ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวนาในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเริ่มลงมือเพาะปลูกข้าวนาปี แต่ปรากฏว่าปีนี้น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหลือใช้น้อยมาก ดังนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ตัดสินใจออกประกาศให้เกษตรกรชะลอ/เลื่อน การปลูกข้าวออกไปเป็นกลางเดือนกรกฎาคมที่คาดหวังว่าจะมีฝนตกลงมาตามปกติ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นธรรมดาย่อมมีทั้งคนที่พร้อมให้ความร่วมมือและไม่พอใจ ท่ามกลางวิกฤตินี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ถึงทิศทางอนาคตเกษตรกรในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร และจะนำเสนอปัญหาเพื่อให้รัฐบาลช่วยเร่งแก้ไขอย่างไรบ้าง
++เกษตรกรเจอวิกฤติ 3 เด้ง
"ประพัฒน์" กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีโชคร้ายที่เกษตรกรต้องเผชิญ 3 วิกฤติ ได้แก่ 1. วิกฤติทางการเมือง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาไม่ทราบจะไปเรียกร้องกับใคร เพราะไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ในพื้นที่ เป็นผู้ประสานงาน ที่ผ่านมาทางสภาเกษตรกรฯจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำความเดือดร้อนของเกษตรกรแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดยอมรับว่าได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
เรื่องที่ 2 วิกฤติภัยแล้ง ก่อนหน้ารัฐบาลก็ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง ล่าสุดขอให้เลื่อนทำนาปี ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคม จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามช่วยเหลือโดยมีโครงการจ้างเกษตรกรขุดลอกคูคลองเพื่อให้มีรายได้ชดเชย มองว่ามีผลเชิงปฏิบัติในพื้นที่น้อย เพราะเม็ดเงินน้อยมาก ส่วนตัวไม่อยากจะตำหนิว่ารัฐบาลไม่เข้าใจปัญหาเกษตรกร เนื่องจากสังคมชนบทมีปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญอายุโดยเฉลี่ยของเกษตรกรชราภาพกันหมดแล้ว ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
"ไม่ใช่หนุ่มสาวจะมาใช้แรงงานแบบนี้คงไม่ไหว หากจะช่วยเหลือควรจะมีรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นหากชาวนาให้ความร่วมมือลดทำนาปรัง หรือร่วมมือในการเลื่อนปลูกข้าว ควรจะผ่อนปรนเรื่องหนี้สินให้ อาทิ พักดอกเบี้ย หรือผ่อนปรนดอกเบี้ย จะทำให้เขารู้สึกคลายกังวล เพราะเลื่อนทำนาดอกเบี้ยเดินตลอดเวลา อย่างน้อยการทำนา ถือว่าธุรกิจยังเดิน มีกินมีใช้ และ 3.วิกฤติราคาพืชผลต่ำ เกษตรกรเงินไม่ค่อยมีใช้ ส่งผลเศรษฐกิจประเทศฟุบ เนื่องจากกำลังซื้อหลักมาจากเกษตรกร จะเห็นว่าวิกฤติที่เกษตรกรเผชิญอยู่หนักหน่วงมาก ยังไม่มีนโยบายรัฐบาลที่จะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาเพื่อแก้ไขอย่างเด่นชัด"
++ทางออกแก้ปัญหาที่ดินทำกิน
เรื่องปัญหาที่ดินทำกินถือเป็นอีกที่มีปัญหารุนแรงมาก เกษตรกรไม่มีที่ทำกินมั่นคง ปัจจุบันที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ได้จัดสรรหมดเรียบร้อยแล้ว หากรัฐบาลเข้าใจปัญหานี้สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่พลิกนโยบาย กระทำได้โดยนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มสามารถประกาศใช้นโยบายแก้ไขปัญหาง่ายมาก ไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่สามารถใช้กฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตราที่ 19 สาระสำคัญคือ สามารถอนุญาตให้ประชาชนเช่าที่หรือทำกินได้ แต่ปัจจุบันนอกจากจะส่งผลทำให้เกษตรกรไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถลงทุนได้ระยะยาว จึงปลูกได้เพียงพืชอายุสั้นปีต่อปีเท่านั้น แล้วยังเป็นการเอื้อต่อเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีไปหากินกับประชาชนอีก
"ไม่ใช่เกษตรกรไม่มีที่ทำกิน เพียงแต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามความเข้าใจของรัฐบาล คาดว่ามีเกษตรกรทั่วประเทศกว่าแสนครัวเรือน รัฐควรทำให้ถูกต้องโดยรับรองเกษตรกร และสร้างกติการ่วมกันใครถือครองเกิน 50 ไร่ จะต้องแบ่งเฉลี่ยให้เกษตรกรรายอื่นที่ไม่มีที่ดินทำกิน มองว่ารัฐบาลกำลังหลงทาง พูดถึงรักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งกำลังทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง อยากตั้งคำถามกลับไปว่า คนไทยอยากจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่มีใครอยากทำหรอก ถ้าไม่เข้าตาจนจริงๆ สุดท้ายจะกลายเป็นสร้างปัญหาใหญ่กว่าปัญหาเดิม จากปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ และลามเป็นปัญหาสังคม ในที่สุดจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง อยากให้รัฐบาลไตร่ตรองให้รอบคอบ"
++ขอจัดระเบียบหนี้ใหม่
นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้สินของเกษตรกร อยากให้รัฐบาลออกเป็นนโยบาย โดยเฉพาะกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีลูกค้าเป็นเกษตรกรกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน ช่วยอุดหนุน การปล่อยสินเชื่อของธ.ก.ส.ควรจะมีระยะยาวมากกว่าระยะสั้น มีลักษณะแบบปีต่อปี เช่นทุกวันที่ 31 มีนาคม จะต้องตัดดอกเบี้ย และเมษายน จะต้องยื่นเรื่องขอกู้ใหม่ เป็นต้น หากจะกู้ใหม่เกษตรกรจะต้องนำเงินต้นพร้อมกับดอกเบี้ยจ่ายหมดถึงจะกู้ใหม่ได้ อาทิ ต้น 5 แสน ดอกเบี้ย 1 แสน ต้องจ่าย 6 แสน ซึ่งกรณีนี้กลายเป็นปัญหาที่กดทับเกษตรกรที่หนักหน่วงมาก จะเรียกร้องให้รัฐบาลยืดหยุ่น หรือหากต้นยังไม่ชำระ เฉพาะดอกได้หรือไม่ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการปล่อยสินเชื่อในลักษณะไม่ทันสมัย หากปรับหน่อยจะทำให้เกษตรกรหายใจได้สะดวกขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,063 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 20 มิ.ย. 2558