มีหลายคำถามที่เป็นผลสืบเนื่องจากการบริหารจัดการที่ดินด้วยแนวทางของเกษตรอินทรีย์ เช่น หลังจากได้ผลผลิตแล้วจะกระจายหรือขายผลผลิตได้อย่างไร ตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตอยู่ที่ไหน ราคาผลผลิตแบบอินทรีย์จะแพงกว่าราคาผลผลิตแบบไม่อินทรีย์จริงเหรอ แล้วถ้าราคาแพงกว่าจะขายได้หรือไม่ ฯ
คำถามเหล่านี้ไม่ใช่สรรสาระแปลกใหม่อะไรสำหรับ "กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต"บ้านยางแดง ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทราเนื่องจากเป็นคำถามที่กลุ่มได้ยินได้ฟังมาแล้วทั้งนั้น ยิ่งเป็นคำถามที่เป็นข้อท้าทายสำหรับกลุ่มอย่างมากว่า "หากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรภายนอกแล้วจะอยู่รอดหรือไม่"เป็นคำถามเดียวกันกับที่ผมได้ถามกลุ่มไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ครับ
เกือบสิบปีเลยทีเดียวที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตได้พยายามที่จะหาคำตอบเพื่อตอบคำถามข้างต้นนั้นให้ได้ ด้วยการลองผิดลองถูกเพื่อหาวิถีทางในการบริหารจัดการแปลงที่ดินด้วยแนวทางของเกษตรอินทรีย์ จนท้ายที่สุดกลุ่มก็พบคำตอบที่ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันว่า"ระบบเกษตรที่จะยั่งยืนได้ต้องมีการวางแผน การส่งเสริม และการบริหารจัดการทั้งระบบกลุ่มและสมาชิกจึงไปไปรอดได้"กล่าวคือ
การวางแผน หมายถึง การวางแผนด้านการผลิตและด้านการตลาดที่ต้องมีความสอดคล้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมสมาชิกกลุ่มเพื่อประเมินผลผลิตที่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในรอบการผลิตนั้นๆ สมาชิกกลุ่มแต่ละครอบครัวจะต้องประเมินผลผลิตตัวเองแล้วแจ้งต่อกลุ่มว่า ในรอบฤดูกาลผลิตนั้นจะปลูกพืชชนิดไหนสำหรับขายให้กลุ่มบ้าง(วิธีการบริหารจัดการผลผลิตของสมาชิก จะดำเนินการโดยเริ่มต้นจากการที่กลุ่มรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก และกลุ่มจะทำหน้าที่ในการกระจายผลผลิตนั้นๆ ออกสู่ตลาดหรือสู่ผู้บริโภคทั่วไป) กลุ่มจะทำการบันทึกข้อมูลเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า กลุ่มจะสามารถบริหารจัดการผลผลิตของสมาชิกได้อย่างลงตัว และเพื่อป้องกันผลผลิตเกินความต้องการของตลาดที่มีอยู่ การวางแผนการทำการผลิตนี้จะทำให้สมาชิกและกลุ่มสามารถมองเห็นภาพรวมของผลผลิตและภาพรวมของตลาดในฤดูกาลผลิตนั้น และสมาชิกจะมีความมั่นใจว่า ผลผลิตที่ผลิตออกมาแล้วจะสามารถกระจายไปสู่ผู้บริโภคได้ทั้งหมด ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กลุ่มได้สร้างหลักประกันให้กับสมาชิกโดยการ ประกันราคารับซื้อผลผลิตจากสมาชิกทุกรายการที่กลุ่มได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกมากกว่า 100 รายการ เช่น ข้าว พืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ (หอม สะระแหน่ ตะไคร้ ข่า ฯ) ผักทั่วไป(ผักกาดขาว กะหล่ำปลีฟักทองฯ) ผักพื้นบ้าน(ผักปลัง ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน ฯ) ผลไม้(กล้วย มะละกอ ฯ) เป็นต้น
การส่งเสริมหมายถึง การส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกกลุ่มทุกครอบครัวทำเกษตรแบบอินทรีย์ 100% โดยจะเน้นการผลิตที่มีความหลากหลาย(ปลูกพืชผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน) เน้นการผลิตเพื่อรักษาพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน การจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านเทคนิคการผลิตให้กับสมาชิกเป็นระยะๆ ตามความจำเป็นด้วยรูปแบบของ "โรงเรียนเกษตรอินทรีย์" การให้สมาชิกได้มีโอกาสเดินทางออกนอกชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับเกษตรกรและกลุ่มคนต่างพื้นที่ เพื่อนำความรู้มาหนุนเสริมและประยุกต์ใช้ในแปลงเกษตรของตนเอง อีกทั้งเพื่อให้สมาชิกทุกครอบครัวสามารถทำการผลิตได้อย่างยั่งยืน
บริหารจัดการทั้งระบบ หมายถึง การบริหารจัดการภารกิจทุกส่วนของกลุ่มฯ ให้ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน โดยกลุ่มได้ให้ความสำคัญกับภารกิจทุกส่วนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ภารกิจทุกส่วนมีจุดเชื่อมและเกื้อหนุนกัน ภารกิจเหล่านั้นเช่น 1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกโดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิก ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกไปขอกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ 2.การติดตามนโยบายรัฐที่เกี่ยวเนื่องหรือส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อย 3.การขยายฐานสมาชิกเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มมากขึ้น 4.งานด้านการกระจายผลผลิตของสมาชิก 5.งานด้านการส่งเสริมองค์ความรู้และเทคนิคด้านเกษตร เป็นต้น
น่าทึ่งนะครับสำหรับรูปแบบการบริหารจัดการผลผลิตตามที่ผมได้ว่ามาผมว่ามันคือการถอดสรุปประสบการณ์จากประวัติศาสตร์เดิมแล้วก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ การลองผิดลองถูกแล้วแก้ไข ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต ทำให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตสามารถอยู่รอดได้จนถึงปัจจุบันแม้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรภายนอก ผมว่ารูปแบบการบริหารจัดการในลักษณะนี้ เป็นชุดประสบการณ์การทำงานให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวครับ ที่นี้ก็เหลือแต่เพียงว่า เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ นั้น พร้อมจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตัวเองแล้วหรือยัง....เท่านั้นครับ
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.