เดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญ หวังโจทย์ปฏิรูปประเทศ งานนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือธงนำตั้งวงประชุม จนออกมาเป็นรูปร่าง โดย กมธ. หลายคนเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับกินได้” ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ มาวันนี้จึงถือโอกาสจับเข่าคุยกับ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล”กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช. ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ให้ได้แจกแจงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้กินได้อย่างไร
“ดร.กอบศักดิ์” เปิดฉากสาธยายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบระหว่างคนจนและคนรวย จะให้ความสำคัญเรื่องการให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงทรัพยากรที่จะตอบโจทย์ของชีวิต อีกทั้งยังใส่แนวคิดในเรื่องของการขับเคลื่อนกฎหมายให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ปัญหาที่พบคือมีเกษตรกรจำนวนมาก มีปัญหาที่ดินที่ติดจำนองอยู่กับกลุ่มทุน ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่ดี หรือราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หรือเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ดินเหล่านี้พร้อมที่จะหลุดมือเสมอ ส่วนกลุ่มทุนก็ติดกฎหมายในเรื่องเช่าพื้นที่การเกษตร เมื่อติดปัญหาเช่าก็ไม่อยากที่จะไปปล่อยเช่าต่อเพราะขายไม่ได้ พอเป็นลักษณะนี้ก็ทำให้ที่ดินที่หลุดเป็นที่ดินรกร้างส่วนตัวชาวบ้านเมื่อไม่มีที่ดินทำการเกษตรเขาก็ต้องหาทางออกโดยการบุกพื้นที่ป่า
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ดิน การกระจายที่ดินไปสู่มือของประชาชน โดยมีกลไก คือ การทำโฉนดชุมชน การจัดทำธนาคารที่ดิน การใช้มาตรการทางภาษีที่ไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่สอดประสานเป็นกลไกใหม่ เพื่อที่จะไม่ให้ที่ดินที่อยู่ในมือของประชาชนตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่าสิ่งที่น่ากังวลคือ รัฐบาลก็พยายามช่วย คือพยายามที่จะเอาที่ดินของภาครัฐที่มีอยู่ป่าเสื่อมโทรมแล้วมาให้เกษตรกรที่เรียกว่า ส.ป.ก. ซึ่งเกษตรกรก็ยิ้มแต่ผ่านไป 5 ปี ส.ป.ก. ก็หลุดมือ ปรากฏว่าพื้นที่ ส.ป.ก. 30 ล้านไร่ ออกไป ประมาณครึ่งหนึ่งตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน เราจึงพยายามแก้ไข ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องธนาคารที่ดิน
ธนาคารที่ดินจะเป็นสิ่งที่มาช่วยชีวิตประชาชนยามยาก คือสามารถมาที่ธนาคารแห่งนี้แล้วบอกว่า “ได้เอาที่ดินไปจำนอง แล้วตอนนี้กำลังจะหลุดมือ อยากจะให้ช่วยหน่อย...” ซึ่งธนาคารที่ดินจะสามารถเข้ามาช่วยโดยบอกว่า “งั้น...โอนย้ายหนี้มาที่ธนาคารที่ดิน แล้วมาผ่อนที่นี่แทน ด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7-8 ซึ่งถูกกว่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียให้กับนายทุนแน่นอน กู้มา 1 แสน ดอกเบี้ย 1 ปี ก็ประมาณ 8,000 บาท ตกเดือนละ 700 บาท จากนั้นก็ต้องพยายามให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมายืนให้ได้ หลังจากที่ได้ลดภาระเรื่องดอกเบี้ย เขาก็จะกลับมาประกอบอาชีพได้
แต่หากบางคนมีปัญหาผ่อนจนดอกเบี้ยลดลงมาเยอะแล้ว แต่ยังไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ ธนาคารที่ดินก็ไม่ได้ไล่ที่ ตรงนี้คือความแตกต่าง เพราะนายทุนถ้าได้ที่ดินบางคนเขาก็จะเริ่มไล่ที่ทำให้สูญเสียที่ทำกิน ต้องออกจากบ้านของตัวเอง ซึ่งธนาคารที่ดินแห่งนี้มีหน้าที่บำบัดทุกข์ ลดดอกเบี้ยให้ และให้โอกาสในการกลับคืนใหม่ ขณะเดียวกันไม่ตั้งใจไล่ที่ให้ประชาชนลำบาก เสร็จแล้วให้โอกาสเป็นเวลา 5 ปี หลังจากที่ที่ดินหลุดมือแล้ว
หมายความว่าเมื่อไหร่จ่ายไม่ไหวจริง ๆ ที่ดินหลุดมือก็สามารถเช่าต่อได้และเมื่อเช่าต่อไปก็มีโอกาสอีก 5 ปี ที่จะกลับมาที่ธนาคารแล้วบอกว่าอยากได้ที่ดินคืนแล้วเราก็สามารถซื้อคืนได้ ซึ่งก็จะจัดโปรแกรมปล่อย เช่า ซื้อคืนกันไปก็ทยอยจ่ายค่าดอกเบี้ย ก็สามารถที่จะนำที่ดินกลับไปเป็นของตัวเองต่อไป
“ผมว่าตรงนี้เป็นหัวใจที่ทำให้ชีวิตของประชาชนจำนวนที่กำลังทุกข์ยากในขณะนี้มีที่พึ่งขึ้นใหม่ ถ้าทำตรงนี้ได้จะเปลี่ยนชีวิตของคนจำนวนมาก และจะเปลี่ยนปัญหาเรื่องที่ดินของเมืองไทยให้ที่ดินไม่หลุดมืออีกต่อไป เพราะผมมั่นใจว่าทุกคนล้วนแต่รักที่ดินของตัวเอง ไม่มีใครอยากเสียที่ดิน แต่ถ้าฟ้า ดิน ไม่เป็นใจก็ต้องจำใจไปกู้เงิน สุดท้ายก็ถูกบีบให้ปล่อยของที่เรารัก ซึ่งธนาคารที่ดินจะช่วยให้เขารักษาสมบัติของบรรพบุรุษไว้ได้”
นอกจากนี้ธนาคารแห่งนี้จะนำเอาที่ดินที่รกร้างของภาครัฐมาจัดสรรให้กับประชาชนเช่าในราคาไม่แพง โดยประชาชนสามารถอยู่อาศัยเช่าไปได้เรื่อย ๆ อีกทั้งจะทำให้ที่ดินรกร้างถูกกระจายไปอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ผู้ยากจน กลุ่มผู้ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างกว้างขวางมากขึ้น
ทั้งนี้ยังมีแนวคิดว่าเมื่อธนาคารที่ดินพอทำตรงนี้ได้ดีถึง ระดับหนึ่ง ก็จะเริ่มพัฒนาไปคุยกับเอกชนว่าที่ดินที่ซื้อไปเยอะแยะที่รกร้างอยู่ก็จะมีมาตรการทางภาษี ทำให้ที่ดินรกร้างต้องจ่ายภาษี อยากจะให้ประชาชนเช่าหรือไม่ถ้าให้เช่าภาษีก็แทบจะไม่ต้องจ่ายเพราะมีการใช้ประโยชน์เกิดขึ้น และขณะเดียวกันเราก็จะดูแลให้ว่าการเช่าครั้งนี้จะไม่ผิดกฎหมายเช่าที่ระบุว่าถ้าเกิดจะไปขายต้องให้คนเช่าก่อน เมื่อธนาคารแห่งนี้เริ่มมีกำไรเราจะไม่สะสมในรูปเงิน แต่จะสะสมในรูปของที่ดินคือเอาเงินที่ธนาคารได้กำไร หรือรัฐบาลเมตตาให้มา เราก็ไปซื้อที่ดินเก็บไว้ ซึ่งที่ดินเหล่านี้ก็จะสามารถนำมาให้ประชาชนเช่าใช้ทำประโยชน์ได้และเป็นที่ดินของรัฐต่อไป ซึ่งผมมั่นใจว่าอีก 10 ปีจากนี้ไปธนาคารที่ดินจะเป็นองค์กรที่สำคัญของประเทศไทย
ทุนเริ่มต้นของธนาคารที่ดินจะมาในรูปแบบไหน
คงต้องให้รัฐบาลประเดิมที่ 5 พันล้านบาท ซึ่งจะรวมกับเงินที่โอนมาจากสถาบันบริหารจัดการที่ดิน 700 ล้านบาท โดยจะนำเงินนี้มาใช้ทดลองทำในช่วงแรกคือการทดลองปล่อยกับคนที่ติดจำนอง ธนาคารแห่งนี้จะไม่ต้องพึ่งเงินรัฐบาลมาก ขอเงินรอบเดียวเพื่อเป็นต้นทุนให้เกิดความมั่นใจ หลังจากนั้นเอาเงินออกพันธบัตรแต่ละครั้งเมื่อออกไปแล้วก็จะมีดอกเบี้ยมาเรื่อย ๆ เราก็นำดอกเบี้ยมาจ่ายให้กับคนที่ซื้อพันธบัตรไปซึ่งเงินเหล่านี้จะทำให้ธนาคารเลี้ยงตัวเองได้ แล้วพอมีกำไรแทนที่จะส่งคืนรัฐเราก็นำกำไรไปซื้อที่ดินคนที่อยากจะขายในตลาดเข้ามาเก็บไว้ เพื่อนำที่ดินเหล่านี้มาช่วยประชาชนต่อไป
ธนาคารฯจะเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่
ตามกระบวนการทางคณะกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน สปช. จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ....จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เมื่อผ่านจาก สปช. จะถูกส่งไปที่รัฐบาล ซึ่งจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน และเมื่อผ่านจากรัฐบาลแล้ว จะส่งร่าง พ.ร.บ. ไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อผ่าน สนช. ก็จะมีการตราเป็นกฎหมายซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ภายในปี 2558 นี้
“ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าจะถูกแทรกแซง แล้วทำให้เกิดความเสียหายเพราะเมื่อมีที่ดินมากจะกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ แต่เราได้เขียนกฎหมายให้ชัดเจนแต่ต้นว่า คนที่ธนาคารจะทำประโยชน์ด้วยคือ “กลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย” และ “กลุ่มผู้ยากจน” เท่านั้นการปล่อยที่ดินให้กับนายหน้าเพื่อทำโครงการอสังหาริมทรัพย์หมื่นล้าน แสนล้าน จะไม่เกิดขึ้น เพราะได้เขียนไว้อย่างชัดเจน”
หลังจากนั้นเรารู้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องกระบวนการจัดซื้อและขาย เพราะการซื้อขายที่ดิน เป็นช่องของการให้เกิดปัญหาซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ที่เขียนไว้ ก็จะระบุชัดเจนว่า “ที่ดินที่ซื้อเข้าสู่ธนาคารจะขายไม่ได้” เพราะเป็นของธนาคารที่ดินแล้ว ถ้าปิดช่องให้ขาย ผมบอกเลยว่ามีปัญหาเยอะแน่นอน ดังนั้นเราจะรับซื้ออย่างเดียว เมื่อขายไม่ได้ ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการหาประโยชน์ก็จะหายไปเยอะทีเดียว
จากนั้นก็จะมีการเขียนกฎเกณฑ์ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตอนที่จะส่งให้รัฐบาลว่าในการซื้อต้องมีการประกาศว่า ซื้อที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ราคากลางเท่าไหร่ ทุก ๆ ไตรมาส เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของธนาคารที่ดินได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นกรรมการ หรือส่งคนของตัวเองมาเท่าไหร่ แต่สุดท้ายประชาชนจะเห็นเสมอว่าธนาคารแห่งนี้กำลังทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่
ซึ่งธนาคารที่ดินจะให้อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากำกับดูแล เหมือนธนาคารเฉพาะกิจอื่น ๆ พอเป็นลักษณะนี้ก็จะทำให้มีคนมาช่วยดูว่ากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง กระบวนการการดูแลตรวจสอบภายใน กระบวนการเผยแพร่ข้อมูล ตลอดจนการทำงานต่าง ๆ มีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการที่เรากำหนดว่า “ขายที่ดินไม่ได้” จะทำให้ธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารที่ดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง มีการแทรกแซงไม่มากนักจากทางการ
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 30 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.