พูดกันมาหลายรอบ มีการนำเสนอข้อเสนอกันมาหลายต่อหลายครั้งครับ สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาชาวนา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอยู่เสมอ และแม้หลายรัฐบาลที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะสรรหาช่องทางในการอุดช่องโหว่เรื่องนี้ แต่เท่าที่สังเกตก็คือ ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้นครับ อีกทั้งมาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะที่ผ่านมา หากพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการตัดปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนครับ
นโยบายสนับสนุนชาวนาที่ผมได้กล่าวมา เห็นได้ชัดๆเลยก็คือ โครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือโครงการประกันราคาข้าวยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ทั้งสองนโยบายถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับชาวนาครับ เพราะช่วงที่มีโครงการสนับสนุนเป็นช่วงที่ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ แต่ก็เป็นนโยบายที่บิดเบือนกับโลกความเป็นจริงของตลาดข้าว พูดกันตรงๆ ก็คือ "ราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ในช่วงที่มีโครงการประกันราคา หรือโครงการรับจำนำนั้นสูงกว่าราคาข้าวที่เป็นจริงในท้องตลาด" ครับ
ข้อดีก็คือ ชาวนาได้ขายข้าวในราคาที่สูง ได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำกลับบ้านไปครับ แต่ข้อเสียก็คือ รัฐบาลต้องควักกระเป๋าด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสนองนโยบายที่ไม่มีความยั่งยืนแต่อย่างใด และข้อเสียกว่าก็คือ รัฐบาลไม่สามารถทำให้มีนโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทุกปี และผลที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีนโยบายเหล่านี้จากรัฐบาลก็คือ ชาวนาต้องกลับไปสู่โลกของความเป็นจริง คือต้องขายข้าวในราคาท้องตลาดทั่วไป หรือพูดให้ชัดขึ้นก็คือ ในช่วงที่มีโครงการสนับสนุน ชาวนาขายข้าวได้ในราคาประมาณ 13,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ ณ ปัจจุบัน ไม่มีโครงการหรือมาตรการใดๆ สนับสนุน ชาวนาจะได้รับเงินจากการขายข้าวตามราคาท้องตลาดทั่วไป คือประมาณ 7,000-8,000 บาทต่อตัน เท่านั้น แล้วราคานี้จะทำให้ชาวนาอยู่รอดได้อย่างไรครับ ในเมื่อต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทย ยังสูงลิบลิ่ว โดยเฉพาะต้นทุนของปุ๋ยเคมี
ผมเอาประเด็นนี้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวนากลุ่ม "วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ทุ่งทองยั่งยืน" ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวนาที่ผลิตข้าวในระบบอินทรีย์ แปรรูปและบรรจุหีบห่อส่งขายตรงถึงมือผู้บริโภคเอง ทำให้ผมเห็นอีกช่องทางออกสำหรับชาวนาที่รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนครับ นั่นคือ "การสนับสนุนให้ชาวนาผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ใช้เอง" เพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตสูง
ชาวนาวกลุ่มทุ่งทองได้เปรียบเทียบต้นทุนค่าปุ๋ย 3 ประเภท ให้ผมฟัง คือ 1.ปุ๋ยเคมี 2. ปุ๋ยอินทรีย์แบบที่ซื้อจากพ่อค้า และ 3.ปุ๋ยอินทรีย์แบบที่ชาวนาผลิตเอง โดยเปรียบเทียบต้นทุนของปุ๋ยทั้ง 3 ชนิดนี้เมื่อต้องใส่ในนาข้าว 1 ไร่เท่ากัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วทำให้เห็นว่า หากชาวนาทำนาในระบบนาเคมี จะใช้ปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ (50 กิโลกรัม) ราคากระสอบละ 680 บาท และปุ๋ยยูเรีย 10 กิโลกรัม ราคา 148 บาท ต้นทุนรวมของปุ๋ย จะอยู่ที่ 828 บาทต่อไร่
แต่หากทำนาในระบบนาอินทรีย์ และต้องซื้อปุ๋ยอินทรีย์จากพ่อค้า ข้าว 1 ไร่ จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 1 กระสอบ ราคากระสอบละ 350 บาท และหากทำนาในระบบนาอินทรีย์อีกทั้งผลิตปุ๋ยอินทรีย์เอง จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 1 กระสอบเช่นกัน แต่ราคาจะตกอยู่ที่กระสอบละ 230 บาท หากเปรียบเทียบกันทั้งสามแบบแล้วจะเห็นว่า ต้นทุนค่าปุ๋ยต่อไร่จะลดลงตามลำดับครับ คือ 828 บาท 350 บาท และ 230 บาท
ยังมีประเด็นแถมท้ายจากชาวนากลุ่มนี้ว่า ความต่างระหว่างปุ๋ยอินทรีย์ที่ซื้อจากพ่อค้ากับปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองคือ ปุ๋ยที่ซื้อจากพ่อค้า เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นส่วนผสมระหว่างปุ๋ยอินทรีย์และดินในสัดส่วนประมาณ 20 ต่อ 80 ในขณะที่หากเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเอง จะมีส่วนผสมระหว่างปุ๋ยอินทรีย์และดินในสัดส่วนประมาณ 95 ต่อ 5 หมายถึงมีสัดส่วนปุ๋ยอินทรีย์มากกว่าดินจำนวนมากครับ
มาถึงตรงนี้ ประการแรก คงต้องย้อนคำถามไปที่ตัวชาวนาเองครับ ว่าอยากสร้างทางเลือกให้กับตัวเองไหม และหากจะเลือก จะเลือกแบบไหนในสามแบบที่ผมกล่าวมา ประการที่สอง คงต้องย้อนกลับไปถามรัฐบาลว่า จะมีมาตรการสนับสนุนอย่างไร ที่ทำให้ชาวนาเลือกช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับชาวนาเอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในสภาวะที่รัฐบาลขอร้องให้พ่อค้าลดราคาปุ๋ยเคมีเพื่อให้ชาวนาซื้อปุ๋ยในราคาถูก และพ่อค้าก็ยังเงียบอยู่แบบนี้
ผมว่าแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลยครับ นอกจาก "ทุนของความเอาจริงเอาจังเสียที" เพื่อที่จะได้เห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างหน่อยครับ นอกเหนือจากการลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาชาวนารายวัน แล้วก็ไม่เกิดผลในเชิงรูปธรรมแต่อย่างใด
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 24 เมษายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.