โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์, ปริญญา ชูเลขา
“ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ผมก็หนักใจ เพราะกระทรวงเกษตรฯ เปลี่ยนไปอย่างมาก” ความรู้สึกของ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่หวนมานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในยามประเทศคับขัน
“ช่วงที่ออกไปเศรษฐกิจประเทศกำลังขาขึ้น ทุกอย่างไม่ยากเท่าไร แต่วันนี้เหมือนฝีแตก ใครจะนึกว่าวันนี้เราเจอปัญหาไอยูยู ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สต๊อกข้าว 18 ล้านตัน ยางเต็มสต๊อก แถมราคาตกตํ่า หรือคนแก่อยู่ในภาคเกษตรเยอะมากมาย หรือมีการโกงที่ดินกันมากขนาดนี้
นี่คือสภาพปัญหาที่ปีติพงศ์ต้องมาแบกรับ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าทันทีที่เข้ามาจะต้องโดนด่าตั้งแต่วันแรก “กลับมาก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เพราะปัญหาเยอะมาก ใครอยู่กระทรวงนี้โดนด่าทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เอาสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาและแก้ไข
“ถ้าไม่เอามาพิจารณา แสดงว่าเราไม่มีกระจกส่อง ส่วนกระจกจะเบี้ยวหรือไม่อย่างไรก็ว่ากันไป แต่ถามว่าถ้า คสช.ให้ออกก็พร้อมออก เพราะเราทำดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ ตลอดเวลาตั้งแต่รับราชการตั้งแต่เด็กพยายามทำดีที่สุด ไม่เคยสักวันที่ไม่นึกถึงงานราชการ แต่ไม่ได้ประสาทกินกับเรื่องบางเรื่องมากเกินไป เพราะถ้าคิดมากก็ไปเล่นดนตรีดีกว่า"
“ผมไม่ใช่พวกใคร ผมเป็นพวกเกษตรกร ผมไม่พยายามใส่งอบ ใส่เสื้อม่อฮ่อม เพราะผมไม่ใช่เขา แต่พระเจ้าให้ผมมาอยู่ตรงนี้” ปีติพงศ์ ระบุ
แม้ความเป็นลูกหม้อกระทรวงเกษตรฯ จะทำให้ปีติพงศ์รู้เรื่องภาคเกษตรดี แต่ใช่ว่าจะง่าย “ผมเหนื่อยมากที่เป็นรัฐมนตรี คิดเยอะเหมือนกันตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชวนมาอยู่เพราะเดิมก็มีงานเยอะอยู่แล้ว ผมมีงานบริษัท มีงานราชการยังต้องทำ อยู่สบายๆ อยู่แล้ว และที่สำคัญก็ไม่มีใครที่อยากจะมาทำเรื่องเกษตรหรอก เพราะลำบาก และถูกด่าทุกวัน”
ปีติพงศ์ ขมวดปมปัญหาในกระทรวงเกษตรฯ ว่าอยู่ที่หลักคิดของคนที่เกิดขึ้นทุกระดับ ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา หน่วยราชการโดนการเมืองข่มขืน จึงทำให้ข้าราชการคิดอะไรต่อไม่เป็น คือการทำทุกอย่างจากคำสั่งนักการเมือง
ขณะที่ภาคการวิจัยและพัฒนามีน้อยมาก เมื่อก่อนกรมประมงมีผลงานวิจัยเยอะมาก กรมวิชาการเกษตรมีการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ออกมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีดอกเตอร์มากที่สุด ขณะที่ศักยภาพตัวข้าราชการกลับอ่อนแอ เช่น ภาษาอังกฤษน่าเป็นห่วงที่สุด และความสามารถด้านไอทีในการใช้บริหารราชการอ่อนมากๆ
“ความอ่อนแอในกระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไร สังคมต้องคิดเอาเอง ตอนที่ผมออกไป ผมทิ้งทุกอย่างเลยนะไม่คิดจะกลับมาเหยียบที่นี่อีก แม้มีคนเชิญมาให้เป็นโน่นเป็นนี่ก็ไม่เอา ไม่เคยยุ่ง ไม่เคยฝากคนเข้าทำงานเสียด้วยซํ้า ไม่เคยถามถึง หรือแม้แต่ให้เป็นกรรมการนโยบายก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร
“วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเก่าๆ ทำไม่ได้อีกแล้ว เช่น การส่งเสริมหรือการขายของในโลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการงานเกษตรมากยิ่งขึ้น หรือไบโอเทคโนโลยีก้าวไปไกลมาก หรือกิจการต่างประเทศด้านเกษตรก็มีเรื่องให้ยุ่งเต็มไปหมด เช่น ไอยูยู เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ
“หรือการบริหารจัดการงบประมาณกลายเป็นสิ่งที่เป็นสูตรสำเร็จมาตั้งแต่ระดับชั้นกรรมาธิการว่างบฯ ส่วนนี้อะไรควรไปอยู่ที่ไหน พูดแบบนี้คงเข้าใจ อย่างที่เห็นอยู่ แต่ก็ไม่ได้หนักใจอะไร เพราะต้องทำงานกันไป ผมอายุมากแล้วออกไปอีกทีก็ไปเตรียมตัวตาย หรือเรียกว่า มรณสติ ผมแก่แล้ว ผมรู้ตัวตลอดเวลา
“สิ่งที่เป็นปัญหาในขณะนี้ มีการผูกขาดบางอย่าง โดยเฉพาะการผูกขาดด้านราคา ถือว่าไม่เป็นธรรมระหว่างราคาที่เกษตรกรขายได้กับราคาที่แท้จริง เพราะว่าการแข่งขันไม่สมบูรณ์ แม้ในความเป็นจริงสมบูรณ์ไม่ได้ แต่น่าจะดีกว่านี้ อาทิ ตลาดยางถ้ารัฐบาลไม่แทรกแซงด้วยโครงการมูลภัณฑ์กันชนราคาจะตกตํ่าลงไปเรื่อยๆ
“คิดดูอุตสาหกรรมรถยนต์ยังขายได้ สต๊อกยางในต่างประเทศลดลง แต่เพิ่งมาเพิ่มขึ้นไม่นานมานี้ หรือต้นทุนการผลิตปุ๋ยยังสูงอยู่แม้ราคานํ้ามันด้านการขนส่งลดลงกว่าครึ่ง แต่ราคาปุ๋ยกลับไม่ลดลงเลย เกิดอะไรขึ้นและบางรายการกลับเพิ่มขึ้นด้วยซํ้า
“นี่คือความบิดเบือนของกลไกตลาด ส่วนปัญหาเกษตรพันธสัญญาคนทำสัญญาจะเป็นผู้ทราบดีว่าตัวเองเสียเปรียบหรือไม่เสียเปรียบ จะให้ภาครัฐไปคอยปกป้องก็ปกป้องได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้จะว่าบริษัทใหญ่ แต่ระบบไม่เป็นธรรมจริงๆ ถ้าแข่งขันกันเป็นธรรม หรือความแตกต่างด้านราคาที่ฟาร์มและปลายทางเป็นธรรม หรือราคาปัจจัยการผลิตมีเหตุผลตามสภาวะเศรษฐกิจ
“ขณะนี้หาคำตอบไม่ได้ เพราะว่ามีใครสักคนที่จัดการสิ่งเหล่านี้ คือเราไม่ได้หวังโลกใบนี้จะสมบูรณ์ไปทุกอย่าง แต่คิดว่าต้องดีกว่านี้ ถ้าผู้ผลิตใช้เวลา 3 ชั่วโมงเพื่อให้เงินหรือรายได้เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้น 50% รับรองไม่มีเกษตรกรคนไหนผลิต
“ดังนั้น วันนี้ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างใหญ่ เพราะเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพและฝีมือในการผลิต ที่สำคัญวิทยาการภาคเกษตรไทยเข้มแข็งมาก แต่ตอนนี้เราจะทำอย่างไรให้วิทยาการด้านการเกษตรก้าวหน้า เป็นครัวของโลกได้จริง นี่คือความคาดหวังสูงสุด” รมว.เกษตรฯ ระบุ
ปีติพงศ์ ยอมรับว่า ภาคเกษตรไทยระบบทุนเป็นใหญ่ ดังนั้นการค้าของไทยจะเป็นระบบกึ่งๆ รายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้นปัจจัยการผลิตควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควรจะทำคือ จะทำอย่างไรให้มีการป้องกันตัวของปัจจัยการผลิตให้มากยิ่งขึ้น เช่น ปุ๋ย ภาครัฐสนับสนุนให้มีการทำปุ๋ยทางเลือก ผสมปุ๋ยกันเองภายในชุมชนให้มากขึ้น การทำปุ๋ยชีวภาพ หรือใช้ปุ๋ยหมักทดแทนให้มากยิ่งขึ้น แม้จะทราบดีว่าอาจจะทดแทนได้ไม่ทั้งหมด หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลงก็พยายามเสนอแนวทางอื่นๆ ให้เป็นทางเลือกในการลดต้นทุนการผลิต
นี่คือแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตที่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำอยู่ ดังนั้นแนวทางการต่อสู้กับทุนใหญ่ท่ามกลางระบบกลไกราคา หรือกลไกตลาดที่ถูกบิดเบือน กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการ คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น โดยจะมีโปรแกรมใหญ่ที่จะฟื้นฟูธุรกิจสหกรณ์การเกษตรให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง จะผลักดันให้มีการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น
“เช่น การปลูกข้าวในรอบ 4-5 ปี ที่ผ่านมาระบบสหกรณ์ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการซื้อขายข้าวเลย ทำให้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีและความสามารถของสหกรณ์ลดลงอย่างมาก แม้แต่ปาล์มนํ้ามันไม่มีใครรวมกลุ่มต่อสู้กับรายใหญ่ ดังนั้นสหกรณ์จึงกลายเป็นความหวังหนึ่งที่จะให้เกษตรกรไต่ระดับห่วงโซ่การผลิตไปอีกระดับหนึ่งในช่วงระยะเวลานี้”
ความคาดหวังในฐานะครํ่าหวอดอยู่ในแวดวงการเกษตรของประเทศ ปีติพงศ์ เสนอว่า จะต้องเพิ่มขีดความสามารถการผลิตของเกษตรกร ด้วยการฟื้นฟูระบบสหกรณ์การผลิตกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือยกระดับขีดความสามารถตัวเกษตรกรให้สามารถต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร เพราะวันนี้ปัญหาความแตกต่างด้านราคาซื้อขายหน้าฟาร์มที่ถูกบริษัทใหญ่กดทับเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่
“ในยุคเทคโนโลยีและทุนนิยมเป็นใหญ่การทำเกษตรกรรมปัจจุบัน เกษตรกรรายย่อยนับวันยิ่งอ่อนแอ หากไม่เท่าทันสถานการณ์ก็ไม่รอด ทางรอดเกษตรกรมี 4 อย่าง 1.ผลิตของดี ควบคุมคุณภาพ 2.ผลิตสินค้าที่แตกต่าง 3.ไต่ระดับกระบวนการผลิต หรือการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และ 4.การลงทุนร่วมทุน หรือซีเอสอาร์ และพัฒนาตลาดของตัวเอง
“นี่คือทางเลือกที่ชาวบ้านมี ทางภาครัฐจะทำได้ คือเทคโนโลยีและทุน ช่องทางการตลาด การใช้ดิจิทัลอีโคโนมี ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และนํ้า นี่คือความอยู่รอดและหน้าที่รัฐจะต้องทำ”
ปีติพงศ์ ยํ้าว่า ภาคเกษตรกรของไทย คือภาคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด นอกจากส่วนใหญ่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว ยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกตํ่า แม้จะเป็นไปตามระบบกลไกตลาด แต่ไม่ค่อยมีใครคิดเรื่องภูมิคุ้มกันด้านราคา
“เวลามีปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรตกตํ่าครั้งหนึ่งก็แก้กันไปแบบเรื่อยๆ ดังนั้น หลักการพื้นฐานที่กำลังคิด คือจะทำอย่างไรเพื่อดำรงความสามารถของเกษตรกร เพราะมั่นใจว่าความสามารถด้านภาคเกษตรไทยดีมาก ประกอบกับโครงสร้างด้านการค้าไทยเอื้ออำนวยให้บริษัทที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้
“การลงทุนของต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า และยังมองไม่เห็นว่าประเทศใดในภูมิภาคนี้จะแข่งขันกับไทยได้ในระยะเวลาสั้นๆ ตอนนี้ผมเห็นว่าภาคเกษตรไทยเข้มแข็ง ข้าวไทยยังเป็นแชมป์ สินค้าส่งออกหลายตัวยังคงเป็นแชมป์ไม่ว่าสินค้าเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นภาคเกษตรโดยตัวของมันเองในปัจจุบันไม่น่าจะเป็นปัญหา และในอนาคตภาคเกษตรยังคงปรับตัวได้ดีทั้งในแง่การส่งออก หรือความมั่นคงทางอาหาร”
หากกล่าวอย่างรวบรัด ปีติพงศ์ สรุปว่า ปัญหาหลักคือภาคเกษตรกร 1.เกษตรกรไทยมีแต่ผู้สูงอายุ 2.การสูญเสียที่ดินทำกิน 3.ความแตกต่างด้านราคาหน้าฟาร์มกับดัชนีราคาของผู้บริโภคที่ราคาสินค้าเกษตรหน้าฟาร์มตํ่ากว่าราคาขายที่ปลายทางมาก
ส่งเสริมการผลิตผืนใหญ่
ภาคเกษตรยังต้องส่งเสริมและสนับสนุนอีกหลายด้าน ขณะนี้ปีติพงศ์ระบุว่ากำลังประสานสถาบันการศึกษาเพื่อฟื้นฟู “วิทยาลัยเกษตรกรรม” ที่หายไปให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง โดยหวังจุดประกายความคิดให้คนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถหันมาทำการเกษตร
“เราตั้งความหวังจะนำคนเหล่านี้กลับมาเป็นผู้จัดการในภาคเกษตร จะเป็นแนวทางทำให้ภาคเกษตรได้รับการพัฒนามากขึ้น” ปีติพงศ์ ระบุถึงนโยบายที่กำลังผลักดัน
สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนั่นคือการผลักดันระดับนโยบายด้วยการส่งเสริมการผลิตในปีเพาะปลูกใหม่ที่จะไม่ใช้ระบบเดิมอีกต่อไป แต่จะใช้ระบบควบคุมพื้นที่เป็นผืนใหญ่ หรือโซนนิ่ง อาทิ ลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ต้องปลูกข้าวแบ่งพื้นที่เป็นโซนนิ่ง โดยมีผู้จัดการโครงการรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ โดยจะเข้าไปดูทั้งการผลิตและการจำหน่าย
“จะมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร จะขายอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีอย่างไร และการใช้นํ้าอย่างไร ซึ่งโมเดลนี้เคยทำเมื่อ 30 ปีก่อน เช่น โครงการลุ่มนํ้าเจ้าพระยา โครงการนํ้าอูน เป็นต้น วันนี้ถ้าเราสามารถแบ่งเป็นโซนนิ่งได้ เช่น ลุ่มเจ้าพระยาเป็นข้าวขาว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นข้าวเหนียว ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นข้าวหอมมะลิ ภาคเหนือเป็นข้าวไร่ ข้าวญี่ปุ่น หรือภาคใต้มีข้าวสังข์หยด เป็นจุดขาย เราจะชูจุดเด่นสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกันจะขึ้นบัญชีรายชื่อเกษตรกร นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะทำและจะได้เห็นในฤดูการเพาะปลูกปีนี้แน่นอน” รมว.เกษตรฯ ระบุ
อีกบทบาทจะเร่งดำเนินการบริหารจัดการทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ในภาคการผลิต กล่าวคือ การบริหารจัดการนํ้าทั้งในและนอกระบบชลประทานให้ทุกเรือกสวนไร่นาได้มีนํ้าใช้ ด้วยการพัฒนาศักยภาพในการส่งนํ้า ระบบสูบนํ้าต้องดีขึ้น และมีอ่างเก็บนํ้าที่เป็นภารกิจถ่ายโอนให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 6,000 กว่าแห่ง ระบบที่ว่าคือจะเอานํ้าไปเข้าในแปลงนา นี่คือแนวทางการบริหารด้านอุปทาน
ด้านอุปสงค์ คือการจัดการระบบปลูกพืช เช่น ลุ่มนํ้าเจ้าพระยากลับมีการปลูกข้าวสามรอบครึ่ง ซึ่งมีการใช้นํ้าเยอะมาก ดังนั้นจึงมีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้ให้มีการใช้นํ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และผลผลิตจะต้องสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาที่ทำกิน มี 2 ประเด็น คือ ที่ดินทำกินกับดิน ที่ดินทำกินเป็นปัญหาเจ็ดชั่วโคตร โดยรัฐมนตรีเกษตรฯ ยอมรับว่ายังนึกไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร แต่ที่แก้ได้และกำลังทำอยู่ คือ 1.เร่งออกผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อกันพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรไว้ 2.มีคำสั่งให้เข้มงวดการเช่าที่นา และ 3.พยายามเข้มงวดการออก ส.ป.ก. พร้อมกับการจัดการระบบข้อมูลว่าใครมีที่ดินเท่าไร
“ปัญหาการสูญเสียที่ดินเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจจริงๆ เป็นเหมือนวัวพันหลัก ถ้าเกษตรกรเกิดเจ๊งขึ้นหนึ่งรอบการผลิต กว่าจะใช้หนี้ได้ต้องมีปีที่ทำการเกษตรดีถึง 3 ปีจึงจะใช้หนี้หมด ถ้าปลูกข้าวต้องราคาดีถึง 3 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้นขายที่นาดีกว่า ดังนั้นเราต้องทำเรื่อง อื่นๆ ด้วยที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเกษตรกรโดยตรง เช่น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือการบริหารจัดการที่ดิน เป็นต้น”
ขยายความถึงการผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยสามารถต่อกรกับบริษัทใหญ่ ปีติพงศ์ อธิบายว่า ต้องสร้างพื้นที่การลงทุนร่วมระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกร โดยอิงกับดิจิทัลอีโคโนมี หมู่บ้านไหนหรือชุมชนไหนต้องการร่วมมือกับภาคเอกชน ภาครัฐจะเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกให้ร่วมทุนกันในรูปแบบซีเอสอาร์ โดยภาครัฐถือกติกาไม่ให้มีสัญญาเอารัดเอาเปรียบระหว่างกัน
ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการทางภาษี สนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับการลงทุนซีเอสอาร์ ซึ่งหากดำเนินการได้จะเป็นนวัตกรรมการลงทุนอีกแบบหนึ่งในอนาคต
“การร่วมทุนที่ว่าจะแตกต่างกับเกษตรพันธสัญญาหรือตกเขียว คือ การแชร์ร่วมทุนในรูปแบบซีเอสอาร์ โดยภาครัฐจะเป็นผู้ประเมินทุนเกษตรกรด้านที่ดิน และสัดส่วนแรงงานเป็นเท่าไรของการลงทุนทั้งหมด แต่ถ้าตกเขียวคือทำสัญญาบริษัทจ่ายเงินต้นทุนทั้งหมด เกษตรกรออกแรง บริษัทนำไปขายมาได้เท่าไรจะแบ่งให้”
นโยบายอีกเรื่องคือตลาดชุมชน หรือตลาดเกษตรกร แนวคิดนี้ดีแต่ทำยาก ต้องอาศัยความต่อเนื่องของนโยบายที่ให้เกษตรกรนำของดีมาขายในตลาดชุมชน
ดันแบรนด์ไทยสู่ครัวโลก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการเข้าร่วมงาน Expo Milano 2015, Italy หรืองาน World Expo ที่แต่ละประเทศเข้าร่วมแสดงนิทรรศการตามหัวข้อที่กำหนดขึ้นในแต่ละครั้ง มหกรรมดังกล่าวเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และศักยภาพด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค. 2558 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี
ในปีนี้อาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ร่วมแสดงให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงขีดความสามารถและความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ในฐานะ “ครัวของโลก” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยในทุกกระบวนการ มีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีอาหารแปรรูปที่ได้มาตรฐานและทั่วโลกให้การยอมรับ
ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แม้จะทราบดีว่าอิตาลีจะมีความเป็นชาตินิยม เป็นเรื่องยากที่อาหารไทย หรืออาหารจากประเทศอื่นๆ จะได้รับการยอมรับ แต่อาคารแสดงประเทศไทยก็ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก มีผู้เข้าชมงานประมาณวันละ 1.6 หมื่นคน
เป้าหมายความสำเร็จในงานครั้งนี้ก็เพื่อส่งสัญญาณให้ลูกค้าทั่วโลกรับทราบว่าสินค้าไทย หรืออาหารไทยมีการผลิตมาจากชาวไร่ชาวนาที่มีคุณภาพ ทำให้ต่างชาติรู้สึกว่าแหล่งที่มาของสินค้าก่อนจะนำมาประกอบเป็นอาหารดังๆ เช่น ข้าวผัด ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง ส้มตำ ล้วนมีที่มาที่น่าสนใจ
“สิ่งที่เราจะเน้นคือ การนำศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกับการนำเสนอวิธีทำอาหาร ต้องให้เป็นศิลปะ ในขณะที่ในตัวของอาหารไทยเป็นศิลปะอยู่แล้ว แต่เราจะปรับแต่งให้ดูสวยงามอย่างไรให้มากขึ้น เช่น ฉลุลายต่างๆ แบบไทยๆ ในผลไม้ เพื่อให้ต่างชาติรู้จักอาหารไทย” ปีติพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี อาคารแสดงประเทศไทย ซึ่ง รมว.เกษตรฯ จะเดินทางไปร่วมชมงานในครั้งนี้มีพื้นที่จัดแสดงถึงเกือบ 3,000 ตารางเมตร เป็น 1 ใน 12 ประเทศที่มี Pavilion ขนาดใหญ่ที่สุดในงาน Expo Milano 2015 โดยทางกระทรวงเกษตรฯ ได้คัดเลือกหัวข้อหลักในการเข้าร่วมงานครั้งนี้คือ “การหล่อเลี้ยงโลกอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงถึงศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
งานสถาปัตยกรรมการออกแบบอาคารแสดง จึงต้องการสะท้อนสัญลักษณ์ “ความเป็นไทย” ภายใต้แนวคิด “Nourishing and Delighting the World” หรือ “การหล่อเลี้ยงโลกอย่างยั่งยืน” อันประกอบด้วย 1.“งอบ” อัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทยที่จะนำมาเป็นสัญลักษณ์แทนผู้ผลิตอาหาร ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานอาคารแสดงประเทศไทยจะมองเห็นงอบตระหง่านโดดเด่นตั้งแต่ทางเข้า 2.“พญานาค” สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ และตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตร และ 3.“ฐานเจดีย์” สัญลักษณ์แห่งความศรัทธา
การจัดแสดงอาคารประเทศไทย ประกอบด้วย 5 โซน โซนที่ 1 “ทรัพย์ในดินสินในนํ้า จิตวิญญาณความเป็นไทย” (The Land of Plenty, Spirit of Thai) เป็นโซนอยู่บริเวณด้านนอกอาคารที่จัดแสดงการปลูกข้าวพันธุ์ กข.31 รวมถึงการจำลองตลาดนํ้าวิถีชีวิตความเป็นไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โซนที่ 2 “สุวรรณภูมิ” (Golden Land) เป็นโซนที่ใช้เทคนิคฮอโลแกรม 3 มิติ ผสมผสานการฉายภาพรอบทิศทาง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย วิถีการเกษตรที่หลากหลาย ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โซนที่ 3 “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen to the World) เป็นโซนที่นำเสนอเนื้อหาภาพสายพานการผลิตที่ทันสมัยของไทย มีเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารและบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบของไทยให้นานาชาติรับรู้ โซนที่ 4 กษัตริย์แห่งเกษตร (King of Agriculture) เป็นห้องฉายภาพยนตร์ที่ผสมผสานเทคนิคพิเศษของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โซนที่ 5 “อาหารแห่งอนาคต” (Food for the Future) เป็นโซนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนานาชนิด อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง รวมทั้งข้าวพร้อมกับข้าวประเภทต่างๆ ขนมหวานไทย ผลไม้ อบแห้ง ซึ่งเป็นการโชว์อาหารในนาม “ไทยแลนด์แบรนด์” ว่าเป็นสินค้ามีคุณภาพ หลากหลาย และมีศักยภาพในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกได้
ปีติพงศ์ อธิบายว่า การก้าวขึ้นเป็นครัวโลก หรือทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารไทยจะเดินไปใน 2 ทิศทาง นั่นคือ อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารเพื่อความงาม เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ หมายถึงอาหารนั้นต้องปราศจากสารปนเปื้อน สินค้าต้องสามารถระบุที่มาได้อย่างชัดเจน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงต้องให้ความสำคัญ รวมถึงรูปแบบการนำเสนอต้องดีและน่าสนใจ เช่น หีบห่อ เรื่องราวที่มาของสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเร่งผลักดันคือ มาตรฐานคุณภาพสินค้า หรือคิวแบรนด์ โดยเฉพาะอาหารไทยในต่างประเทศต้องมีความเป็นไทยแท้ๆ เพราะจะพบว่ามีหลายชาติไปเปิดร้านอาหารไทยทำให้รสชาติไม่เหมือนอาหารไทย
“อาหารไทยในต่างประเทศ ร้านที่รสชาติดีและเป็นไทยแท้ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านระดับสูง ดังนั้น คิวแบรนด์ หรือแบรนด์ไทย ต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ ต้องสนับสนุนทุกช่องทาง ตั้งแต่ปลายทางตามร้านอาหาร หรือในห้างสรรพสินค้า รวมถึงผลักดันทางโซเชียลมีเดียที่ต้องชูตราไทยแลนด์ให้ทั่วโลกได้รู้จัก”ปีติพงศ์ ยํ้า
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 พ.ค. 2558