติซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกของประเทศนอร์เวย์ มีเงินลงทุน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกาศถอนการลงทุนจากธุรกิจถ่านหินทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่กินใจมากว่า “ถ่านหินมีความเลวร้ายในทุกบริบทของชีวิตและสิ่งแวดล้อม การลงทุนในธุรกิจถ่านหินไม่อยู่ในระบบคุณค่าของสังคมนอร์เวย์”
24 มิถุนายน 2558 ศาลประเทศเนเธอร์แลนด์ได้สั่งให้รัฐบาลลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากกว่าเดิม คือลดลง 25% ภายใน 5 ปี แทนที่จะเป็น 14-17% ภายในปี 2025 พร้อมกับต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้อง
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่ากระแสดังกล่าวล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ถ่านหินเป็นสิ่งเลวร้าย ในขณะที่มีทางอื่นที่เป็นไปได้และราคาไม่แพงอย่างที่ทางราชการพยายามหลอกเรามาตลอด
กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกับเมื่อคนกลุ่มเล็กๆ ลุกขึ้นมาต่อต้านการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ 30 ปีก่อน มีชายหนุ่มสองคนจากปักษ์ใต้ในนาม “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ได้อดอาหารประท้วงเป็นวันแรก
พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มพลเมืองที่ประกอบด้วยนักธุรกิจ ชาวประมง ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น และอื่นๆ ที่ได้รณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่มานานกว่า 3 ปี พวกเขาได้บอกกับสังคมว่าได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อบอกกับสังคมไทยและรัฐบาลว่า ถ่านหินจะทำลายการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ทำลายวิถีชีวิตของชุมชน
ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ประกาศประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาทในวันที่ 22 เดือนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีหนทางใดเหลืออีกแล้วนอกจากการอดอาหารเพื่อแสดงอารยะขัดขืน พวกเขาประกาศจะอดจนตายหรือไม่ก็จนกว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนนโยบาย
ผมเองก็ได้ติดตามเรื่องพลังงานไฟฟ้ามาเป็นเวลานานและต่อเนื่อง พบว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่ทางการไฟฟ้าประกาศ แต่มีเหลือมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตามมาตรฐานสากลอีกเยอะ นอกจากนี้ยังมีแหล่งพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าของเสียจากโรงหีบน้ำมันปาล์มซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมากกว่าความต้องการใช้ของคนทั้งจังหวัด นอกจากนี้ยังมีพลังงานแสงแดดอีกเป็นจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตก็ไม่ได้สูงอย่างที่ทางราชการบอก
สถานการณ์โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ไม่มีอะไรมากไปกว่าที่สังฆราชผู้ใกล้ชิดกับองค์สันตะปาปา ฟรานซิส มากที่สุด คือท่าน Cardinal Óscar Rodríguez Maradiaga ซึ่งได้ตรัสเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า
“The ideology surrounding environmental issues is too tied to a capitalism that doesn’t want to stop ruining the environment because they don’t want to give up their profits,”
ซึ่งผมขอถอดความสั้นๆ ว่า “ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ผูกติดกับระบบทุนนิยมอย่างเหนียวแน่น ที่ไม่ต้องการจะหยุดการทำลายสิ่งแวดล้อมก็เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ต้องการจะสูญเสียผลกำไรของพวกเขาเท่านั้นเอง”
สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนสรุปว่า เท่าที่ผมได้ติดตามประเด็นพลังงานไฟฟ้ามายาวนาน ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่า ระบบการผลิตไฟฟ้าในระบบเดิมซึ่งเป็นระบบรวมศูนย์ ผลิตโดยคนน้อยราย แต่ให้บริการคนจำนวนมากกำลังจะเจ๊งในขอบเขตทั่วโลก เพราะระบบเดิมได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสรรพชีวิตอย่างมหาศาล เปรียบเหมือนสงครามโลกครั้งที่สามก็ว่าได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว มันคงคล้ายกับระบบโทรศัพท์บ้านกับโทรศัพท์มือถือ หรือระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมกับระบบโน้ตบุ๊ก หรือระบบ 3G , 4G นั่นเอง แต่หน่วยงานทางราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกลับดื้อด้าน คิดแบบเดิม บนผลประโยชน์ของบริษัทพลังงานถ่านหินที่กำลังถูกปฏิเสธไปทั่วโลก
หากเกิดเจ๊งขึ้นมาจริงๆ พวกเขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบแต่ประการใด เราจะปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปอีกไม่ได้อย่างแน่นอน
ที่มา : ASTVผู้จัดการ วันที่ 13 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.