ในที่สุด นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ช่วยชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานทั้งสองฟากฝั่งลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อนรวมพื้นที่กว่า 4 ล้านไร่ จนกว่าฝนจะตกปกติ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าคงจะราวช่วงกลาง-ปลายเดือนกรกฎาคมนี้
นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกของคณะอนุกรรมการด้านการเกษตรระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เร่งหารือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนเวลาเพาะปลูกออกไป ทั้งการช่วยเหลือในต้นฤดู กลางฤดู และปลายฤดู โดยมอบให้ นายชวลิต ชูขจรปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประชุมผ่านคอนเฟอร์เรนซ์กับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อสั่งการให้มีการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 22 จังหวัด ที่ยังไม่ลงมือเพาะปลูกอีกราว 4 ล้านไร่ ว่ามีความต้องการจะประกอบอาชีพอะไรก่อนจะออกมาเป็นมาตรการที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนต่อไป
ลดปล่อยน้ำเหลือวันละ 30-35 ลบ.ม.
ล่าสุดนายชวลิต ระบุถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนว่ามีทุนน้อยและค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนตกล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น และมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้ 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำที่ใช้ได้ประมาณ 1,400 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำใช้การ 423 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำใช้การ 794 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำใช้การ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำใช้การ 91 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนยังไม่ตกจะสามารถใช้น้ำได้อีก 40 วันเท่านั้น
ดังนั้นกรมชลประทานจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดอย่างรัดกุม จากเดิมที่สามารถปล่อยน้ำได้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ลดเหลือเพียงวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถสนับสนุนเพียงพอเฉพาะน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และน้ำที่ใช้ในการรักษาระบบนิเวศ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้วจำนวน 2.84 ล้านไร่ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถ้าฝนตกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ ก็ยังสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้" นายชวลิต กล่าว
สั่งกรมฝนหลวงปฏิบัติการทันที
อย่างไรก็ตามจากการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้มีแนวทางเบื้องต้นว่า ต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรองรับอยู่แล้ว 13ฐานทั่วประเทศไทยหากมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเหมาะสมจะมีการขึ้นบินทำฝนหลวงอย่างเข้มข้นเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและสำรองน้ำให้ได้มากที่สุดทันที
ด้าน นายวราวุธขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงแผนปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำว่า ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยเร่งทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งพร้อมกับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการเติมน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และให้เร่งเติมน้ำให้เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนท่าทุ่งนา เป็นต้น
แนะรวมกลุ่มของบจากรัฐบาล
ส่วน นายประสิทธิ์ บุญเชย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลายแห่งพบว่าน้ำไม่มีจริงๆ หากทำนาจะได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพและชาวนาจะขาดทุน จะเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือแล้ว ทางออกที่ดีชาวนาต้องรวมกลุ่มและกำหนดทิศทางว่าจะทำอะไร จะปลูกพืชระยะสั้น หรือเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ จากนั้นเสนอโครงการไปยังรัฐบาลเพื่อขอบประมาณดำเนินการต่อไป
"ก่อนที่เราให้รัฐบาลช่วยเหลือ เราต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย เพราะถ้ารัฐบาลเอางบประมาณลงมาให้ทำโน่นทำนี่ ชาวนาไม่เคยทำมาก่อนก็ทำไม่ได้ เราต้องกำหนดเองว่าจะทำอะไร แล้วเสนอไปรัฐบาลมีประมาณที่จะช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวนายุคใหม่มักไม่ค่อยสมัคคีกัน ต่างคนต่างทำ พอคนอื่นไปเรียกร้องมาก็พลอยได้กับเขาด้วย ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของชาวนาเอง" นายประสิทธิ์ กล่าว
ทิ้งนาไปทำอาชีพอื่น
ขณะที่ นายสำราญ คำหอม เกษตรกรชาวนาชาว ต.จระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง บอกว่า ปกติคนในหมู่บ้านจะทำนาปีละ 3 ครั้ง หรืออย่างน้อย 2 ปี 5 ครั้ง แต่มาระยะหลังประสบปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำนา รับฐาลจึงขอความร่วมมือให้งดการทำนาปรังรอบสอง แล้วมาขออีกให้งดทำนาปรังรอบแรก ล่าสุดมาขอความร่วมมือให้งดทำนาปีอีก เท่ากับว่าชาวนาทำนาไม่ได้ทำนาทั้งปี ลองคิดดูอาชีพของชาวนาเมื่อไม่ทำนาจะเอาอะไรกิน ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มงดการทำนามากขึ้นแล้ว เพราะเกรงว่าทำแล้วขาดทุน ทำให้ชาวนาบางคนต้องไปหางานอื่น บางคนอาจปลูกพืชอายุสั้น บางคนไปรับจ้างทั่วไปเพื่อความอยู่รอด
"คิดว่าคงไม่ใช่ปีนี้ปีเดียว ต่อไปก็อาจจะเป็นแบบนี้อีก อย่างคราวที่แล้วรัฐบาลประกาศขอความร่วมมือให้งดทำนาปรัง แต่ผมไม่มีอาชีพอื่นสำรองก็ต้องทำนาเหมือนเดิม ปรากฏว่าน้ำไม่มี ทำให้ขาดทุนไป ล่าสุดสำนักเกษตรอำเภอไชโยมาชี้งแจงถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พร้อมขอความร่วมมือให้งดทำนาปีอีก ชาวบ้านจำนวนมากคงให้ความร่วมมือ เพราะถ้าทำก็ขาดทุน หากรวมกลุ่มของบประมาณจากรัฐบาลมาปลูกพืชอื่นทดแทนทำนา ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีตลาดรองรับหรือไม่ ส่วนตัวผมได้มองถึงอาชีพอื่นแล้ว ตั้งใจจะเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างน่าจะดีกว่า" นายสำราญ กล่าว
นับเป็นปรากฏการณ์แทบไม่เคยขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษสำหรับชาวนาไทยที่ต้องชะลอหรืองดทำนาปี และปีนี้คงไม่ใช่ปีแรกและปีสุดท้าย หากแต่ยุคแห่งการเปลี่ยนสภาพอากาศของโลก สถานการณ์เช่นอาจซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงเวลาที่เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อสถานการณ์ในอนาคต
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 22 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.