โดย ทวี มีเงิน
ทําไปทำมานโยบาย "ทวงคืนผืนป่า คืนความสุข" ให้คนไทยของรัฐบาล "บิ๊กตู่"ทำท่าจะเป็นดาบสองคม เพราะภาพที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ น่าจะเป็น "การคืนความทุกข์" ชาวบ้านที่ปลูกยางพารามากกว่า
ตั้งแต่กรณีชาวบ้านอำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก หลายร้อยคนปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้นับ 100 นาย ที่ยกพลมาบุกโค่นทำลายสวนยาง เกือบๆ 300 ไร่เพื่อทำเวทีเปิดงาน ดีเดย์ทวงคืนผืนป่าคืนความสุขให้ชาวบ้านในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ชาวบ้านต่างน้ำตาซึม เพราะเตรียมจะกรีดยางหารายได้แต่ต้องถูกโค่นทิ้งต่อหน้าต่อตา
ในห้วงเวลาเดียวกัน "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แฉตัวอย่าง ที่ดินสาธารณะ 10 แห่งที่ถูกบรรดา "เจ้าสัวฮุบเกาะ" เอามาเป็นสมบัติส่วนตัว คงต้องตั้งคำถามกับกรมป่าไม้ ทำไมจึงไม่เห็นภาพเจ้าหน้าป่าไม้ไปรื้อสนามกอล์ฟ รีสอร์ต โรงแรมหรูที่โดนบรรดานายทุน ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ บุกรุกบ้าง
ต้องถามว่ากรณีนายทุนเจ้าของโรงแรมหรูและรีสอร์ตชื่อดังรุกป่าเขาใหญ่ และเขาสอยดาว ตอนนี้เรื่องไปถึงไหน หรือจัดการปลาซิว ปลาสร้อยง่ายกว่าปลาใหญ่
ถามว่าชาวบ้านผิดไหมที่บุกรุกป่า ก็ต้องบอกว่าผิด ซึ่งก็ต้องว่าตามผิด แต่การแก้ปัญหาก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องเข้าไปโค่น ไปตัดทิ้ง หรือทำลาย ไม่ว่าต้นยางนั้นจะเป็นของชาวบ้าน หรือนายทุน เพราะไม่เกิดประโยชน์ มีแต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
หรือโค่นเพื่อให้ยางราคาสูงขึ้น ยิ่งได้ไม่คุ้มเสีย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ชาวสวนยางบุกรุกป่า เพราะรัฐบาลในยุคนั้นส่งเสริมแบบไม่บันยะบันยังเพราะราคาตลาดโลกเป็นแรงจูงใจ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาด้วยความชอบธรรมแล้วชาวบ้านปลูกยางพาราก็ได้ป่าขึ้นมาเหมือนกัน เพียงแต่เป็นป่าเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง
การแก้ปัญหา แทนที่จะไล่ตัดไล่โค่นเพื่อปลูกป่าขึ้นมาใหม่ สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ ก็น่าจะยึดมาแล้วปล่อยให้เช่าเอาเงินเข้ารัฐ ส่วนชาวบ้านได้ทำมาหากินต่อไป การบุกทำลายป่า (สวนยาง) แล้วปลูกป่าขึ้นมาใหม่ เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 2 เด้ง
หรือว่างบประมาณปลูกป่ามันมหาศาล จนต้องหาทางปลูกใหม่
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 4 มิ.ย. 2558