เสรี พงศ์พิศ
ปีไหนภัยแล้งมา ปัญหาก็มาก เพราะประเทศเราไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงก็จะพบว่า การมีภูมิคุ้มกันหมายถึงการมีระบบการบริหารจัดการที่ดี การจัดการน้ำ การจัดการดิน การเพาะปลูก การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างสมดุล
ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่น้ำไม่ท่วมเพราะมีระบบการจัดการน้ำดีและมีประสิทธิภาพ อัมสเตอร์ดัมมีคลองมากกว่ากรุงเทพฯ น้ำไม่เน่า และไม่ท่วมเมือง ประเทศอิสราแอลมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แต่สามารถเปลี่ยนทะเลทรายเป็นป่า เป็นสวน เป็นไร่นาและที่อยู่อาศัย จ้างคนไทยไปทำงานให้เพื่อผลิตอาหารและผลิตผลทางการเกษตรส่งออกไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่คนไทยอยู่ในประเทศที่อุดมสมบูรณ์กว่า ฝนตกมากกว่า ดินดีกว่า แต่คนไทยเปลี่ยนป่าให้เป็นทะเลทรายจนต้องย้ายไปทำมาหากินที่อิสราแอล
อิสราแอลและอีกหลายประเทศมีภูมิคุ้มกันตนเองเพราะสร้างระบบ การจัดการทรัพยากร การจัดการพลังงานได้อย่างลงตัว ใช้พลังงานหมุนเวียนไม่รู้หมดจากแสงอาทิตย์ จากลม มีน้ำน้อยก็เก็บน้ำจากฟ้า จากบนดิน ใต้ดินไว้ใช้อย่างพอเพียง น้ำที่ใช้แล้วก็หมุนเวียนใช้ได้อีกหลายครั้ง
ระบบเหล่านี้ใช่ว่าจะต้องใช้เงินอะไรมากมาย แต่ที่พวกเขาทำได้เพราะใช้ปัญญาต่างหาก เขาพัฒนาระบบการศึกษามานาน ทำให้คนมีความรู้ เพราะพวกเขารู้ว่า การศึกษาแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า และเราก็พิสูจน์วันนี้ว่า เมืองไทยกำลังต้องลงทุนหลายล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบการจัดการน้ำ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลยั่งยืนเพียงใด ถ้าไม่ปฏิรูประบบการศึกษา ระบบน้ำทำมาดี แต่คนไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา ระบบดีแค่ไหนก็ไม่ยั่งยืน เพราะคนไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ
คนที่มีปัญญาใช่ว่าจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย อย่างลุงมณี ชูตระกูล อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี เคยมีนาอยู่ 60 ไร่ อยู่ไกลจากชลประทาน จึงหาวิธีกักเก็บน้ำไว้โดยขุดร่องน้ำรอบนา แล้วยังทำสระน้ำขนาดใหญ่ไว้บนพื้นที่สูงกว่าผืนนา สร้างธนาคารน้ำเอาไว้ใช้ตลอดปี เมื่อมีน้ำ เขาก็สามารถปลูกพืชผัก เลี้ยงปลาและมีรายได้หลายๆ อย่าง ข้าวก็ปลูกปีละสามครั้งได้ แต่ไม่ได้รอขายข้าวหรือพึ่งข้าวอย่างเดียว
พอมีน้ำเขาก็วางแผนการปลูกพืชผักต่างๆ นอกฤดูที่ใครๆ เขาไม่ทำกันเพราะไม่มีน้ำฝน ขายได้ราคาดี อย่างเผือกเขาเล่าว่า ลงมกราไปเก็บเอากรกฎา ตอนที่เผือกราคาแพงพอดี ถั่วลิสงลงธันวาไปเก็บมีนาก็ราคาดีมาก ข้าวโพดก็จะลงเอาตอนเก็บจะเป็นเวลาที่ขาดตลาด
ลุงมณีปลูกอะไรมากมายหลายอย่าง ทั้งพืชอายุสั้นอย่างฟักทอง แตงโม หรือผลไม้อย่างละ 40-50 ต้น เช่น มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ชมพู่ ขนุน ไม่ได้เน้นที่ไม้ผล ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งในนาข้าวและพืชผักต่างๆ วันนี้มีนาอยู่ 110 ไร่ ไม่มีหนี้ มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีโครงการจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวหรือราคาข้าวตกเขาก็ไม่กระทบ ชีวิตไม่ได้ผูกไว้กับข้าวแต่เพียงอย่างเดียว
ทำให้คิดถึงลุงประยงค์ รณรงค์ ที่ทำสวนยางมาแต่ไหนแต่ไร แม้พยายามแก้ไขปัญหายางราคาตกต่ำตั้งแต่กว่า 30 ปีที่แล้ว ก็ยังพบว่า เมื่อระบบการจัดการเศรษฐกิจระดับชาติยังไม่ดี เขาก็ต้องมีวิธีสร้างระบบการจัดการตนเองเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและไม่มีผลกระทบเมื่อเกิดปัญหาราคายางตก และวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าไม่เอาชีวิตไปแขวนไว้กับยางเส้นเดียว แต่แขวนไว้กับเชือกหลายๆ เส้น ก็จะมั่นคงปลอดภัยกว่า แม้ว่าราคายางจะลงไปถึง 50 บาท เขาก็อยู่ได้ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างกรณีตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่นานาประเทศยกย่อง และทำให้ลุงประยงค์ ได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปี 2547
ขณะที่ในชนบทเกิดภัยแล้ง ในกรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วม ฝนตกทีไรน้ำท่วมทุกที จราจรเป็นอัมพาต จนผู้ว่าฯ ที่กำลังไปดูงานการป้องกันน้ำท่วมที่เนเธอร์แลนด์ต้องรีบบินกลับมาแก้ปัญหา น้ำท่วมกรุงเพราะไม่มีระบบที่ดี แล้วก็เที่ยวโทษขยะ โทษท่อ โทษโน่นนั่นนี่ เพราะไม่มีระบบ มองอะไรแยกส่วน ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีแผนที่ต้องแก้ปัญหาอย่างถาวร น้ำจึงท่วมซ้ำซากยั่งยืน ก็แปลกดีที่เป็นผู้ว่าฯมาสองเทอมแล้วยังไปดูงานป้องกันน้ำท่วมอยู่อีก
คนที่สร้างระบบการจัดการที่ดี ไม่ต้องลงเลือกตั้งผู้ว่ารอบใหม่หรอก ไปสมัครเป็นประธานาธิบดีก็ได้รับเลือกเลยอย่างนายโจโก วิโดโด อดีตนายกเทศมนตรีกรุงจาร์กาตา หรือนายคอนราด อเดเนาว์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโคโลญ ที่ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมนีที่ชาวเยอรมันยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติ เพราะเขาได้สร้างระบบการจัดการเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะระบบสวัสดิการ การออม บำนาญ ทำให้ผู้คนมีความมั่นคงหรือมีภูมิคุ้มกันวันนี้และวันหน้าในวัยชรา
บุคคลเหล่านี้ที่ได้รับการยกย่อง ล้วนแต่สร้างระบบ ไม่ว่าระบบในครอบครัวอย่างลุงมณี หรือในชุมชนอย่างลุงประยงค์ หรือระดับชาติอย่างคอนราด อเดเนาว์ หรือที่ทำกันในระดับประเทศอย่างอิสราแอล ซึ่งต่างก็สร้างระบบที่มีฐานการศึกษาที่ดี ฐานความรู้ ฐานปัญญา ไม่ใช่ใช้แต่ฐานเงินและอำนาจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำเป็นเรื่องๆ อย่างๆ ทำให้แล้งและท่วมซ้ำซากชั่วนาตาปี
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 30 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.