"นักวิชาการส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักชนบท เป็นลูกคนเมือง จบเมืองไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีความรู้สึกเป็นเทวดาลงไปหาชาวนา แทนที่จะเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กลับกลายเป็นสร้างโทษ เพราะไม่รู้จริง ฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญ หากนักวิชาการจะลงพื้นที่ไปหาชาวนาต้องรู้จักชนบทอย่างแท้จริง ไปอย่างผู้นอบน้อม"
วันที่ 3 มิถุนายน 2558 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีเสวนา ‘TSDF SUSTAINABILITY FORUM 1/2015 เรื่อง ชนบทไทย:พื้นที่วิจัยสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนามี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นักวิชาการกับการพัฒนาชนบท ใจความตอนหนึ่งระบุถึงกรอบคิดจากวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยเป็นพระราชกระแสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้ ความสามารถ และทรงยึดมั่นในหน้าที่ ในฐานะพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยโบราณ ใครเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระเจ้าอยู่หัวต้องดูแลราษฎร อีกประการหนึ่ง คือ ท่านเป็นพลเมืองดีของชาติการเป็นพลเมืองดีคือเห็นอะไรที่เราจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ
ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวถึง ‘พลเมืองดี’ ต้องขีดเส้นใต้ เพราะมีพลังมาก และทุกสถาบันการศึกษา ทุกองค์กร ก็ล้วนมี 2 หน้าที่เช่นกัน คือ หน้าที่หลัก และหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ดังนั้นหากเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวทั้งประเทศ ปัญหาหลัก ๆ จะผ่อนเบาไปมาก และประเทศจะก้าวไปได้อย่างมั่นคง
"ที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงทุกหย่อมหญ้า มีความเหลื่อมล้ำรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ศีลธรรม หรือเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันชนบทไทยมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิต ฉะนั้นทำอย่างไรให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่าคนเมือง สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้
เพราะตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ปี 2504 พบความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้น ครัวเรือนในชนบทมีหนี้สิน ขาดอำนาจต่อรอง ชาวนาไม่มีทางสู้ จึงต้องทำให้พวกเขาเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ถามว่ามีคนเคยทำหรือไม่"
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวถึงบัณฑิตไทยไม่กลับไปทำนา ชาวนาไทยจึงไม่มีความรู้และชราลงเรื่อย ๆ เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ด้วยเป็นความคิดฝังหัวของพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเรียนจบกลับมาทำนา นี่คือความคุ้นชินกับความบกพร่องที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ไทยผลิตบัณฑิตเพื่อทำงานในองค์กรข้ามชาติ
นอกจากนี้นักวิชาการยังรับใช้คนรวยมากกว่าคนจนสูงถึงร้อยละ 90 งานวิจัยส่วนใหญ่รับใช้คนรวย เพราะมีเงินมาทำวิจัย ส่วนการบริการวิชาการสำหรับชาวนาก็ไม่มี การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ไม่มี เพราะนักวิชาการมุ่งทำเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น ด้วยสาเหตุข้างต้น ทำให้คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาจึงอยากเห็นไทยอีก 50 ข้างหน้า มีนักวิชาการลงพื้นที่ช่วยให้คนชนบทหายจน
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม ระบุด้วยว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักชนบท เป็นลูกคนเมือง จบเมืองไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีความรู้สึกเป็นเทวดาลงไปหาชาวนา แทนที่จะเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กลับกลายเป็นสร้างโทษ เพราะไม่รู้จริง ฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญ หากนักวิชาการจะลงพื้นที่ไปหาชาวนาต้องรู้จักชนบทอย่างแท้จริง ไปอย่างผู้นอบน้อม ไม่ใช่ไปอย่างเทวดาจะลงดินไปช่วย และให้ชาวนาชาวไร่เป็นเจ้าของโครงการ เรามีหน้าที่นำหลักวิชาการไปหนุนเสริม โดยผสมผสานระหว่างศาสตร์สากล ศาสตร์ชาวบ้าน และศาสตร์พระราชา
ก่อนทิ้งท้ายว่า ไม่ขอให้นักวิชาการทำอะไรเกินเลยพันธกิจปกติ เราต้องช่วยกัน อย่างน้อยที่สุดในฐานะพลเมืองดีของชาติ .
ภาพประกอบหลัก:www.dcconsultants.co.th
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 3 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.