วัลวิทย์ สมยศ สัมภาษณ์เรียบเรียง
ภาพประกอบจาก http://www.catspa.org/2013/12/blog-post.html
ตามที่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะผลักดัน พ.ร.บ ป่าชุนชนเข้าพิจารณาในรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา พ.ร.บ. ที่วุฒิสภาแก้ไขนี้จะคืนสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง อีก 180 วันนับจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างที่แก้ไขจากวุฒิสภาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ กรณีที่ 1 หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ยืนยันตามร่างเดิมหรือเห็นด้วยกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไข ก็หมายความว่าหลังจาก พ.ร.บ. ป่าชุมชนประกาศใช้ ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมดจะปลอดคน กรณีที่ 2 หากสภาผู้แทนฯ ยืนยันตามร่างเดิมที่ได้ลงมติ ก็จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อหาข้อยุติกันต่อไป
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการผลักดันเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่ง พ.ร.บ. ป่าชุมชน เกิดขึ้นเมื่อกรมป่าไม้ให้นายทุนเช่าพื้นที่ป่าห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2532 การกระทำชำเราป่าไม้ของเหล่านายทุน ทำให้ชาวบ้านห้วยแก้วรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้อง ให้กรมป่าไม้เพิกถอนการให้เช่าพื้นที่ป่า เพื่อให้ชาวบ้านจัดการกันเองในรูปของป่าชุมชน
นอกจากนี้ แนวคิดที่ว่า ป่าต้นน้ำควรเป็นพื้นที่สีเขียวที่ปลอดมนุษย์ ซึ่งแปรมาเป็นนโยบายเอาคนออกจากป่าในเวลาต่อมา ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อปรากฏความล้มเหลวในการอพยพคนออกจากป่าหลายกรณี แรงผลักดันจากกระแสเรียกร้องเรื่องป่าชุมชนที่เพิ่มความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรมป่าไม้ต้องยกร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับกรมป่าไม้ขึ้นในปี 2534 อีกสองปีต่อมาจึงแล้วเสร็จ
แน่นอนว่า องค์กรภาคประชาชนปฏิเสธร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชนนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะอนุญาตให้ชุมชนมีสิทธิใช้สอยเฉพาะพื้นที่ป่าปลูกเท่านั้น และอำนาจในการจัดการป่ายังอยู่ในมือกรมป่าไม้เหมือนเดิม ในขณะที่ชาวบ้านต้องการกฎหมายที่รองรับสิทธิชุมชนให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลและใช้สอยประโยชน์จากป่าอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นได้มีการโต้แย้งทางความคิดในเวทีสาธารณะระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ข้อกังขายังอยู่ที่ความไม่เชื่อมั่น และการมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ตลอดจนการยึดหลักความรู้ทางนิเวศวิทยากระแสหลัก แต่ละฝ่ายได้เคลื่อนไหวโดยการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่การมีเวทีรับฟังความ คิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประชาพิจารณ์ในปี พ.ศ.2540 ตามด้วยการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายร่วมกันระหว่างองค์กรอนุรักษ์ องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายชาวบ้านและภาครัฐ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2543 ฝ่ายเครือข่ายองค์กรชาวบ้านได้เสนอร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน โดยการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเสนอต่อรัฐสภา ตามมาตรา 170 แห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายก็ยังไม่ถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมายจนรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ผลักดันให้เข้าในสภาและมีเนื้อหาที่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคประชาชน
เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กล่าวถึงกรณีที่จะมีการผลักดันพ.ร.บป่าชุมชนฉบับนี้ว่ามีเนื้อหาที่ล้าสมัยมาก ประชาชนนั้นอยากได้อีกแบบหนึ่งเพราะการเขียนพ.ร.บ มีแต่ห้ามไม่ให้สิทธิในการจัดการป่า แต่ความคิดเห็นของประชาชนนั้นเห็นว่าในการจัดการดูแลป่านั้นควรจะให้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม่ต้องแบ่งว่าอันนี้เป็นป่าสงวน หรือป่าอนุรักษ์ป่าทุกป่าก็คือป่าเหมือนกัน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ การจัดการป่าตามพ.ร.บฉบับนี้ห้ามใช้ไม้ที่อยู่ในป่า ถ้าจะใช้ต้องปลูกเองถือว่าไม่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ยัง ไม่ได้เขียนเรื่องหมวดกองทุนไว้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเหมือนชาวบ้านมีหน้าที่แต่ไม่มีสิทธิในการใช้เงิน
เดโช ขยายความว่าในจังหวัดเชียงใหม่มีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ จำนวน 1,200 หมู่บ้านจากทั้งหมด 2,200 หมู่บ้าน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้นจะอาศัยอยู่ในป่าก่อนกฎหมายจะออก โดยสามารถดูได้จากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งทางรัฐเองก็รู้อยู่แล้วรัฐควรจะคืนสิทธิให้ชาวบ้านไม่ใช่ออกกฎหมายซ้ำเติมชาวบ้านอีก
“พ.ร.บป่าชุมชนคือเครื่องมือในการรองรับสิทธิในการที่จะมาพัฒนาระบบการจัดการร่วมระหวางรัฐกับชุมชน หมายความว่าชาวบ้านดูแลฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ รัฐดูแลฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ต้องจับมือร่วมกันตามเจตนารมณ์ทีเขียนไว้ในพ.ร.บป่าชุมชน”
เดโช กล่าวว่า หลักการของการผลักดันพ.ร.บ ป่าชุมชนภาคประชาชนนั้นเป็นเพราะไม่สามารถดูแลจัดการป่าเพียงลำพัง ขณะเดียวกันพบว่าหลายหมู่บ้านจัดการกันเองไม่ไหว หมายความว่าระเบียบกติกาของชาวบ้านที่เป็นกฎป่าชุมชนมันก็ไม่ไหว เพราะว่าเขาไม่มีอำนาจความชอบธรรมทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น กรณีมีชาวบ้านนอกพื้นที่มาเก็บของป่าแบบเกินเลย ผู้ใหญ่บ้านก็จับกุมมาเรียกเก็บค่าปรับ แต่ปรากฏว่าคนที่เสียค่าปรับกลับไปแจ้งความกับตำรวจว่าผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจอะไรมาจับนั้นก็แสดงว่ากฎของชุมชนต้องการคุมครองสิทธิด้วย
“ขณะที่ประสิทธิภาพโดยรัฐที่ดูแลป่าก็น้อยลง เพราะในเรื่องของงบประมาณไม่ทั่วถึงที่จะทำให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพ ทางรัฐไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านที่จะปลูกป่ามีแต่ข้อห้ามต่างๆ ชาวบ้านเลยคิดว่าไม่ปลูกต้นไม้ดีกว่าเพราะปลูกแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรให้กับชาวบ้านเลย ชาวบ้านเลยหันมาตัดไม้เพื่อทำทางเกษตรแทนเลยทำให้พื้นที่ป่าไม้”
“ป่าชุมชนนั้นเพิ่มประสิทธิภาพให้ชุมชนในการดูแลรักษาและรักษาประโยชน์ให้ชาวบ้านและสังคม ถ้าใช้พ.ร.บ ป่าชุมชนเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้คนปลูกป่าแล้วก็ใช้ประโยชน์จากการปลูกป่ามันจะเกิดประโยชน์มหาศาล”
สำหรับข้อเสนอนั้น ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กล่าวว่า เดิมภาคประชาชนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย แต่ไปได้ไม่ไกล การที่ให้คนที่มีความคิดด้านเดียวมาเขียนตัวกฎหมายทำให้ออกมาไม่มีประสิทธิภาพไม่รอบด้าน องค์ประกอบของคณะที่มาพิจารณาตัวกฎหมายนั้นต้องเปลี่ยนเอาคนที่มีความชำนาญความสามารถในแต่ละด้านและมีความคิดเห็นที่แตกต่างเอามารวมเป็นคณะกรรมการออกกฎหมายเพื่อจะได้ออกกฎหมายที่มีสาระความสำคัญที่จะได้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม
โดยหลักการต้องมองบริบทของการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกด้วยเพราะพัฒนาการเรื่องป่าชุมชนเป็นพัฒนาการที่มีการเคลื่อนไหวระดับโลกทุกประเทศก้าวหน้าหมดยกเว้นประเทศไทย ในการพัฒนาของหลายๆ ประเทศในแง่ของหลักการมีส่วนร่วมและหลักสิทธิชุมชนที่จะไปส่งเสริมทำให้เป็นเครื่องมือในการจัดการ
“การออกกฏหมายของรัฐต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นหลักไม่ใช่ฟังเสียงของราชการข้างเดียว ตอนนี้ภาคประชาชนได้ยกร่างฉบับประชาชนมาแล้วหนึ่งร่าง เพราะร่างเดิมนั้นมันล้าสมัยมากแล้วคนมีการจัดเวทีรับฟังความความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนรับรู้ด้วยว่าดีพอหรือไม่”
***ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงานประชาธรรมของ วัลวิทย์ สมยศ นักศึกษาฝึกงานจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม วันที่ 12 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.