ณรงค์ ใจหาญ
ปัญหาฝนแล้งที่ประเทศไทยกำลังประสบนี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจเพราะถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเมื่อเริ่มฤดูทำนา แต่น้ำฝนตามธรรมชาติยังไม่ตกมาตามฤดูกาล เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้รับผลกระทบโดยตรง นอกเหนือจากสภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
การบริหารจัดการในสภาวะภัยแล้งและฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ในทางวิทยาศาสตร์ ได้มีการดำเนินการทำฝนเทียม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้ตกตามพื้นที่ต่างๆ ที่เกษตรกรประสงค์จะทำนาข้าว ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ การลดจำนวนครั้งของการทำนาข้าวในภาคกลางลง เพื่อลดปริมาณน้ำที่ต้องใช้เพื่อการเกษตรในน้อยลง และจะนำน้ำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน การขนส่ง เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นความเชื่อที่ถือตามกันมา คือ การแห่นางแมวขอฝน เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลหลายรัฐบาลประสบปัญหานี้ แต่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม จึงเกิดขึ้นเสมอ และรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ การที่ไม่สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตร หรือไม่อาจดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยน้ำเป็นพื้นฐานนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากจะประมาณการได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เกษตรกรขาดรายได้ การที่ต้องรับมือกับปัญหาอุทกภัย หรือการเยียวยาความเสียหายจากการที่เกิดภัยแล้งและน้ำท่วม
ในด้านกฎหมายที่เข้ามาวางระบบการจัดการในเรื่องนี้ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นการจัดการปัญหาอย่างฉุกเฉิน และไม่ได้จัดระบบในการวางแผนป้องกัน รวมถึงการวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ทางแก้ไขในเรื่องนี้ ต้องการการบูรณาการที่ประสานความร่วมมือทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภาวะน้ำท่วมนี้ เพราะถือว่าเป็นบทบาทที่คาบเกี่ยวในทุกๆ หน่วยงานไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนและภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในอดีตที่ผ่านมา การจัดการปัญหาภัยแล้ง เน้นที่การเยียวยาแก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งเป็นหลักซึ่งเห็นได้ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ เพราะการวางแผนหรือประเมินจำนวนน้ำที่จะมีในแต่ละปี การวางแผนที่จะจัดสรรน้ำในแต่ละปีว่าควรให้แต่ละชุมชน หรือแต่ละภาคการผลิตจำนวนเท่าใด รวมถึงการป้องกันการก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ซึ่งทำให้จำนวนปริมาณน้ำที่ใช้ได้น้อยลงไป อีกทั้ง การผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่งหรือผันน้ำลุ่มน้ำระหว่างประเทศจึงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้พูดกันและวางแผนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งหน่วยงานกลางและหน่วยงานภูมิภาค ท้องถิ่นใดจะเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ สิ่งเหล่านี้ มีความจำเป็นต้องมีทั้งกฎหมายและแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ในระยะสั้น ระยะยาวรวมถึงแผนแก้ไขแบบฉุกเฉินด้วย
ถ้าจะสำรวจกฎหมายบริหารจัดการน้ำในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหราชอาณาจักร ถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่ได้ตอบโจทย์ของปัญหาของไทย เพราะเน้นการบริหารจัดการและมีการวางแผนการใช้ การพัฒนา การอนุรักษ์ รวมถึงการมีแผนจัดการเกี่ยวกับภัยแล้ง น้ำท่วมไว้ อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดี จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รวมถึงมีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการโดยระบบคณะกรรมการลุ่มน้ำ อีกด้วย
กลไกของกฎหมายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นกลไกที่ควรนำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งเท่าที่ทราบ กลไกและเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ได้เป็นรูปแบบในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ที่รัฐบาลได้เคยพิจารณาและกำลังจะปรับปรุงอยู่เพื่อเสนอเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งเห็นว่า การที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำซึ่งต้องใช้งบประมาณในการลงทุนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเป็นจำนวนมหาศาล รวมถึงการที่ต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาให้แก่ราษฎรที่เดือดร้อน รวมถึงการซ่อมแซมสาธารณสถาน หน่วยงานราชการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่มีกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่มาดูแล อีกทั้งการกำหนดแผนปฏิบัติการที่ดีพอ รวมถึงการขาดการรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และการใช้น้ำในทุกภาคส่วนอย่างจริงจังเพื่อนำมาเป็นข้อมูลที่จะวางแผนบริหารจัดการ
ด้วยเหตุนี้ การผลักดันให้มีกฎหมายทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิ่มกลไก แผนงาน และหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงการประสานงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจึงควรที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเพื่อให้มีกฎหมายออกมาใช้ในเรื่องนี้ และ สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยคือ การสร้างความตระหนัก การมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วน รวมถึงการบูรณาการการทำงานด้วย อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ใดที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง บทบาทของชุมชนที่จะจัดการน้ำในลุ่มน้ำของตน เป็นเทคนิคที่ต้องการการพัฒนาที่ลึกลงไปจากการมีหลักเกณฑ์ทั่วไป เพราะแม้จะมีกฎหมาย แผนงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดีแล้ว หากขาดองค์ความรู้ หรือเทคนิคในการบริหารจัดการที่เป็น Best practice รวมถึงการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของประเทศไทย ที่มีลักษณะดิน ลักษณะภูมิอากาศ และสภาพการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกันในแต่ละภาค จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานทางวิชาการและการวิจัยที่เน้นการนำไปใช้ในทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับปริบทของประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยพัฒนาเทคนิคกลไกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาและปรับใช้กับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบต่อไป
การจัดการภัยแล้งอย่างเป็นระบบ จึงต้องอาศัยกลไกทั้งในด้านนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจน และต่อเนื่อง รวมถึงการมีกฎหมายที่สร้างระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะยาว ระยะสั้น และในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงกลไกในการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเมื่อเกิดภัยแล้งขึ้น อีกทั้งการจัดลำดับความสำคัญในการที่จะแบ่งสรร ปันส่วนน้ำเมื่อเกิดภาวะน้ำไม่เพียงพอเพื่อป้องกันการแย่งน้ำในอนาคตต่อไป
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 9 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.