เรื่อง...ภาสกร จำลองราช / ภาพ...กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า
หลายวันมานี่ “ลุงเบิ้ม”พยายามตั้งจิตอธิษฐานให้สัตว์ป่าและระบบนิเวศบนเขาแผงม้าได้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งแผ่เมตตาให้สัตว์ต่างๆที่มีอันเป็นไป เพราะความผูกพันที่มีต่อผืนป่าแห่งนี้มายาวนาน ทำให้ลุงเบิ้มและกลุ่มคนรักเขาแผงม้า ร่วมกันนั่งเจริญภาวนาอยู่บริเวณทางขึ้นเขา ตั้งแต่วันที่ 1-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา
“เหมือนเรามีลูกสาว แต่ยกให้เขาไปแล้ว ถ้าเขาตบตี เป็นเรื่องที่เรายังพอรับได้ แต่นี่มันฆ่ากัน เขาทำเกินไปมั้ย ชาวบ้านอุตส่าห์ร่วมกันปลูกต้นไม้ไว้ แต่เขากลับตัดทิ้ง ถามว่าเจ็บมั้ย มันเจ็บอยู่ในอก พวกเรา 2-3 คนที่เอาชีวิตเข้าแลกกับป่าผืนนี้ เราจะตอบคำถามเขาอย่างไร” ความรู้สึกที่พรั่งพรูที่ไหลออกมาจากปากลุงเบิ้มในช่วงเวลาสั้นๆ ของการเปิดใจที่บริเวณทางขึ้นเขาแผงม้า ทำให้ใครหลายคนถึงกับจิตใจสั่นไหว
วันนี้ได้เกิดบาดแผลใหม่ขึ้นในป่าเขาแผงม้า อำเภอวังนํ้าเขียว จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังจากที่ชาวบ้านและนักอนุรักษ์ในนามของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ร่วมกันเยียวยาบาดแผลเดิมในป่าสงวนแห่งนี้จำนวน 5,000 ไร่ โดยการปลูกป่ามาตั้งแต่ปี 2537 จนกระทั่งสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศและมีสัตว์ป่ามากมายกลับเข้ามาอาศัยอยู่ แต่ที่โด่งดังคือกระทิงซึ่งพากันอพยพเข้ามาหากินกันออกลูกออกหลานนับร้อยตัว ทำให้เขาแผงม้ากลายเป็นต้นแบบ และมีชื่อเสียงโด่งดัง
ลุงเบิ้ม หรือนายอรทัย โจษกลาง ในวัย 63 ปี ยังคงห่วงใยและมุ่งมั่นที่จะดูแลระบบนิเวศบนเขาแผงม้าอยู่ทุกขณะจิต แม้ว่ากลุ่มอนุรักษ์ได้คืนผืนป่าแห่งนี้ให้กลับไปอยู่ในความดูแลของทางการเมื่อหลายปีก่อนแล้วก็ตาม
ลุงเบิ้มเกิดที่อำเภอสีคิ้ว และอพยพมาอยู่วังนํ้าเขียวตั้งแต่ปี 2507 เดิมทีแกหากินอยู่กับป่าเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพราะป่าดงพญาไฟ-ดงพญาเย็นสมัยนั้นกว้างใหญ่มาก และแกไม่คิดว่าสัตว์ป่าจะหมดไปได้นอกจากนี้ลุงเบิ้มยังเป็นลูกทีมให้กับนักท่องป่าในยุคหมอบุญส่ง เลขะกุล และนิยมไพรสมาคม
“ตอนปี 2526 เมียผมท้องอยู่ ผมและเพื่อนเข้าป่าและยิงกวางได้ตัวหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นกวางท้องซึ่งเป็นลูกตัวเมียด้วย ทำให้ผมรู้สึกไม่ดี และตัดสินใจเลิกยิงสัตว์ป่าตั้งแต่นั้น ยิ่งเมื่อเมียคลอดลูกลูกสาวด้วย ผมจึงเริ่มหันกลับมาทำงานด้านอนุรักษ์และปลูกต้นไม้” ลุงเบิ้มย้อนอดีตถึงจุดหักเหของชีวิต
ปี 2537 ลุงโชค (โชคดี ปรโลกานนท์) ลุงเบิ้ม พี่อ้วน(นิคม พุทธา) และอีกหลายคน ในนามมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ได้ร่วมกันปลูกป่าบนเขาแผงม้า ซึ่งแรกทีเดียวกรมป่าไม้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งขาติเขาภูหลวง 11,250 ไร่ แต่เอาเข้าจริงๆทางการกลับส่งมอบพื้นที่ได้แค่ 5,000 ไร่เพราะที่เหลือกลายเป็นพื้นที่ถูกจับจองไว้หมดแล้ว
“ตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา เราคุยกันว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ไปสร้างบาดแผลหรือถ้าสร้างจริงๆก็ควรให้น้อยที่สุด เพราะเราต้องการเพียงเข้าไปปลูกป่า เราจึงตัดถนนเล็กๆเข้าไปเท่าที่จำเป็น เพิงพักเราก็ทำเล็กๆและไม่ใช้ไม้บนนั้นเลย เราขนไม้ไผ่ขึ้นไปเพราะต้องการใช้ไม้ที่ผุพังง่าย แต่ดูที่เขาทำตอนนี้ซิ” ความรู้สึกปวดร้าวของลุงเบิ้มพลุกพล่านทันที เมื่อนึกถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
หลังจากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ คืนพื้นที่เขาแผงม้าให้กลับไปอยู่ในความดูแลของทางการและต่อมาเมื่อปี 2554 กระทรวงรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดให้พื้นที่เขาแผงม้าเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งในระยะแรกการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ยังเป็นไปได้ด้วยดี แต่ต่อมาความระหองระแหงก็เริ่มเกิดขึ้น
เมื่อปีที่ผ่านมาทางเขตห้ามล่าฯเริ่มนำหญ้ารูซี่ ซึ่งเป็นหญ้าจากต่างประเทศ เข้ามาปลูกตามแนวชายป่า โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่หากินให้กระทิงและลดการเผชิญหน้ากับชุมชน เพราะที่ผ่านมามักเกิดเหตุการณ์ที่กระทิงเข้าไปกินพืชไร่ของชาวบ้าน แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เพราะยิ่งเป็นการดึงให้กระทิงออกมาหากินตามชายป่า แทนที่จะสร้างพื้นที่หากินในป่าเขาแผงม้าจะเหมาะสมกว่า ที่สำคัญคือยังไม่มีผลวิจัยชี้จัดว่าหญ้ารูซี่ส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศบ้าง และในระยะยาวจะมีผลอย่างไรกับกระทิงหรือไม่
บาดแผลในใจระหว่างกลุ่มอนุรักษ์และเขตห้ามล่าฯขยายใหญ่ขึ้นไปอีก เมื่อทางเขตห้ามล่าฯได้ตัดถนนเส้นใหม่ที่ใช้ลัดเลาะริมป่า โดยแต่เดิมมีแนวรั้วลวดเป็นแนวเขตอยู่ด้านนอกและมีถนนอยู่ด้านใน แต่ทางเขตไปเปลี่ยนเส้นทางโดยตัดถนนใหม่ไว้ข้างนอกและขยับรั้วไว้ด้านใน ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับนักท่องเที่ยวที่สามารถใช้ถนนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งยากแก่การควบคุมผู้ที่บุกรุกและไม่หวังดีต่อสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าในทางพฤตินัยไปอีกจำนวนไม่น้อย
“ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า จะปลูกหญ้าให้กระทิงกิน ทำไมถึงไม่ไปทำข้างบน มาปลูกกันทำไมแถวชายป่า ทำแบบนี้ชาวบ้านก็ยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น เขาต้องเข้าใจด้วยว่า ที่พวกเราปลูกป่าบนเขาแผงม้า ไม่ใช่แค่ต้องการให้กระทิงมาอยู่เท่านั้น แต่เราต้องการให้ระบบนิเวศคืนมา กระทิงเป็นแค่ส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ ผืนป่าแห่งนี้ยังมีสัตว์อื่นมากมาย ทั้งหมู่ป่า เก้ง กวาง ซึ่งมาอยู่ก่อนกระทิงอีก” ลุงเบิ้มบอกถึงเป้าหมายในการพลิกฟื้นผืนป่าแห่งนี้
กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพราะต้องการความชัดเจน แต่เรื่องกลับเงียบหายไป และไม่ได้มีคำตอบใดๆให้ได้ยิน ดังนั้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมจึงได้มีการจัดงานรำลึก 20 ปีของการฟื้นฟูเขาแผงม้า และจัดให้ผู้ที่สนใจและสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง
“ผมรู้จักป่าบนเขาแผงม้าทุกตารางเมตร เพราะเราเดินสำรวจและปลูกต้นไม้กันมาเอง เขาใช้รถแบ็คโฮเข้าไปเปิดหน้าดิน ตัดต้นไม้ที่เราปลูกไว้ เพราะเขาไม่ได้คิดว่าที่นี่เป็นบ้านของเขา มาอยู่กันไม่กี่ไปเขาก็ไป แต่พวกเราชาวบ้านที่อยู่แถวนี้ รักและผูกพันกับป่าแห่งนี้เพราะเราปลูกมากับมือ ต้นไม้ทุกต้นเหมือนลูกเรา” ผู้อาวุโสรับไม่ได้ในสภาพบาดแผลแห่งใหม่บนเขาแผงม้า
กว่า 20 ปีที่ป่าเขาแผงม้ากลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ เพราะกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จนทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่บาดแผลใหม่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่บริเวณโดยรอบเขาแผงม้าถูกรุกด้วยรีสอร์ทหรู และบ้านพักของคนมีเงิน ทั้งๆที่เคยเป็นผืนป่าและที่อยู่ของกระทิง
หากบาดแผลบนเขาแผงม้าไม่ได้รับการเยียวยา ผลสุดท้ายพวกเหลือบริ้นไรที่คอยจ้องอยู่ ย่อมเข้ามาเกาะกินฝูงกระทิงได้อย่างสะดวก
“ผมอยู่อีกไม่เท่าไหร่ก็ตาย แต่อยากฝากผืนป่าไว้ให้คนรุ่นหลังบ้าง” คำภาวนาของลุงเบิ้มไม่รู้จะเป็นจริงได้แค่ไหน แต่ที่แน่ๆแกก็ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังแล้ว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 ก.ค. 2558