ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ได้เกิดกระแสข่าวใหญ่ กรณีที่กรมป่าไม้ ทหาร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการถือครองที่ดินของนายทุน เจ้าของรีสอร์ทขนาดใหญ่รายหนึ่งในเขตภาคอีสาน และเร่งรัดการดำเนินคดีเพื่อทวงคืนผืนป่ากับนายทุนใหญ่รายนี้ รวมไปถึงนายทุนรายอื่นๆ ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งมีการฟ้องร้องและดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่คืบหน้าจากอุปสรรคการทำงานของระบบราชการ ขั้นตอนทางกฎหมาย และปัญหาอิทธิพลจากนายทุนที่ถูกดำเนินคดี
สำหรับเบื้องหลังปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าแบบฟ้าผ่าครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังมีการประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ออกคำสั่ง ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ โดยให้อำนาจ "เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร" มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อภารกิจในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณสมบัติของชาติให้เกิดความคืบหน้าและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อทวงคืนผืนป่าและดำเนินคดีอาญากับผู้บุกรุกทรัพยากรธรรมชาติของรัฐแล้ว ยังมีกระแสข่าวว่าหน่วยงานรัฐ คือ กรมป่าไม้ อาจจะนำแนวทางการคำนวณต้นทุนค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือ "ค่าเสียหายทำให้โลกร้อน" ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 97 มาคำนวณความเสียหายเพื่อฟ้องร้องคดีแพ่งกับนายทุนผู้บุกรุกป่าครั้งนี้ด้วย โดยข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยป้องกันรักษาป่า นม.1 (ปากช่อง) กรมป่าไม้ได้มีการตรวจสอบพบว่า รีสอร์ทดังกล่าวมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในเนื้อที่กว่า 105 ไร่ และการประเมินค่าความเสียหายจะต้องส่งให้ส่วนกลางเป็นผู้ประเมิน เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการทางคดี โดยคาดว่าค่าเสียหายประมาณ 7 ล้านบาท (ที่มา : นสพ.บ้านเมือง วันที่ 22 เม.ย. 2558)
สำหรับหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือ "ค่าเสียหายทำให้โลกร้อน" ที่ทางกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติฯนำมาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนในปัจจุบัน เป็นการนำกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณต้นทุนมูลค่าของพื้นที่ป่าก่อนที่จะถูกบุกรุก และคิดคำนวณค่าใช้จ่ายต้นทุนในการทดแทน (Replacement Cost) นั่นคือหากหน่วยงานรัฐต้องฟื้นฟูและเยียวยาสภาพป่าเหล่านั้นให้กลับมามีสภาพเดิมจะคิดเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าไหร่ในพื้นที่ต่อหนึ่งไร่ โดยประเมินจาก 1.การสูญเสียธาตุอาหารในดิน 2.การดูดซับน้ำฝน 3.การแผดเผาหรือระเหยของน้ำ 4.การสูญเสียดิน 5.อุณหภูมิสูงขึ้น 6.ปริมาณฝนตกน้อยลง และ 7.ชนิดของป่า (ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง)
ปัจจุบันการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า เช่น ป่าเต็งรัง ป่าสงวนเสื่อมโทรม จะมีค่าเสียหายเฉลี่ยประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่ค่าเสียหายในเขตป่าอนุรักษ์ และป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า จะมีค่าเสียหายเฉลี่ยประมาณ 100,000-150,000 บาทต่อไร่
ข้อมูลจากงานศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ปี 2557 พบว่า ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ได้นำแบบจำลอง"ค่าเสียหายทำให้โลกร้อน" หรือในชื่อเต็มว่า การคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ มาคำนวณเอาผิดกับชาวบ้านและนายทุนประมาณ 3,500 คดี แบ่งเป็น กรมอุทยานฯ 2,000 คดี กรมป่าไม้ 1,500 คดี รวมค่าเสียหายจากคดีที่มีฟ้องร้องและมีการจัดเก็บข้อมูล 666 คดี เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 549,422,243 บาท หรือเฉลี่ยคดีละ 824,958.32 บาท และจากการศึกษาสถิติคดีที่ถูกศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว จำนวน 289 คดี พบว่าร้อยละ 98.6 ของผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่มีที่ดินตั้งแต่น้อยกว่า 1 ไร่ ถึง 50 ไร่ มีเพียงร้อยละ 1.4 ของผู้ถูกดำเนินคดีเท่านั้นที่เป็นนายทุนรายใหญ่ มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ ถึง 354 ไร่
จะเห็นได้ว่าการใช้มาตรการพิเศษเพื่อทวงคืนผืนป่าของภาครัฐครั้งนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่นายทุนและผู้บุกรุกที่ดินของรัฐรายใหญ่อย่างเอาจริงเอาจังและไม่เลือกปฏิบัติ ล้วนเต็มไปด้วยกระแสคำชื่นชมจากหลายฝ่าย เพราะที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่งมักจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเลือกปฏิบัติ ซึ่งจากงานศึกษาเรื่องคดีโลกร้อนข้างต้นเป็นตัวชี้วัดให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและฟ้องร้องค่าเสียหายทำให้โลกร้อนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ทำมาหากินและดำรงชีวิตในพื้นที่ทำกินเดิมที่ถูกประกาศเป็นเขตป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่สามารถต่อสู้คดี ทำให้มีการสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว และแนวโน้มการใช้ดุลพินิจของศาลส่วนใหญ่จะพิพากษาให้จำเลยหรือเกษตรกรรายย่อยชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน
ภายใต้กระแสการปฏิรูปและการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เห็นว่าภายใต้หมวดการหนุนสังคมที่เป็นธรรม ข้อ 6 การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง มีการหยิบยกประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา และภายใต้เรื่องนี้จะมีการปรับปรุงการคำนวณต้นทุนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม หรือ "ค่าเสียหายทำให้โลกร้อน"
ทั้งนี้วิธีการประเมินต้นทุนความความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ยังมีข้อถกเถียงในวงวิชาการเรื่องความถูกต้องเหมาะสมในการนำมาใช้ ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการมีกฎหมายและเครื่องมือในการดำเนินการคิดค่าเสียหายกับผู้ก่อความเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของสาธารณะ ตามหลักการ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" (Polluter Pays Principle) อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางส่วนยังมีข้อท้วงติงถึงความถูกต้องและมาตรฐานทางวิชาการ ความเหมาะสมในการนำแบบจำลองไปใช้กับประชาชนเพียงบางกลุ่ม ผลกระทบต่อวิถีชุมชนท้องถิ่นและสิทธิชุมชนในการใช้ทรัพยากร และได้มีการเรียกร้องให้มีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดให้มีการการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่เหนือไปกว่าการแก้ปัญหาการคำนวณต้นทุนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม หรือ "การคิดค่าเสียหายทำให้โลกร้อน" ไม่ใช่เรื่องการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้จะไม่สำเร็จได้หากไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานเรื่อง ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในสังคมไทย รวมถึงการสร้างกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.