ในอดีตเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวเปรียบเปรยที่ว่า "ปอมาป่าแตก" และ "มันมาป่าหมด" จนถึงยุคปัจจุบันเมื่อสิบปีที่ผ่านมาที่มีคำกล่าวใหม่ว่า "ยางมาป่าหมด" คำกล่าวเหล่านี้สะท้อนภาพทัศนคติและมุมมองต่อปรากฏการณ์การขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของการบุกรุกทำลายป่า
ในรอบเดือนที่ผ่านมาเมื่อเริ่มเกิดกระแสเอาจริงจากฝั่งรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันประกาศเป้าหมายทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยนำร่องจากพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าไม้ทั่วประเทศกว่า 5.5 ล้านไร่ แบ่งออกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 4.4 ล้านไร่ และอุทยานแห่งชาติ 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการกล่าวว่าสามารถทวงคืนได้แล้ว 52,000 ไร่ และตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 2 ปี จะทวงคืนผืนป่าให้ได้ 1.5 ล้านไร่
ผลสำเร็จของการทวงคืนผืนป่าครั้งนี้ แม้จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุน ร้อยละ 68 จากเกษตรกร ร้อยละ 32 รวมถึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะเร่งรัดการดำเนินคดีและทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปฏิบัติการครั้งนี้ กลับไม่มีการแยกแยะปลาออกจากน้ำ ท่ามกลางข้อถกเถียงของสังคมเรื่องสิทธิชุมชนที่ว่าคนรุกป่าหรือป่ารุกคนกันแน่ จากกระบวนการประกาศเขตป่าในอดีตที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการกันเขตชุมชนและที่ดินเกษตรกรออกจากเขตป่าที่ประกาศ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรยากจนและชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยและทำกินไปในคราวเดียวกัน
ในส่วนเป้าหมายการแก้ปัญหาในพื้นที่ของกรมป่าไม้ มีพื้นที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราทั้งหมด 4,441,142 ไร่ โดยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมากที่สุด ในขณะที่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ มีพื้นที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราทั้งหมด 1,068,106 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านหรือเกษตรกรที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ภาคใต้ พื้นที่เหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น พื้นที่ที่จะถูกตัดฟันยางพาราทิ้งทันที 715,066.16 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 3 แสนไร่
แม้ว่าโดยส่วนตัว ผู้เขียนจะสนับสนุนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าของภาครัฐในครั้งนี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจรุกล้ำเขตป่า ซึ่งโดยภาพรวมไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ปลูกยางพาราเท่านั้น ยังมีพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่มีการขยายพื้นที่ในเขตป่า รวม 10 กว่าล้านไร่ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2556) มีการใช้สารเคมีเข้มข้น ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก ซึ่งทำให้เกิดการสะสมไหลลงสู่ต้นน้ำลำธาร จนสร้างความเสียหายต่อสมดุลธรรมชาติและระบบนิเวศ แต่อย่างไรก็ตามการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจในเขตป่ามีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ภาครัฐจึงสมควรพิจารณาถึงสาเหตุและทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเหมาะสม รอบด้าน และมีมนุษยธรรม
การขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจในอดีต ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะแรงจูงใจด้านราคา และนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เป็นตัวเร่งและส่งเสริมให้เกษตรกรบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการบุกเบิกพื้นที่ป่าในอดีตไม่ถือว่าเป็นการบุกรุกป่า เพราะพื้นที่ยังมีอยู่จำนวนมาก และรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจจึงไม่มีการป้องปราม คนที่เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสมัยนั้นจึงถูกเรียกว่าเป็น "ผู้บุกเบิก" ซึ่งตอนหลังได้กลายเป็น "ผู้บุกรุก"
แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ปี 2557 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุถึงสาเหตุสำคัญการลดลงของพื้นที่ป่า อันดับแรก เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งส่งเสริมให้มีการบุกรุกทำลายป่า เช่น การนำพื้นที่ป่ามาปฏิรูปเป็นพื้นที่เกษตร (แทนที่จะมุ่งเน้นการปฏิรูปที่ดินจากต้นตอ คือที่ดินที่อยู่ในมือของกลุ่มทุนและเอกชน) นอกจากนี้รัฐบาลในอดีตยังมีโครงการส่งเสริมการบุกรุกป่าทางอ้อมที่สำคัญ คือโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน การให้สัมปทานบริษัทเอกชนเช่าพื้นที่ป่าปลูกพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพาราในภาคใต้ รวมถึงการให้สัมปทานเหมืองแร่และโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวน เป็นต้น
ข้อกล่าวหาที่ว่า "พืชเศรษฐกิจทำลายป่า" ที่มีจำเลยสุดคลาสสิกคือเกษตรกร จึงขาดมิติที่เชื่อมโยงให้เห็นสาเหตุเบื้องลึก อันเนื่องมาจากภาคนโยบาย รวมไปถึงทัศนคติที่ไม่ยอมรับสิทธิในที่ดินของชุมชนในเขตป่าด้วย ไม่ต่างกันนักกับท่าทีมาตรการทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจครั้งนี้ แม้กล่าวว่ามุ่งเน้นไปที่นายทุนมากกว่าเกษตรกร หากแต่ในข้อเท็จจริงการกำหนดพื้นที่เป้าหมายยังคงเป็นแบบเหมารวม ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงยึดหลักกฎหมายเก่าที่ละเมิดสิทธิชุมชนอยู่เช่นเดิม
หากเป็นเช่นนี้แล้ว เป้าหมายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลในอีก 2 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่การคืนความสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมดังที่กล่าวไว้ แต่จะเป็นการพรากความสงบสุข และเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกรหลายแสนครัวเรือน ที่ต้องถูกตัดฟันยางพาราทิ้ง สูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจากการถูกอพยพและโยกย้ายชุมชนครั้งใหญ่ในอนาคตข้างหน้า
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.