ที่ดินถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญกับการดำรงชีพของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะในสังคมเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม ที่ยังมีคนจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่อย่างประเทศไทย แม้ว่าพัฒนาการของสังคมทั่วไป จะมองว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ดินยังคงมีความสำคัญกับเกษตรกรไทยในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกร รัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทยจึงกำหนดให้มีมาตราว่าด้วยรัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรถือครองอย่างเป็นธรรม
ในความเป็นจริงประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินในสังคมไทย มีอยู่สองเรื่องที่สำคัญที่รัฐบาลพยายามแก้ไข แต่มักไปไม่ถึงไหน เพราะติดกับดักกับผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาจไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน
ประเด็นแรก คือการขาดแคลนที่ทำกินของเกษตรกรไทย อันนำมาซึ่งปัญหาความยากจนซ้ำซาก แม้รัฐบาลจะช่วยเหลือเรื่องรายได้และเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยทำให้ฐานะเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยมั่นคง เพราะฐานปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือที่ดินอันจะนำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร แต่กลับถูกโอนย้ายถ่ายเทไปเป็นของนายทุน
ดังข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ปี 2555) ที่ระบุว่ามีที่ดินของเกษตรกรที่อยู่ในภาวะถูกจำนองถึง 30 ล้านไร่ เมื่อมองในภาพรวมเกษตรกรไทยถึงร้อยละ 72 จึงอยู่ในภาวะขาดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพราะที่ดินที่ทำการเกษตรอยู่ในสถานะติดจำนอง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำการเกษตรแทน ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติให้ภาพรวมว่ามีเกษตรกรถึงร้อยละ 40 อยู่ในภาวะไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอคือถือครองที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ (ปี 2549)
ประเด็นปัญหาที่สอง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับประเด็นแรก คือการที่รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีกับคนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากในสังคมไทยได้ แม้ข้อมูลการถือครองที่ดินของคนในสังคมไทยโดยกรมที่ดิน จะยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ (ยกเว้นผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องเปิดข้อมูลการถือครองที่ดินและทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.) แต่ก็เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่านักการเมืองและนักธุรกิจในสังคมไทยกลุ่มใดบ้าง ที่ครอบครองและสะสมที่ดินทั่วประเทศไว้จำนวนมหาศาล ทั้งเพื่อเก็งกำไรและเพื่อดำเนินธุรกิจ
ดังข้อมูลจาก ป.ป.ช. และรวบรวมโดยกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนที่ระบุว่า ส.ส.จำนวน 530 ราย ในรัฐบาลชุดที่แล้วถือครองที่ดินรวมกันถึง 68,765 ไร่ โดยนักการเมืองที่ถือครองที่ดินมากที่สุดคือ 4,115 ไร่ ในขณะที่งานวิจัยของ ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มีบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในสังคมไทยถึง 631,263 ไร่ แม้จะไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุดของการถือครองที่ดินในสังคมไทย
การที่รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกร ที่ต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตและสร้างรายได้ และไม่สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินกับคนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเพื่อทำธุรกิจและเก็งกำไร ทำให้รัฐบาลไทยทุกยุคสมัยประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่ดินมาโดยตลอด
แม้วรัฐบาลจะพยายามแสดงผลงานว่าได้มีการทำโครงการจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรแล้วในที่ต่างๆ แต่ในภาพรวมเป็นที่รู้กันดีว่า เกษตรกรไทยยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ เพราะปัจจัยพื้นฐานในการทำเกษตร ยังอยู่ในมือนายทุนเป็นหลัก ในขณะที่การผลักดันเพื่อให้มีการเก็บภาษีที่ดินกับนายทุน นักการเมือง และนักธุรกิจ ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นท่ามาแล้วหลายรัฐบาล และยังคงต้องจับตามอง วัดความจริงใจของรัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบก้าวย่างของสังคมไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน กลับพบว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนหลายประเทศ มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินแล้ว อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 0.5 ประเทศฟิลิปปินส์ จัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเมืองและเทศบาลร้อยละ 2 และเก็บร้อยละ 1 สำหรับพื้นที่ชนบท ประเทศสิงคโปร์ จัดเก็บภาษีจากที่ดินว่างเปล่าร้อยละ 5 และจากที่อยู่อาศัยร้อยละ 4 ประเทศเกาหลีใต้ เก็บภาษีจากสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 7 และเก็บภาษีที่ดินร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 2 ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่วนประเทศญี่ปุ่น เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 1.4 ถึงร้อยละ 2.1 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโซนของที่ดินและที่อยู่อาศัยในผังเมือง
เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน รายได้ของรัฐบาลไทยจึงต่ำกว่ารายได้ของรัฐบาลในอาเซียน (การจัดเก็บภาษีของไทยอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ของจีดีพี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการจัดเก็บภาษีของกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24.5 โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียน) ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของคนในสังคมไทย ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง สังคมที่น่าอยู่ และคุณภาพชีวิตของคนในสังคมในอนาคต
ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ไขปัญหาเกษตรกรจำเป็นต้องแก้จากปัญหาพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในระยะยาว ไม่ต่างกันกับการจัดเก็บภาษีที่ดิน ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มต้น เพื่อเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมของสังคมไทย
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.