สิ่งที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ การที่ต้องรับหนังสือข้อเสนอของประชาชนในประเทศ และประเภทกลุ่มข้อเสนอที่แทบทุกสมัยรัฐบาลต้องได้รับก็คือ ข้อเสนอที่มาจากเครือข่ายเกษตรกรเครือข่ายต่างๆ จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเช่นกันครับ
คิดคล้ายๆ ผมไหมครับว่า การยื่นข้อเสนอของประชาชนหรือเครือข่ายเกษตรกรต่อรัฐบาลไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุ แต่ทุกข้อเสนอล้วนแต่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากปัญหาการประกอบอาชีพทั้งนั้นเมื่อพยายามดิ้นรนหาทางออก แต่แล้วก็หาทางออกไม่ได้ ทั้งปัญหาเก่าสะสม ปัญหาสืบเนื่อง รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ จนท้ายที่สุดต้องออกมาเรียกร้องหรือยื่นข้อเสนอให้รัฐช่วยหาทางออกหรือหามาตรการทางนโยบายในการสนับสนุน/แก้ไขปัญหานั้นๆ เพื่อให้ปัญหาที่มีอยู่ได้คลี่คลายลง
ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอ่านเอกสารข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก(ประเทศไทย) เรื่องการขอให้รัฐ(กระทรวงพาณิชย์)หามาตรการในสนับสนุนเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางด้านการผลิตและการกระจายผลผลิต9 พื้นที่นำร่องใน 9 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครปฐม นครสวรรค์ เชียงใหม่ สงขลา พัทลุง ยโสธร และสุรินทร์
ข้อเสนอต่อรัฐในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรโดยสรุปมี 3 ประเด็นคือ ประเด็นแรกเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีรายละเอียดในการผลิตค่อนข้างมากจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ดังนั้นประเด็นแรกที่เครือข่ายฯ เสนอให้รัฐหามาตรการสนับสนุนก็คือ"มาตรการด้านการขนส่งสินค้า" จากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคประเด็นที่สองเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกกลุ่มก่อนส่งถึงผู้บริโภค เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งต้องมีการรวบรวมผลผลิตต่างๆ ก่อนจัดส่งให้กับผู้บริโภค จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนหนึ่งสำหรับจัดซื้อผลผลิตจากสมาชิกกลุ่มก่อนการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ กลุ่มไม่มีเงินทุนสำรองอย่างเพียงพอสำหรับรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก ซึ่งปัญหานี้ได้เกิดขึ้นกับเกษตรกรหลายกลุ่ม และบางกลุ่มต้องใช้วิธีการขอกู้เงินจากสถาบันเงินกู้แหล่งต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูง แต่จำเป็นต้องกู้เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น ในส่วนนี้จึงต้องเสนอให้รัฐหามาตรการในการแก้ไขปัญหา คือ "การสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรับซื้อผลผลิตของสมาชิกให้กับกลุ่มเกษตรกร" ประเด็นที่สามเป็นประเด็นปัญหาเดิม คือ ปัญหาด้านนโยบายที่รัฐไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนด้านเกษตรกรรมยั่งยืนดังนั้น เครือข่ายฯ จึงเสนอให้รัฐมีมาตรการในระดับนโยบาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
ในความเห็นผม ข้อเสนอทั้ง 3 ประเด็นข้างตันนั้นถือเป็นข้อเสนอดีมากครับ เพียงแต่ว่า จากประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการทำข้อเสนอระดับนโยบายสู่รัฐเพื่อให้รัฐมีมาตรการเพื่อสนับสนุนเกษตรกรหลายครั้งที่ผ่านมาทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า แม้ข้อเสนอจะดีมากขนาดไหนก็ตาม หากรัฐไม่เอาจริงเอาจังไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอดังกล่าวแล้ว การผลักดันให้ข้อเสนอต่างๆ ไปสู่ขั้นของการปฏิบัตินั้นล้วนเป็นไปได้ยากครับ ตัวหนังสือที่เสนอไปเป็นอย่างไร ในท้ายที่สุดก็จะยังคงความเป็นตัวหนังสืออยู่แบบนั้นไม่ได้พูดเพื่อให้เสียความคาดหวังไปนะครับสำหรับข้อเสนอทั้ง3 ประเด็นของเครือข่ายเกษตรฯนั้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐในยุคนี้กับรัฐในยุคก่อนจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในทางปฏิบัติแล้วรัฐปัจจุบันจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง
มากกว่าไปกว่านั้นก็คือว่า หากรัฐมีศักยภาพมากพอสมกับราคาคุยที่เรามักจะได้ยินได้ฟังกันเกือบทุกอาทิตย์ว่ารัฐได้มีแนวทางหรือมาตรการทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้างแล้วรัฐจะนำสิ่งที่เป็นแค่เพียงถ้อยแถลงนี้ไปสู่ขั้นของการปฏิบัติได้จริงอย่างไร และที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือว่า รัฐจะทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ประเด็นนี้ขยายให้ครอบคลุมไปยังเกษตรกรทั้งประเทศได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเก็บไปพินิจพิจารณาและมีปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมเร่งด่วนครับ
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์วันที่ 3 เมษายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.