ศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ปัญหาการใช้อำนาจทางปกครองอย่างไม่รับผิดชอบ กรณีการให้ประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย นำมาซึ่งความเดือดร้อนและเสียหายต่อทรัพยากรของชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม และกระทบกระเทือนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้วันนี้ปรากฏการณ์ของการใช้อำนาจของภาครัฐเริ่มปรากฏผลเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว ว่าโครงการและกิจกรรมเหมืองแร่ทองคำได้สร้าง "ความวิบัติ" ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน จนเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นใบไม้ล่วงเกือบทุกวันแล้ว
ส่วนรายงานผลสรุปในเชิงวิทยาศาสตร์ เชิงการแพทย์ ฯลฯ ต่างก็ชัดเจนยิ่งว่าเกิดผลกระทบกระเทือนจริง แต่หน่วยงานที่ให้ความเห็นชอบโครงการและกิจกรรมดังกล่าว ไม่เคยมีหน้าไหน แสดงตัวออกมาแสดงความรับผิดชอบ ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ หน่วยงานทางสิ่งแวดล้อมที่ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือ (EHIA) เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คนเหล่านี้ต่างหุบปากกันไปหมด
"ภูเขาหม้อ" ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทั้งประเทศ ที่เคยเป็นภูเขาสูงเด่น เป็นป่าชุมชน เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรของชาวตำบลทับคล้อ จังหวัดพิจิตร บัดนี้กลายเป็นหลุมลึก กลายเป็นพื้นที่อันตรายที่ปนเปื้อนไปด้วย "ไซยาไนด์" (Cyanide) ซึ่งเป็นสารเคมีพิษที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในกระบวนการสกัดหรือแยกแร่ทองคำ ซึ่ง ณ วันนี้ผลพิสูจน์ยืนยันชัดเจนออกมาแล้วว่ามีการปนเปื้อนในพื้นที่โดยรอบพื้นที่โครงการ และบางส่วนถูกปล่อยให้ระเหยสลายไปเองจากบ่อกากตะกอนแร่ที่มีเนื้อที่นับพันไร่
การระเหยของ"ไซยาไนด์" จากบ่อตกตะกอนแร่ เป็นต้นเหตุที่สำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในรัศมีใกล้เคียงสูดดมเอาสารพิษจากการระเหยและสัมผัสเข้าสู่ร่างกาย จนเกิดความเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนแรง และเกิดการเสียชีวิตโดยฉับพลัน และเรื้อรังมานับสิบปี นับแต่มีการเปิดหน้าที่ให้มีการทำเหมืองแร่ทองคำ
"ไซยาไนด์"สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากหลายเส้นทาง ทั้งการสูดเอาก๊าซไซยาไนด์เข้าไป การกินไซยาไนด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสารไซยาไนด์ก็สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตของคนและสัตว์ได้ทั้งสิ้น
ความเข้มข้นของไซยาไนด์ก็มีผลกับความเร็วมาก ถ้าจับคนล็อกไว้ในห้องก๊าซขนาด 1x1x1 เมตร แล้วปล่อยก๊าซไซยาไนด์เข้าไปซัก 300 มิลลิกรัม เขาจะตายทันทีโดยไม่ทันร้องซักแอะ แต่ถ้าปล่อยก๊าซไซยาไนด์ 150 มิลลิกรัมเข้าไป เขาจะมีเวลาอีกประมาณ 30 นาทีไว้ทรมานก่อนตาย แล้วถ้าปล่อยก๊าซเข้าไปแค่ 20 มิลลิกรัม เขาจะยังไม่ตาย เพียงแต่จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยหลังจากนั้น
ชาวบ้านที่ค่อย ๆ ได้รับพิษจากไซยาไนด์เข้าไปในระดับที่ไม่รุนแรง จะเกิดอาการกล้ามเนื้อล้า แขนขารู้สึกหนัก หายใจลำบาก ปวดหัว รู้สึกมึนๆ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ลมหายใจมีกลิ่นอัลมอนด์จาง ๆ รู้สึกระคายเคืองคัน ๆ ที่จมูก คอ ปาก แต่ถ้าได้รับพิษในปริมาณมากเข้าสู่ระดับรุนแรง จะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรงกว่า หายใจลำบากขนาดต้องอ้าปากพะงาบ ๆ งับอากาศ ชักดิ้นชักงอ และหมดสติในที่สุด
ลักษณะอาการของโรคเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดมากขึ้นในพื้นที่รอบเหมืองทองคำ ในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และปรากฏการตายของชาวบ้านมากอย่างถี่ผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไหลตายไปง่าย ๆ โดยเฉพาะคนสูงอายุ คนชราที่ร่างกายอ่อนแอ แม้ยังเป็นคนในวัยกลางคน ก็เสียชีวิตไปง่าย ๆ ก็หลายรายแล้ว ตั้งแต่ 2 เดือนที่มาถึงปัจจุบันก็มีชาวบ้านรอบเหมืองทองคำดังกล่าวเสียชีวิตไปกว่า 5 รายแล้ว แต่ก็ยังหาวี่แวว การกระตือรือร้นของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบไม่
เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการอุปทานแต่มูลฐานของการเกิดโรคและความตายนั้น เป็นที่รับรู้ รับทราบกันโดยทั่วไป เพราะต้นเหตุสำคัญของการใช้สารพิษไซยาไนด์นั้น มาจากกระบวนการแยกสินแร่ทองคำ จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำโดยตรง สมุหมูลฐานของโรคเป็นเยี่ยงนี้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบกลับยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้อยู่ได้อย่างไร เหตุใดไม่ใช้อำนาจทางปกครองให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดลงไปเสียที หรือมีม่านสีแดง สีม่วง สีเทา ปิดบังต่อมความรับผิดชอบอยู่
เรื่องพรรค์นี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์เท่านั้น เหตุการณ์ในลักษณะและหรือทำนองเดียวกันนี้ ก็เริ่มที่จะปรากฏขึ้นบ้างแล้วในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ซึ่งพื้นที่ทำเหมืองแร่อยู่บนภูเขาสูง แหล่งต้นน้ำ ของชาวบ้าน ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลับหู หลับตาอนุมัติ/อนุญาตให้ประทานบัตรไปได้อย่างไร
ที่สำคัญเมื่อใช้อำนาจในการอนุมัติอนุญาตไปแล้ว ก็จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการติดตาม ตรวจสอบ ว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเป็นไปตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตและเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัดเพียงใด และเมื่อตรวจสอบแล้วควรจักต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนได้รับรู้รับทราบตลอดเวลาด้วย ไม่ใช่เก็บงำไว้กลัวชาวบ้านจะล่วงรู้ความจริง
เมื่อตรวจสอบแล้วพบความผิดปกติ ก็ต้องกล้าที่จะใช้อำนาจในการสั่งหยุดให้ปรับปรุง และสั่งยกเลิกใบอนุญาตเมื่อมีการฝ่าฝืนซ้ำซาก และต้องสั่งให้มีการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนมาเหมือนเดิม หรือแก้ไขกระบวนการที่ผิดพลาดจะโดยเจตนาหรือพลั้งเผลอไปให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวหน่วยงานผู้อนุมัติอนุญาตมีหน้าที่หลักที่ต้องเร่งรีบดำเนินการ หาใช่โยนกลองกันไปมาจนหาข้อสรุปไม่ได้ เช่นทุกวันนี้
เมื่อประเทศไทยมีบทเรียนที่เป็นรูปธรรมจากการประกอบการเหมืองแร่ทองคำเกิดขึ้นทั้งสองแห่งใน 4 จังหวัดข้างต้นแล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะใช้เป็นบทเรียนและต้องทบทวนได้แล้วว่า การแสวงหารายได้เข้าภาครัฐโดยการให้ประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำซึ่งปีหนึ่ง ๆ มีรายได้เข้ารัฐไม่ถึง 500 ล้านบาท เทียบกับผลเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต
การสูญเสียทรัพยากรแร่ทองคำของชาติไปให้กับนายทุนต่างชาติอย่างไม่มีวันเรียกกลับคืน การสูญเสียสิ่งแวดล้อม การสูญเสียชีวิตของชาวบ้านไปจำนวนมาก การแพร่กระจายของมลพิษทั้งในอากาศ ในผิวดิน และระบบน้ำใต้ดินไปในวงกว้าง ปัญหาการสูญเสียในทางเศรษฐกิจของชุมชน สังคม วัฒนธรรม ประเพณีที่คนในพื้นที่รอบเหมืองทองจะต้องได้รับผลกระทบและเผชิญชะตากรรม การที่ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อนำมารักษาชาวบ้านที่ล้มป่วยเรื้อรัง และการสูญเสียทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคต ฯลฯ สารัตถะเหล่านี้ประเมินอย่างไรก็ไม่มีความคุ้มค่า
แต่ทว่ารัฐบาลที่ไร้ความสามารถ จนต้องเอาตัวแทนของนายทุนเข้ามานั่งเป็นเสนาบดีที่คิดจะใช้อำนาจทับซ้อนในทางนโยบายขยายการเปิดพื้นที่เพื่อให้ประทานบัตรขุดแร่ทองคำเกิดขึ้นอีกกว่า 11 จังหวัดกว่า 1 ล้านไร่ในขณะนี้นั้น คือ การทำลายความมั่นคงทางทรัพยากรของชาติ ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านดี ๆ นี่เอง...
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 3 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.