โดย ประสาท มีแต้ม
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ออกรายงานเรื่อง เงินอุดหนุนพลังงานทั่วโลกมีมากขนาดไหน? (How Large Are Global Energy Subsidies?) ผมทราบเรื่องนี้จากการอ้างอิงของคุณ Damian Carringtonหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมใน The Guardian หนังสือพิมพ์รายวันที่มีอายุเกือบ 200 ปีของประเทศสหราชอาณาจักร
คุณ Carrington ได้เริ่มต้นว่า “จากการประมาณการของ IMF บริษัทพลังงานฟอสซิลได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนทั่วโลกจำนวน 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 หรือเท่ากับ $10 ล้านในทุกๆ หนึ่งนาที”
“เงินอุดหนุนดังกล่าวมากกว่างบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาลทั้งโลกรวมกัน” คือข้อความที่รายงานของไอเอ็มเอฟอ้างถึง
“เงินก้อนใหญ่ที่สุดมาจากผู้ก่อมลพิษที่ไม่ได้จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในจำนวนนี้รวมถึงความเสียหายของประชาชนในท้องถิ่นที่เกิดจากอากาศเป็นพิษ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” พูดให้ง่ายกว่านี้ก็คือ รัฐบาลอนุญาตให้คนบางกลุ่มทำลายสมบัติของสาธารณะได้โดยไม่มีการปรับสินไหม
คุณ Carrington ได้ยกเอาคำพูดของศาสตราจารย์ Nicholas Stern นักเศรษฐศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก London School of Economics ว่า “การวิเคราะห์นี้มีความสำคัญมากเพราะได้ทำให้มายาคติที่ว่าพลังงานฟอสซิลมีราคาถูกต้องถูกลบล้างไป โดยการแสดงให้เห็นว่าต้นทุนที่แท้จริงนั้นมีมากมายขนาดไหน การไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลในการให้การอุดหนุนก้อนมหึมาต่อพลังงานฟอสซิล ได้ทำให้ตลาดถูกบิดเบือนและทำให้เศรษฐกิจเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจนกว่า”
ท่าน Lord Stern ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การประเมินของ IMF ครั้งนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริงอีกมาก”
คุณ Carrington ยังได้สรุปความเห็นในรายงานชิ้นล่าสุดนี้ว่า “ถ้าหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 20% นี่เป็นการก้าวไปข้างหน้าก้าวใหญ่ทีเดียวในการเอาชนะปัญหาโลกร้อนซึ่งที่ผ่านๆ มามีความก้าวหน้าน้อยมาก”
“การหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลดังกล่าว จะช่วยลดจำนวนคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากอากาศเป็นพิษนอกบ้านได้ถึง 50% ซึ่งมีจำนวน1.6 ล้านชีวิตต่อปี”
รายงานของ IMF ชิ้นนี้ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่มีค่าอีกว่า “การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอิสระโดยหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิล อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game-Changer) ของเศรษฐกิจหลายประเทศโดยการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตและลดความยากจน โดยนำเงินที่ใช้ในการชดเชยไปใช้ในด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน หรือลดภาษีลงได้”
รายงานของ IMF ซึ่งมีความหนาประมาณ 40 หน้ายังได้กล่าวอีกว่า “ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับพลังงานฟอสซิลคือปีละ $1.2 แสนล้านเท่านั้น เงินก้อนนี้จะหายไปหรือไม่จำเป็นต้องมี เมื่อมีการยกเลิกการอุดหนุนพลังงานฟอสซิล” เพราะพลังงานหมุนเวียนจะมีราคาถูกกว่า
กราฟข้างล่างนี้แสดงทั้งจำนวนเงินอุดหนุนและร้อยละของจีดีพีของโลก พบว่าในช่วง 5 ปีจาก 2011 ถึง 2015 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2015 สูงถึง 6.5%
เมื่อจำแนกเงินอุดหนุนที่รัฐบาลทั่วโลกต้องรับภาระ พบว่าเกินครึ่ง (52%) เป็นค่าผลกระทบด้านมลพิษในระดับท้องถิ่นซึ่งคนท้องถิ่นต้องเป็นผู้แบกรับ ในขณะที่ร้อยละ 24 เป็นผลกระทบในระดับที่เรียกว่าสภาวะโลกร้อน คือ ระดับร่วมกันของโลกรายละเอียดอยู่ในกราฟข้างล่างครับ
ถ้าจำแนกเป็นรายประเทศที่มีการอุดหนุนสูงสุด 5 อันดับแรกพบว่า ประเทศจีนสูงที่สุด (43%) รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น
รายงานชิ้นนี้จะเป็นเอกสารสำคัญในการประชุมสภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติซึ่งจะมีขึ้นในกรุงปารีสในปลายปีนี้
บทความของคุณ Carrington ยังได้กล่าวอีกว่า “ประธานาธิบดีโอบามาและกลุ่มประเทศ G20 ได้เรียกร้องให้มีการหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลตั้งแต่ปี 2552 แต่แทบจะไม่มีความก้าวหน้า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานธนาคารโลก Jim Yong Kim ได้กล่าวกับ The Guardian ว่า มันเป็นความบ้าที่รัฐบาลจะยังคงอุดหนุนการใช้ถ่านหิน น้ำ และก๊าซ เราจำเป็นต้องกำจัดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลเดี๋ยวนี้”
ก็คอยดูต่อไปครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวในปัญหาสภาวะโลกร้อน ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว คือ การเรียกร้องให้องค์กรทางด้านการศึกษาและศาสนาถอนการลงทุนจากธุรกิจพลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่จำนวน 200 บริษัท ตามที่ผมได้กล่าวถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ในจำนวน 200 บริษัทดังกล่าวพบว่า เป็นบริษัทในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย 2 บริษัท (อาจจะมีมากกว่านั้น แต่ผมรู้จักแค่นั้น) คือ Banpu และ PTT
โดยที่ Banpu ติดอันดับที่ 40 ในเรื่องถ่านหิน มีสำรอง 2.040 กิ๊กกะตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ 2,040 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (หมายถึงว่าเมื่อเผาแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 2,040 ล้านตัน)
สำหรับบริษัท PTT ติดอันดับที่ 86 ในเรื่องถ่านหินมีสำรอง 359 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์แต่ติดอันดับที่ 51 ในเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมกัน 317 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ผมได้ข้อมูลนี้มาจากเว็บไซต์ http://fossilfreeindexes.com/research/the-carbon-underground/ ใครมีเวลาช่วยลองค้นคว้าเพิ่มเติมนะครับ
ผมลองค้นคำว่า Banpu จากเว็บไซต์ได้ข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ครับ
ประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับพลังงานฟอสซิลสภาวะโลกร้อนก็คือ (1) นักวิทยาศาสตร์พบว่า สาเหตุของสภาวะโลกร้อนเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก (2) ถ้าจะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม มนุษย์จะสามารถเผาได้อีกไม่เกิน 565 กิ๊กกะตันเท่านั้น ซึ่งหากใช้ในอัตราปัจจุบันนี้จะหมดภายใน 16 ปี
แต่บริษัทพลังงานฟอสซิลบอกว่า พวกเขาจำนวน 200 บริษัทมีพลังงานสำรองรวมกันมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์กำหนดไว้ถึงกว่า 5 เท่าตัว (คือ 2,795 กิ๊กกะตัน)
พวกเขาขอใช้พลังงานสำรองให้หมดก่อน และในจำนวน 200 บริษัทนี้มีบริษัทยักษ์ของคนไทยอยู่ด้วย 2 บริษัท เหตุทั้งหมดที่มีการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีแบบล็อกสเปกก็มีแค่นี้เอง ไม่ว่าเรื่องถ่านหินราคาถูก สมดุลพลังงาน และถ่านหินสะอาด ล้วนแต่เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น เพราะมีผลการศึกษาของ IMF รวมทั้งหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาที่ผมได้นำมาเล่าได้ทำให้เราได้เห็นมาแล้วครับ
มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของคนแค่หยิบมือเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่กระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเพื่อนมนุษย์เกือบทั้งโลกเท่านั้นเอง
ที่มา : ASTVผู้จัดการ วันที่ 5 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.