นับเป็นการขยับตัวแรงที่สุดสำหรับยุทธการ"โค่นสวนยาง ทวงคืนผืนป่ากว่า 5 ล้านไร่" ส่งผลสะเทือนบรรดา "นายทุนน้อย-ใหญ่" เป็นอย่างมาก เพราะแทบไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการลุยปราบยึดคืนทั่วประเทศ โดยยุทธการนี้กรมป่าไม้ซึ่งเป็นทัพหน้าร่วมกับ 11 หน่วยงานได้เริ่มคิกออฟไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ภายใต้คำสั่งของพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้ากระทรวงลงแรงเดินสายสร้างความเข้าใจและขอกำลังจาก 4 เหล่าทัพไปช่วยภารกิจนี้อีกแรง
ยึดคืนเฟสแรก 4 แสนไร่สิ้นปีนี้
นายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันพบว่ามีการบุกรุกที่ป่าเพื่อปลูกยางพาราทั้งหมดกว่า 5 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ 4.4 ล้านไร่ และพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ล้านกว่าไร่ โดยพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่ถูกบุกรุก 4.4 ล้านไร่นั้น แบ่งออกเป็นการบุกรุกก่อนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 1.24 ล้านไร่ และบุกรุกหลังมีมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 3.2 ล้านไร่ ซึ่งจำนวนหลังนี้เองที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ เมื่อสแกนออกมาแล้วพบว่า เป็นพื้นที่นายทุน 1.5 ล้านไร่ และพื้นที่ของผู้ยากไร้ 1.7 ล้านไร่ ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์เน้นว่าเป้าหมายแรกที่ต้องจัดการคือ "นายทุน"
"รัฐมนตรีว่าการได้กำหนดแผนว่า สิ้นปี 2558 นี้กรมป่าไม้จะต้องเอาพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกคืนมาให้ได้ 4 แสนไร่ และพื้นที่กรมอุทยานฯอีก 1 แสนไร่ และตั้งเป้าหมายระยะ 2 ปี ต้องยึดคืนมาให้ได้ 1.5 ล้านไร่" นายอรรถพลกล่าว
ที่สำคัญยุทธการนี้มีแรงต้านแรงกระเพื่อมน้อย เนื่องจากเป็นการบูรณาการหลายหน่วยงาน โดยหน่วยงานหลัก คือ กรมป่าไม้และกองทัพบก พร้อมหน่วยสนับสนุนอีก 12 หน่วย คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (ศปป.4) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงจังหวัด กองกำลังรักษาความสงบจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ กองทัพภาคที่ 1-4 กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ป.ป.ท. ฝ่ายปกครอง ปปง. อบต. และ ส.ป.ก.
ลุย 12 จังหวัดเป้าหมายแรก
กลุ่มเป้าหมายแรกที่ต้องดำเนินการมี 12 จังหวัดล้วนเป็นพื้นที่วิกฤตเป็นภูเขาหัวโล้น หรือมีการบุกรุกปลูกยางมากกว่า 1 หมื่นไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ (น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) พื้นที่รวม 118,781 ไร่ ภาคกลาง (กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์) พื้นที่รวม 44,724 ไร่ ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง) พื้นที่รวม 80,600 ไร่ และภาคอีสาน (นครพนม สกลนคร เลย อำนาจเจริญ) พื้นที่รวม 58,029 ไร่
เกณฑ์พิจารณาใครคือนายทุน
ปฏิบัติการครั้งนี้จึงต้องจำแนกนายทุนออกจากชาวบ้าน โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาว่าใครเป็นนายทุน คือ 1.เนื้อที่ที่ถูกบุกรุกโดยประมาณ 25-50 ไร่ขึ้นไป 2.ผู้บุกรุกเป็นคนต่างถิ่น มาจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือให้ดำเนินการแทน 3.มีการบุกรุกหลายแปลง 4. สวนยางพารามีขนาดใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างหรือที่พักอาศัย และมีการลงทุนสูง และ 5.ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่า เจ้าของเป็นคนต่างถิ่น และมีฐานะร่ำรวย ไม่ใช่คนยากไร้ ไร้ที่ทำกิน
นายทุนใต้พรึ่บรุกซื้อที่เหนือ-อีสาน
"ในพื้นที่เราดูออกเลยว่าเป็นนายทุนหรือไม่ใช่ คือ นายทุนจะมีอาชีพเดิมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นชาวบ้านจะไม่มีอาชีพอื่นเลย เท่าที่ดำเนินการมา นายทุนส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ อาทิ นายทุนจากชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ เป็นต้น หรือนายทุนที่เป็นรายใหญ่จริง ๆ จะมีทั้งตัวบุคคลและรูปแบบบริษัท โดยจะมาเป็นกลุ่ม ๆ มากว้านซื้อที่ มีทั้งซื้อที่ถูกและผิด แต่ที่ถูกนี้ เอกสารสิทธิจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องดูกันอีก
หากเป็นคนในจังหวัด แต่มีอาชีพหลักอยู่ อาทิ รับราชการ ก็ถือว่าเป็นนายทุนเช่นกัน เพราะการมาซื้อที่ดินมันเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดวงจรในการบุกรุกป่า เมื่อมีคนมาซื้อ ชาวบ้านก็เลยต้องบุกรุกต่อ เพราะรู้ว่าขายได้ และถ้ารัฐบาลยกเว้นผ่อนผันให้ก็จะเป็นวัฏจักรอย่างนี้ไปตลอด
การจัดการแต่ละครั้งจะต้องมีแผนที่ชัดเจนมีการพูดคุยในระดับผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายประสานงานกับจังหวัดโดยมีผู้ว่าฯเป็นซีอีโอ และภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนทั้งนายก อบต. หรือผู้ใหญ่บ้าน เพราะต้องมาช่วยกันดูว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของนายทุนจริงหรือไม่ ฉะนั้นที่ผ่านมาแทบจะไม่มีผลกระทบกับคนจนเลย อาจจะมีบางราย แต่เมื่อเช็กข้อมูลแล้วกลับเป็นการแอบอ้าง หรือเป็นนอมินีของนายทุน และไม่ใช่ผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ
เปิดทางเยียวยาชาวบ้าน
สำหรับการตัดโค่นต้นยางพารานั้น พยายามไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยใช้วิธีทยอยตัด โดยกลุ่มแรก คือ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 จะใช้วิธีตัดสลับปลูกต้นไม้แซมเข้าไป พอต้นไม้เริ่มโตก็ปรับสภาพเอายางพาราที่เหลือออกให้หมด แล้วค่อย ๆ ปลูกป่าเพิ่มเพื่อปรับสภาพให้กลับมาเป็นป่าเหมือนเดิมขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งส่วนมากเป็นที่ราบ จะตัดทิ้งส่วนหนึ่งและเหลือไว้ให้ชุมชนมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพื่อบรรเทาผลกระทบชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะเป็นลูกจ้างของนายทุนที่ถูกดำเนินการ ซึ่งอยู่ระหว่างร่างระเบียบกฎเกณฑ์
เป้าหมายใหญ่ได้คืนพื้นที่ป่า 128 ล้านไร่
นายอรรถพลกล่าวว่า เป้าหมายคือต้องมีพื้นที่ป่า 40% หรือ 128 ล้านไร่ ตอนนี้เรามีป่าแค่ 102 ล้านไร่ โดยก่อนหน้านี้ถูกบุกรุกเฉลี่ยปีละ 2.7 แสนไร่ ขณะที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯดำเนินการได้ปีละ 7 หมื่นไร่ จนกระทั่งช่วงปี 2555-57 สถานการณ์บุกรุกป่าเริ่มนิ่ง และต้องพยายามเอาพื้นที่ป่าถูกบุกรุกกลับคืนมา
ล่าสุดดำเนินการไปได้ทั้งหมด 35,221 ไร่ แบ่งเป็นดำเนินคดี 23,023 ไร่ ดำเนินการปิดประกาศ 10,262 ไร่ และดำเนินการรื้อถอน/ทำลาย 1,935 ไร่ อุปสรรคเดียวคืองบประมาณ เพราะต้องใช้กำลังคนเยอะ
ผลลัพธ์ครั้งนี้ นอกจากจะได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแล้ว ยังทำให้ผลผลิตหรือซัพพลายยางพาราลดลงอีกด้วย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.